xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม‘รัสเซีย’ไม่ได้ตกใจอะไรนักหนากับคำขู่ของ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ที่ให้ยุติสงครามยูเครนภายใน 50 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แพทริก อี เชีย


โดนัลด์ ทรัมป์ กับ วลาดิมีร์ ปูติน ก่อนหน้าสงครามยูเครน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ https://asiatimes.com/2025/07/why-russia-isnt-taking-trumps-threats-seriously/)

Why Russia isn’t taking Trump’s threats seriously
by Patrick E Shea
17/07/2025

ทั้งมอสโกและตลาดการเงิน ต่างไม่ค่อยให้ราคากับคำข่มขู่ของทรัมป์ที่ว่าหากแดนหมีขาวไม่หาทางยุติสงครามยูเครนภายใน 50 วัน ก็จะใช้มาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรซึ่งเล่นงานลามไปถึงพวกชาติที่รับซื้อน้ำมันราคาถูกของรัสเซีย โดยที่เวลานี้มีความรับรู้ความเข้าใจกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า ประมุขทำเนียบขาวผู้นี้ถนัดโอ่อวดปากกล้า ทว่า“ใจไม่ถึง”ในการทำให้เป็นไปตามคำพูดตัวเอง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศ [1] เมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัสเซียมีเวลา 50 วันสำหรับการยุติสงครามในยูเครน มิฉะนั้นแล้ว แดนหมีขาวก็จะต้องเผชิญกับการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรทุติยภูมิอย่างครอบคลุมรอบด้าน (comprehensive secondary sanctions) ซึ่งพุ่งเป้าหมายมุ่งเล่นงานพวกประเทศที่ยังคงทำมาค้าขายกับมอสโก

ในวันที่ 15 กรกฎาคม ตอนที่บรรยายรายละเอียดของมาตรการใหม่ๆ ซึ่งจะบังคับใช้ภาษีศุลกากรอัตรา 100% เอากับประเทศใดๆ ที่ซื้อสินค้าส่งออกรัสเซีย ทรัมป์ได้กล่าวเตือน [2] เอาไว้ดังนี้: “ พวกมัน (มาตรการแซงก์ชั่นเหล่านี้) เจ็บแสบมาก พวกมันมีความสำคัญมากๆ และพวกมันจะกลายเป็นเรื่องเลวร้ายมากๆ สำหรับประเทศทั้งหลายที่มาเกี่ยวข้องพัวพันด้วย”

การแซงก์ชั่นคว่ำบาตรทุติยภูมิ หมายความว่ามันไม่ได้แค่พุ่งเป้าหมายเล่นงานรัสเซียโดยตรงเท่านั้น หากยังคุกคามประเทศใดๆ ก็ตามที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับมอสโกเอาไว้ ว่าจะถูกตัดขาดไม่ให้สามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐฯอีกด้วย ผลพวงต่อเนื่องทางเศรษฐกิจสำหรับกรณีนี้ก็คือ มันจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังเป็นการเล็งเป้าหมายมุ่งเล่นงานพวกประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจนาดใหญ่ๆ อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นเส้นชีวิตทางการพาณิชย์ของรัสเซียไปแล้ว

แต่ถึงแม้มีการข่มขู่ที่ดูเลวร้ายมากๆ เอาไว้ขนาดนี้ ปรากฏว่า ตลาดหลักทรัพย์มอสโกกลับทะยานสูงขึ้น 2.7% [3] ในทันทีภายหลังการประกาศของทรัมป์ ค่าเงินรูเบิลรัสเซียก็แข็งแกร่งขึ้นเช่นเดียวกัน มองกันในระดับทั่วโลก ตลาดน้ำมันทั้งหลายก็ดูอยู่ในอาการผ่อนคลาย [4] บ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเทรดเดอร์ไม่มีมองว่ากำลังจะเกิดความเสี่ยงขึ้นมารอมร่อแล้วแต่อย่างใด

ปฏิกิริยาของตลาดเช่นนี้ สอดคล้องกับอาการไม่แตกตื่นตกใจอะไรของมอสโก ขณะที่พวกคำแถลงอย่างเป็นทางการ มีการระบุ [5]ว่า รัสเซียจำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งสำหรับ “วิเคราะห์สิ่งที่ถูกพูดออกมาในวอชิงตัน” ทว่าการแถลงอื่นๆ กลับบ่งชี้ว่าพวกเขารู้สึกกันว่าการข่มขู่คุกคามเช่นนี้จะไม่มีผลจริงจังอะไรขึ้นมาหรอก

