xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มกระทบแล้ว!สื่อเผยกัมพูชาเจอวิกฤตขาดแคลนนม หลังระงับนำเข้าสินค้าจากไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การปิดชายแดน อันมีต้นตอจากความขัดแย้งด้านเขตแดนระหว่างกัมพูชาและไทย ได้นำมาสู่การระงับค้าขายสินค้าจำนวนมากระหว่าง 2 ชาติ และล่าสุดสำนักข่าวคิริโพสต์ สื่อมวลชนเขมรภาคภาษาอังกฤษ รายงานว่าร้านอาหาร ร้านกาแฟและธุรกิจอื่นๆในกัมพูชา กำลังเผชิญกับวิกฤตอุปทานนม หลังจากสินค้าเริ่มขาดตลาด

สำนักข่าวคิริโพสต์รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2025 นายฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ได้เรียกร้องให้แบนนำเข้าสินค้าบางอย่างจากไทย ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ประเทศ แถลงแผนบรรลุเป้าหมายการค้า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 4.9 แสนล้านบาท) ในปี 2025 ผ่านความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

อ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรก ประเทศแห่งนี้นำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์(ราว 45,300 ล้านบาท) ในขณะที่ส่งออกไปยังไทยเพียง 395 ล้านดอลลาร์(ราว 12,800 ล้านบาท)

คิริโพสต์ระบุว่าในขณะที่การปิดชายแดนส่งผลกระทบกับพ่อค้าแม่ค้าและภาคธุรกิจในทั้ง 2 ประเทศ ล่าสุดอุปทานนมในกัมพูชาได้รับผลกระทบในระดับที่น่าเป็นกังวล โดยที่พวกเจ้าของร้านกาแฟ ร้านอาหารและคนอื่นๆ ส่งเสียงแสดงความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ

นมเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับเจ้าของร้านกาแฟอย่าง Sen Phearoom ที่เปิดร้าน Coffee Blue Cup ในกรุงพนมเปญ มาได้ราวๆ 6 ปีเศษ เขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนนมมารองรับพวกลูกค้า "ทุกวันนี้ ผมหันมาใช้อุปทานนมท้องถิ่น บางวันมันก็พอ แต่บางวันมันก็ขาดแคลน" เขาบอกกับคิริโพสต์

Phearoom เปิดเผยว่าปกติแล้วเขาใช้นมที่นำเข้าจากไทย ที่ได้ตามมาตรฐานญี่ปุ่น แต่เมื่อเทียบกับนมผลิตในท้องถิ่นแล้ว มันมีรสชาติต่างออกไปเล็กน้อย

โดยเฉพาะแล้ว แต่ละวัน Phearoom จะใช้นมสดระหว่าง 10 ถึง 12 ลิตร อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ความตึงเครียดระหว่างกัมพูชากับไทยโหมกระพือขึ้น เขาควานหานมได้เพียงแค่ 2 ลิตรจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างร้านต่างๆในแต่ละแห่ง ดังนั้นเขาจึงร้องขอให้ลูกค้าเลือกระหว่างแบบไม่ใส่นม หรือลองดื่มอย่างอื่นแทน อย่างเช่น อเมริกาโน ซึ่งปกติแล้วไม่ใส่นม

สำนักข่าวคิริโพสต์อ้างอิงข้อมูลจาก Kirisu Farm ฟาร์มนมสดใหญ่ที่สุดของกัมพูชา พบว่ากัมพูชานำเข้านมสดนมพาสเจอร์ไรส์ มูลค่าราวๆ 42.6 ล้านดอลลาร์(ราว 1,380 ล้านบาท) ในนั้นนำเข้าจากไทย 32.5 ล้านดอลลาร์(ราว 1,053 ล้านบาท) เทียบเท่ากับ 76.29% ของนมนำเข้าทั้งหมด

เพื่อฝ่าฟันประเด็นนี้ Phearoom เรียกร้องพวกผู้ผลิตนมภายในประเทศยกระกับห่วงโซ่การผลิต จัดหาอุปทานแก่ประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงผลิตภัณฑ์ต่างชาติ ซึ่งก่อความสูญเสียด้านรายได้ภายในประเทศ

Chy Sila ผู้ร่วมก่อตั้ง Kirisu Farm ให้สัมภาษณ์กับคิริโพสต์ว่า เมื่อเร็วๆนี้ชาวกัมพูชาหันมาใช้นมที่ผลิตเองภายในประเทศ อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่าฟาร์มของเขาเพิ่งเปิดปฏิบัติการได้เพียง 4 ถึง 5 ปี จึงยังไม่มีศักยภาพการผลิตตามความต้องการในระดับ 10,000 ลิตร

เขาบอกต่อว่าทางบริษัทมีแผนนำวัวนมเข้ามาในประเทศเพิ่มเติม เพื่อยกระดับกำลังผลิตนมของกัมพูชา "มีสิ่งต่างๆมากมายต้องทำในการขยายห่วงโซ่การผลิต คุณต้องมีวัวมากพอในการผลิต คุณต้องมีโรงงานแปรรูปนม(จากน้ำนมดิบเป็นนมสด)" Sila กล่าว พร้อมยอมรับว่าปัจจุบันนมที่ผลิตเองภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนแค่ 20% ของการบริโภคโดยรวม

ทั้งนี้ Sila อ้างว่าอุปสงค์นมท้องถิ่นในปัจจุบันนั้นเติบโตขึ้นอย่างมาก พวกเจ้าของร้านกาแฟทั้งเล็กและใหญ่กำลังหันมาใช้นมท้องถิ่น แต่มันเหนือกว่าอุปทานที่มีอยู่

Sila เผยด้วยว่านับตั้งแต่การปิดชายแดน การนำเข้านมจากเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น และเน้นว่ามีบทเรียนต้องเรียนรู้จากสถานการณ์นี้ "มันเป็นสัญญาณในแง่บวกเช่นกันใพลเมืองของเราตระหนักว่าเราไม่อาจพึ่งพิงผลิตภัณฑ์นำเข้า และจำเป็นต้องขยายห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ เพื่อความยั่งยืนและโปร่งใส"

อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่า ครั้งที่ชายแดนกลับมาเปิดอีกครั้ง พวกผุ้บริโภคจะย้อนกลับไปหาสินค้านำเข้าจากไทยหรือไม่ "เราไม่อาจกล่าวโทษผู้บริโภค ถ้าพวกเขาหันกลับไปใช้สินค้านำเข้า เพราะว่าเราไม่สามารถป้อนอุปทานให้พวกเขาได้เพียงพอตามที่พวกเขาต้องการ"

(ที่มา:คิริโพสต์)


กำลังโหลดความคิดเห็น