ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์เดินทางถึงสหรัฐฯ และเตรียมเข้าพบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความคาดหมายว่ามะนิลาซึ่งเป็นชาติพันธมิตรเบอร์ใหญ่ของสหรัฐฯ ในอาเซียนอาจจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าด้วยเงื่อนไขที่ดีขึ้นก่อนถึงกำเนิดเส้นตาย 1 ส.ค.
มาร์กอส ถือเป็นผู้นำจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาติแรกที่มีโอกาสได้พบกับ ทรัมป์ หลังจากที่เจ้าตัวเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เทอมสอง
ก่อนหน้านี้ รัฐบาล ทรัมป์ ได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับเพื่อนบ้านของฟิลิปปินส์ไปแล้ว 2 ประเทศ ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้การเจรจาต่อรองขอลดภาษียิ่งยากและมีเดิมพันสูงขึ้นไปอีก แม้ว่าฟิลิปปินส์จะเป็นพันธมิตรที่สหรัฐฯ ต้องการรักษาไว้เพื่อคานอำนาจทางยุทธศาสตร์กับจีนก็ตามที
“ผมคาดว่าการเจรจาจะเน้นไปที่เรื่องของความมั่นคงและการป้องกันประเทศ แต่แน่นอนก็ต้องมีเรื่องการค้าด้วย” มาร์กอส ระบุในถ้อยแถลงก่อนออกเดินทางไปสหรัฐฯ
“มารอดูกันว่า การเจรจากับสหรัฐฯ จะสามารถให้ผลคืบหน้าได้แค่ไหนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ กำหนดต่อฟิลิปปินส์”
สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าฟิลิปปินส์เกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วจากมูลค่าการค้าทั้งหมด 23,500 ล้านดอลลาร์ และในเดือนนี้ ทรัมป์ ก็ได้ขู่ว่าจะปรับอัตราภาษีตอบโต้ฟิลิปปินส์จาก 17% ที่ประกาศเมื่อเดือน เม.ย. เป็น 20%
แม้ชาติพันธมิตรหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะยังเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จเช่นกัน แต่ เกรกอรี โพลิง (Gregory Poling) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มองว่า มาร์กอส มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการเจรจากับสหรัฐฯ มากกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งโดนภาษีจากสหรัฐฯ ไป 20% และ 19% ตามลำดับ
“ผมจะไม่แปลกใจ หากมีการประกาศข้อตกลงที่ฟิลิปปินส์ถูกเก็บภาษีต่ำกว่าประเทศทั้งสอง” โพลิง ระบุ
มาร์กอส เดินทางไปถึงวอชิงตันตั้งแต่เมื่อวานนี้ (20) และมีกำหนดหารือกับ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และ พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในวันนี้ (21) ก่อนที่จะพบกับ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวในวันอังคาร (22)
มาร์กอส ยังมีกำหนดพบปะกับบรรดาผู้นำภาคธุรกิจสหรัฐฯ ที่เข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์ด้วย
เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ระบุว่า เป้าหมายหลักของ มาร์กอส ในการไปเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ก็เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและหาทางขอลดภาษีตอบโต้ เขายังเตรียมจะเน้นย้ำกับผู้นำสหรัฐฯ ว่า มะนิลาจำเป็นต้องเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะสามารถเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งของอเมริกาในอินโด-แปซิฟิกได้
ราเควล โซลาโน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ “สองฝ่ายยอมรับได้และเป็นประโยชน์ร่วมกัน”
ด้วยแรงกดดันจากจีนที่สยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้ มาร์กอส เลือกที่จะดำเนินนโยบายเอียงข้างสหรัฐฯ และยอมเปิดให้อเมริกาเข้าไปใช้ฐานทัพต่างๆ ของฟิลิปปินส์ได้อย่างกว้างขวางกว่าเดิมในห้วงเวลาที่จีนก็เริ่มแสดงท่าทีข่มขู่ไต้หวันมากขึ้น
สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์มีข้อตกลงป้องกันร่วมที่ทำมานานถึง 7 ทศวรรษ และยังเปิดการซ้อมรบร่วมประจำปีมาแล้วหลายสิบครั้ง ซึ่งรวมถึงการนำระบบขีปนาวุธ Typhon และขีปนาวุธต่อต้านเรือ NMESIS เข้ามาร่วมฝึกซ้อมจนสร้างความไม่พอใจต่อจีน
โพลิง ระบุว่า มะนิลาและวอชิงตันมีมุมมองต่อจีนที่สอดคล้องใกล้เคียงกันมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง รูบิโอ และ เฮกเซธ ต่างเลือกที่จะพบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในอาเซียน
ในส่วนของ ทรัมป์ เองก็ดูเหมือนว่าจะมีสายสัมพันธ์ค่อนข้างดีกับมาร์กอส เมื่อดูจากบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทั้งคู่หลังจากที่ ทรัมป์ ชนะศึกเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว
ที่มา: รอยเตอร์