ตัวอย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิตริ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ประกาศบนโซเชียลมีเดีย [6] ว่า “รัสเซียไม่ได้สนใจใยดีอะไร” กับการข่มขู่ของทรัมป์หรอก ปฏิกิริยาของตลาดที่ออกมาในทางบวก และการที่พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียก็ไม่ได้แตกตื่นตกใจเช่นนี้ บอกอะไรแก่เรามากมายยิ่งเสียงกว่าเพียงแค่ความสงสัยข้องใจที่ว่าทรัมป์มีความมุ่งมั่นตั้งใจมากน้อยแค่ไหนที่จะติดตามผลักดันเพื่อให้บังเกิดผลดังที่เขาประกาศเอาไว้

ถ้าหากพวกนักลงทุนมีความสงสัยไม่แน่ใจเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของทรัมป์เป็นสำคัญ เราก็ควรต้องคาดหมายว่าตลาดจะแสดงความไม่แยแสใยดี ไม่ใช่แสดงความกระตือรือร้นใดๆ ทั้งนั้น ดังนั้น ปฏิกิริยาที่ออกมาจึงเป็นการบ่งชี้ด้วยว่า ตลาดการเงินนั้นคาดหมายว่าสหรัฐฯจะแสดงการตอบโต้อย่างแข็งแกร่งยิ่งกว่าที่ออกมาในคราวนี้

เป็นอย่างที่ อาร์ตีออม นิโคลาเยฟ (Artyom Nikolayev) นักวิเคราะห์จาก อินเวสต์ เอรา (Invest Era) พูดปล่อยมุก [7] เอาไว้นั่นแหละ “ทรัมป์ทำผลงานได้ต่ำกว่าความคาดหมายของตลาด”

ความรู้สึกโล่งใจ ไม่ใช่รู้สึกถูกคุกคาม

การข่มขู่ของทรัมป์ ไม่ใช่เพียงแค่ไร้ความน่าเชื่อถือเท่านั้น –ปฏิกิริยาในทางบวกของตลาดในรัสเซียยังบ่งบอกว่ามันคือการมอบของขวัญของรางวัลให้แก่มอสโกเสียด้วยซ้ำ การยื่นคำขาดระยะเวลา 50 วันครั้งนี้ถูกมองว่ามันไม่ใช่เป็นการขีดเส้นตายอะไรเลย ตรงกันข้ามมันกลับเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกโล่งใจ เนื่องจากมันหมายความถึงช่วงระยะเวลาเกือบๆ 2 เดือนที่รับประกันได้ว่าสหรัฐฯจะไม่มีการลงมือกระทำการใดๆ

นี่จะเปิดทางให้รัสเซียมีเวลามากขึ้นในการใช้ความได้เปรียบทางทหารของตนเดินหน้ากดดันในยูเครนโดยไม่ต้องเผชิญกับแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจใหม่ๆใดๆ ระยะเวลา 50 วันยังต้องถือเป็นช่วงยาวทีเดียวในการเมืองอเมริกัน ซึ่งแทบแน่ใจได้ทีเดียวว่าจะต้องเกิดมีวิกฤตอย่างอื่นๆ ขึ้นมาที่จะหันเหความสนใจออกไปจากสงครามในยูเครน

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ การข่มขู่ของทรัมป์คราวนี้ แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นการบ่อนทำลายอย่างเต็มๆ ใส่ความพยายามในรัฐสภาสหรัฐฯที่กำลังจะออกกฎหมายแซงก์ชั่นคว่ำบาตรรัสเซียฉบับหนึ่ง [8] ด้วยดีกรีความเอาจริงเอาจังยิ่งกว่า แถมยังกำลังได้รับโมเมนตัมอันคึกคักเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับที่ว่านี้ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสองพรรคใหญ่ บรรจุแพกเกจการแซงก์ชั่นอย่างรุนแรงสาหัสยิ่งกว่าคำขู่ครั้งนี้ของทรัมป์นักหนา นั่นคือเสนอให้เก็บภาษีศุลกากรทุติยภูมิในอัตราสูงถึง 500% ทีเดียว นอกจากนั้นจุดที่สำคัญยิ่งยวดยังอยู่ที่ว่า มันมีเนื้อหาจำกัดลดทอนความสามารถของประธานาธิบดีในการยกเลิกการแซงก์ชั่นเหล่านี้อีกด้วย

