บันทึกการสนทนาระหว่างสองนักบินแอร์อินเดีย (Air India) ที่ประสบอุบัติเหตุตกเมื่อเดือนที่แล้วสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า กัปตันเป็นผู้ตัดสวิตช์เชื้อเพลิงที่ไปเลี้ยงเครื่องยนต์ทั้ง 2 ฝั่ง ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เข้าถึงผลการประเมินของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ
แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า นักบินผู้ช่วย (first officer) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเครื่องบินโบอิ้ง 787 ในขณะนั้นได้หันไปถามกัปตันว่าสับสวิตช์เชื้อเพลิงไปที่ตำแหน่ง cutoff ทำไม และขอให้กัปตันรีบฟื้นการจ่ายเชื้อเพลิงทันที
แหล่งข่าวคนนี้ระบุว่า ผลการประเมินของสหรัฐฯ ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในรายงานฉบับทางการ ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าสาเหตุการตกของเที่ยวบิน 171 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งคร่าชีวิตคนบนเครื่องไป 260 คน “ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน”
แม้จะไม่มีกล้องวิดีโอที่บันทึกภาพว่ากัปตันเป็นผู้สับสวิตช์เชื้อเพลิง แต่บทสนทนาระหว่างนักบินทั้งสองให้น้ำหนักชี้ไปทางที่ว่า กัปตันเป็นผู้กระทำการดังกล่าว
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) ได้รายงานข้อมูลเดียวกันนี้เมื่อวันพุธ (16 ก.ค.)
สำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางการบินของอินเดีย (AAIB) ซึ่งเป็นผู้นำในการสอบสวนได้ออกคำแถลงวานนี้ (17) ว่า “สื่อต่างประเทศบางสำนักมีความพยายามซ้ำๆ ที่จะด่วนสรุปสาเหตุ โดยอ้างรายงานบางส่วนที่ยังไม่ผ่านการยืนยัน” พร้อมย้ำว่าขณะนี้การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ และเร็วเกินไปที่จะสรุปต้นตอของโศกนาฏกรรมครั้งนี้
ทั้งนี้ อุบัติเหตุเครื่องบินตกส่วนใหญ่มักจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน และกฎหมายระหว่างประเทศระบุให้มีการเผยแพร่ผลการสอบสวนฉบับสมบูรณ์ภายในระยะ 1 ปีหลังเกิดเหตุ
รายงานเบื้องต้นที่ AAIB ออกเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (12) ระบุว่า กล่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน (cockpit voice recorder) สามารถบันทึกเสียงของนักบินคนหนึ่งถามอีกคนว่า “ทำไมถึงตัดสวิตช์เชื้อเพลิง” และคนที่ถูกถามก็ตอบกลับมาว่า “ไม่ได้ทำ”
อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนอินเดียไม่ได้ระบุชี้ชัดว่า คำพูดประโยคใดเป็นของกัปตัน สุมิต ซาบาร์วาล และ ไคลฟ์ คุนเดอร์ นักบินผู้ช่วย ซึ่งทั้งสองนั้นมีประสบการณ์ทำการบินมามากถึง 15,638 ชั่วโมง และ 3,403 ชั่วโมง ตามลำดับ
ผลการสอบสวนของ AAIB ยังบอกแค่ว่า สวิตช์เชื้อเพลิงทั้ง 2 ตัวถูกปรับจากตำแหน่ง run มาอยู่ที่ cutoff ในเวลาห่างกันราว 1 วินาที และเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่เครื่องทะยานขึ้นฟ้า แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามันถูกปรับได้อย่างไร
กล้องวงจรปิดบริเวณสนามบินสามารถจับภาพที่เครื่องบินมีการเปิดใช้อุปกรณ์จ่ายพลังงานฉุกเฉินที่เรียกว่า ram air turbine ทันทีหลังจากเทคออฟ ซึ่งบ่งชี้ว่าเครื่องยนต์ทั้ง 2 ข้างไม่ทำงาน
โบอิ้ง 787 ลำนี้สูญเสียแรงขับ และร่วงลงสู่พื้นดินหลังจากที่ไต่ระดับขึ้นไปถึงความสูงเพียง 650 เมตร
รายงานระบุว่า สวิตช์เชื้อเพลิงถูกปรับคืนไปที่ตำแหน่ง run อีกครั้ง ซึ่งทำให้เครื่องยนต์ทั้ง 2 ฝั่งถูกรีสตาร์ทโดยอัตโนมัติ ทว่าขณะนั้นเครื่องได้ลดระดับลงต่ำมากเกินกว่าที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้แล้ว
ที่มา: รอยเตอร์