xs
xsm
sm
md
lg

รวยเละ!ขายเศษอุกกาบาตดาวอังคารใหญ่สุดที่พบบนโลก ในราคา172ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เศษอุกกาบาตจากดาวอังคาร ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่ทราบ ถูกขายไปในราคา 5.3 ล้านดอลลาร์(ราว 172 ล้านบาท) รวมภาษีและค่าธรรมเนียม แก่ผู้ประมูลรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ณ ห้างประมูลซัทเทบีส์ ในนิวยอร์ก เมื่อวันอังคาร(15ก.ค.) ท่ามกลางประเด็นถกเถียงถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับการเปิดประมูลขายแก่เอกชน

ทั้งนี้เศษอุกกาบาตจากดาวอังคารที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบบนโลก ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "NWA 16788" มีน้ำหนัก 24.5 กิโลกรัม มันถือว่ามีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับเศษอุกกาบาตดาวอังคารทั้งหมด ที่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นเศษเล็กเศษน้อย อ้างอิงข้อมูลจากถ้อยแถลงของห้างประมูลซัทเทบีส์ เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม

อุกกาบาตคือชิ้นส่วนของวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ ที่ยังคงอยู่รอดหลังจากพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

NWA 16788 ถูกพบในภูมิภาคอากาเดซ ที่อยู่ห่างไกลในประเทศไนเจอร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 มันมีขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่าเศษอุกกาบาตจากดาวอังคารที่มีขนาดรองลงไป เท่าที่เคยพบบนโลก ถึงกว่า 70% อ้างอิงข้อมูลจากห้างประมูลซัทเทบีส์

จนถึงตอนนี้มีเศษอุกกาบาตดาวอังคารเพียงแค่ 400 ชิ้น ที่ถูกพบบนโลกใบนี้

"การค้นพบ NWA 16788 มีความสำคัญเป็นพิเศษ มันถือเป็นเศษอุกกาบาตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบบนโลก และมันได้รับข้อเสนอราคามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ณ การประมูล" คาสซานดรา ฮัตตัน รองประธานด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติของห้างประมูลซัทเทบีส์ระบุ

จากการวิเคราะห์องค์ประกอบภายในของเศษอุกกาบาตชิ้นนี้ เผยให้เห็นว่าบางทีมันอาจหลุดออกมาจากพื้นผิวดาวอังคาร และกระเด็นเข้าสู่อวกาศจากแรงกระแทกของดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง ที่รุนแรงมากเสียจนทำให้บางส่วนของอุกกาบาตแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

สำหรับบางคนแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าเศษอุกกาบาตถูกนำมาประมูลขายแทนที่จะนำไปบริจาคเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่น่าเป็นกังวล "มันน่าหดหู่หากว่ามันหายไปอยู่ในตู้นิรภัยของคนร่ำรวยผู้มีอำนาจ มันควรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ สถานที่ที่จะศึกษามันได้ สถานที่ที่เด็กๆ ครอบครัวและประชาชนทั่วไป ที่จะได้ชมมัน" สตีฟ บรูแซตต์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระในสกอตแลนด์กล่าวกับซีเอ็นเอ็น

อย่างไรก็ตามทาง จูเลีย คาร์ทไรท์ นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์ แห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ในอังกฤษ มองว่าเรื่องนี้ก่อประโยชน์ร่วมกันกับทั้ง 2 ฝ่าย "ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีตลาดสำหรับการค้นหา สะสมและขายอุกกาบาต เราก็จะไม่มีอุกกาบาตให้การสะสมของเรามากมายเช่นนี้ สิ่งนี้เป็นตัวขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์" เธอบอกกับซีเอ็นเอ็น พร้อมให้คำจำกัดความ "ความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกัน" ระหว่างพวกนักวิจัยและนักสะสม
(ที่มา:ซีเอ็นเอ็น)


กำลังโหลดความคิดเห็น