ด้วยการเปิดตัวข้อเสนอริเริ่มของตัวเขาเองออกมา ทรัมป์ก็สามารถฉวยจังหวะเข้าควบคุมวาระนโยบายในเรื่องนี้เอาไว้ในมือตนเอง ทันทีที่ประกาศ “คำขาด” ออกมา ส.ว.จอห์น ธูน (John Thune) ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ ก็ประกาศ [9]ว่า การโหวตลงคะแนนใดๆ ในร่างกฎหมายแซงก์ชั่นรัสเซียฉบับที่โหดยิ่งกว่าดังกล่าว จะถูกพักเอาไว้ชั่วคราวจนกระทั่งภายหลังระยะเวลา 50 วันผ่านพ้นไปแล้ว ภัยคุกคามที่น่าหวั่นหวาดยิ่งกว่าที่ทำเนียบเครมลินเผชิญอยู่ จึงมีอันสะดุดถูกหยุดพักเอาไว้ก่อนด้วยประการฉะนี้

ละครตอนนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาประการหนึ่งสำหรับความพยายามทั้งหลายของสหรัฐฯที่จะใช้การทูตทางเศรษฐกิจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

มีปัจจัย 3 ประการที่ผสมผสานคลุกเคล้ากัน ซึ่งคอยบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือในการข่มขู่ของทรัมป์

ประการแรกทีเดียว ได้แก่ ประวัติผลงานที่ผ่านมาของตัวทรัมป์เอง ตลาดการเงินนั้นกำลังมีความคุ้นเคยเหลือเกินกับการที่คณะบริหารชุดนี้ประกาศการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างหนักหน่วง เพียงเพื่อที่อีกไม่นานต่อมาจะประกาศชะลอ, ลดระดับ, หรือกระทั่งโยนทิ้งไปเลย จนกระทั่งทำให้คำพูดเสียดสีเย้ยหยันว่า “Taco” (ทาโค) ซึ่งย่อมาจจากวลี “Trump always chickens out” [10] (ทรัมป์ปอดแหกเสมอมา) กลายเป็นถ้อยคำที่มีน้ำหนักในแวดวงทางการเงินไปเสียแล้ว

ชื่อเสียงเกียรติคุณของการล้มเหลวไม่ยึดมั่นกระทำตามสิ่งที่ข่มขู่เอาไว้เช่นนี้ หมายความว่าทั้งพวกปรปักษ์และทางตลาดการเงิน ต่างเรียนรู้กันแล้วที่จะต้องตีราคาทรัมป์เอาไว้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะถอยหลังกลับ

ประการที่สอง ความน่าเชื่อถือของคณะบริหารทรัมป์ยังอ่อนแอลงด้วย สืบเนื่องจากการไม่ต้องถูกไล่เรียงเอาผิดจากการเมืองภายในประเทศ (lack of domestic political accountability) ผลงานวิจัย [11] ว่าด้วยความน่าเชื่อถือของระบอบประชาธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตอกย้ำให้เห็นว่า ความจำกัดบีบคั้นภายในประเทศ –หรือสิ่งที่พวกนักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการมีพวกที่มาคอยเฝ้าชม” (audience costs) [12] — สามารถส่งผลด้านกลับกลายเป็นการทำให้ความมุ่งมั่นผูกพันระหว่างประเทศ (international commitments) ของชาติหนึ่งๆ มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้เมื่อพวกผู้นำทราบว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับการถูกลงโทษทางการเมืองจากผู้ออกเสียงหรือจากรัฐสภา ถ้าหากพวกเขาถอยหลังไม่กระทำตามที่ได้พูดข่มขู่คุกคามเอาไว้ สถานการณ์เช่นนี้ก็จะทำให้การข่มขู่คุกคามของพวกเขามีน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ทว่าสำหรับการเมืองสหรัฐฯเวลานี้ การที่รัฐสภาอเมริกันโดยทั่วไปแล้วมีความลังเลใจที่จะจำกัดดึงรั้งทรัมป์เอาไว้ จึงกลับกลายเป็นการบ่อนทำลายหลักเหตุผลข้อนี้ไป มันจึงกลายเป็นการส่งสัญญาณให้พวกปรปักษ์มองเห็นว่าทรัมป์สามารถที่จะข่มขู่คุกคามอะไรไปเรื่อยเปื่อย โดยที่หากเขาไม่กระทำตามนั้นก็ไม่ได้มีผลต่อเนื่องในทางเสียหายติดตามมา ดังนั้นจึงกลายเป็นการกัดกร่อนลดทอนน้ำหนักของการข่มขู่คุกคามเหล่านี้ไปเลย

ประการที่สาม การใช้อำนาจบังคับในทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีกลไกเครื่องมือทางการทูตและทางระบบราชการที่แข็งแรงจริงจัง เพื่อปฏิบัติและบังคับให้เกิดผลขึ้นมา แต่การที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะถูกผ่าตัดถูกควักไส้ควักพุงออกมาอย่างเป็นระบบ [13] และพวกโครงการของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development หรือ USAID) ก็ถูกแช่แข็งเอาไว้ จึงเท่ากับเป็นการกำจัดลบล้างโครงสร้างพื้นฐานทางการทูตซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องยืนยาว

การแซงก์ชั่นคว่ำบาตรที่จะได้ผลนั้น ยังจำเป็นต้องมีการร่วมมือประสานงานอย่างรอบคอบระมัดระวังกับพวกพันธมิตร ซึ่งคณะบริหารทรัมป์ได้บ่อนทำลาย [14] จนเสียหายหนักไปแล้ว นอกจากนั้น การใช้อำนาจบังคับทางเศรษฐกิจอย่างได้ผลยังจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนและความมุ่งมั่นผูกพันที่จะบังคับใช้อย่างชนิดน่าเชื่อถือ ทั้งหมดเหล่านี้ต่างเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อปราศจากคณะนักการทูตมืออาชีพ

พวกนักลงทุนและพวกรัฐบาลต่างประเทศเวลานี้ดูเหมือนกำลังพนันวางเดิมพันกันว่า สภาพที่ไม่มีความแน่นอนสม่ำเสมอของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี, การขาดการไล่เรียงเอาผิดจากการเมืองภายในประเทศ, และกลไกเครื่องมือทางการทูตที่อ่อนแอลงเสียแล้ว เหล่านี้เมื่อผสมผสานกันก็ทำให้การข่มขู่คุกคามใดๆ กลายเป็นการแสดงละครทางการเมืองมากกว่าที่จะเป็นการใช้อำนาจบังคับทางเศรษฐกิจอันหนักแน่นจริงจัง

การขยับสูงขึ้นของตลาดหลักทรัพย์รัสเซียคือสัญญาณอันชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า การข่มขู่คุกคามทางเศรษฐกิจของอเมริกันกำลังกลายเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ เกรงกลัวกันน้อยลงเสียแล้ว

แพทริค อี เชีย เป็นอาจารย์ผู้บรรยายอาวุโสในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและธรรมาภิบาลระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ , สกอตแลนด์, สหราชอาณาจักร

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/why-russia-is-not-taking-trumps-threats-seriously-261296

เชิงอรรถ
[1] https://theconversation.com/what-trumps-decision-to-send-more-weapons-to-ukraine-will-mean-for-the-war-261192
[2] https://www.politico.com/news/2025/07/15/trump-threatens-russia-sanctions-bashes-putin-00455596
[3] https://www.reuters.com/business/finance/russian-rouble-stock-market-gain-after-trumps-statement-russia-2025-07-14/
[4] https://www.reuters.com/business/energy/oil-edges-down-market-contemplates-potential-sanctions-tariffs-2025-07-15/
[5] https://www.reuters.com/world/europe/russia-does-not-care-about-trumps-theatrical-ultimatum-senior-official-says-2025-07-15/
[6] https://www.yahoo.com/news/russian-officials-mock-trumps-ukraine-114127862.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAANA8jOFjfc-LAHVhmcYWFOeNqfa6ExsgfbIWDRppDBOdqQb5mZ52DdOZI94OX2iwuHVtdPIhLBlDS6RhgrTyDPMlsMaWUwcz7j_rtKAqN0BsScPate-kSr2zS0JzS219GQd2RM_WcLw-Gng1hgS3YL0nBNu8f688Rp31FOAIqTXT
[7]https://www.reuters.com/business/finance/russian-rouble-stock-market-gain-after-trumps-statement-russia-2025-07-14/
[8]https://edition.cnn.com/2025/07/09/politics/russia-sanctions-bill-senate-trump
[9]https://www.politico.com/news/2025/07/14/trump-threatens-tariffs-on-russias-trading-partners-to-pressure-putin-00452131
[10] https://theconversation.com/investors-are-calling-trump-a-chicken-heres-why-that-matters-257926
[11]https://www.cambridge.org/core/journals/american-political-science-review/article/abs/domestic-political-audiences-and-the-escalation-of-international-disputes/D22E7DE87C4CFBC436AAB3CFE7505962
[12]https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/ajps.12201?casa_token=Ezbsn4y39g4AAAAA%3ARSYyRYn5Cq7HLgkQZ9Uw6QvIwr5zbhPLSl6jpiaj2TsMIA5phANkE7KydzBGNjRgwoTJEsi0493rSw
[13]https://www.bbc.co.uk/news/articles/cy5w7z57rr7o
[14] https://theconversation.com/us-backs-natos-latest-pledge-of-support-for-ukraine-but-in-reality-seems-to-have-abandoned-its-european-partners-260334
กำลังโหลดความคิดเห็น