สถานทูตจีนประจำกรุงนิวเดลีแถลงวานนี้ (13 ก.ค.) ว่า แผนการสืบทอดตำแหน่งทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบต ถือเป็นเสี้ยนหนามที่บั่นทอนความสัมพันธ์จีน-อินเดีย ในความเคลื่อนไหวซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียจะเดินทางไปเยือนจีนครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุปะทะที่ชายแดนพิพาทบริเวณเทือกเขาหิมาลัยเมื่อปี 2020
ในช่วงก่อนพิธีเฉลิมฉลองวันเกิดครบ 90 ปีในเดือนนี้ซึ่งมีรัฐมนตรีอาวุโสของอินเดียเข้าร่วมด้วย ทะไลลามะได้สร้างความโมโหต่อปักกิ่งอีกครั้งด้วยการประกาศว่า รัฐบาลจีนไม่มีสิทธิชี้นิ้วบงการเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งทะไลลามะคนต่อไป
ชาวทิเบตเชื่อกันว่า พระสงฆ์ระดับอาวุโสที่สิ้นชีพไปแล้วสามารถกลับชาติมาเกิดใหม่ได้ ขณะที่จีนย้ำเสมอว่า การแต่งตั้งผู้นำจิตวิญญาณของทิเบตจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลปักกิ่งด้วย
ทะไลลามะทรงหลบหนีออกจากทิเบตเข้าไปยังอินเดียเมื่อปี 1959 หลังความพยายามลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนล้มเหลว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชื่อว่า การที่พระองค์ประทับอยู่ในอินเดียถือเป็นหมากตัวสำคัญที่นิวเดลีจะใช้ต่อรองกับปักกิ่งได้
อินเดียมีชาวพุทธทิเบตอาศัยอยู่หลายหมื่นคน ซึ่งต่างก็มีเสรีภาพในการศึกษาและประกอบอาชีพ และคนอินเดียส่วนใหญ่ก็ยังให้ความเคารพต่อองค์ทะไลลามะด้วย
หยู จิง โฆษกหญิงของสถานทูตจีนประจำกรุงนิวเดลี ได้โพสต์ X ระบุว่า คนในแวดวงวิชาการและยุทธศาสตร์บางกลุ่มของอินเดียได้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิดของทะไลลามะ
เธอไม่ได่เอ่ยชื่อใครอย่างเฉพาะเจาะจง ทว่าในช่วงไม่กี่วันมานี้ก็มีนักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของอินเดียบางคนและรัฐมนตรีคนหนึ่งที่แสดงท่าทีหนุนพระดำรัสของทะไลลามะในเรื่องการเฟ้นหาผู้สืบทอด
"ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกิจการต่างประเทศ พวกเขาควรที่จะทราบดีว่าประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซีจ้าง (Xizang) นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน" หยู กล่าว โดยใช้คำเรียกดินแดนทิเบตในภาษาจีน
"การกลับชาติมาเกิดและการสืบทอดตำแหน่งทะไลลามะเป็นกิจการภายในของจีนโดยแท้"
"ประเด็นซีจ้างถือเป็นเสี้ยนหนามที่บั่นทอนความสัมพันธ์จีน-อินเดีย และได้กลายเป็นภาระสำหรับฝ่ายอินเดียด้วย การนำเรื่องซีจ้างมาใช้เป็นไพ่ต่อรองจึงจะกลายเป็นการลั่นกระสุนใส่เท้าตัวเองอย่างแน่นอน"
คิเรน ริจีจู รัฐมนตรีฝ่ายรัฐสภาและกิจการชนกลุ่มน้อยของอินเดีย ซึ่งได้นั่งเคียงข้างทะไลลามะในพิธีเฉลิมฉลองอายุครบ 90 ปีของพระองค์ที่เมืองธรรมศาลาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวว่าในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง ตนเชื่อว่าการกลับชาติมาเกิดของทะไลลามะมีเพียงองค์ทะไลลามะเอง และองค์กรของพระองค์เท่านั้นที่จะตัดสินได้
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอินเดียแถลงเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ว่า นิวเดลีไม่ขอเลือกข้าง และไม่ขอแสดงจุดยืนใดๆ เกี่ยวกับความเชื่อหรือแนวปฏิบัติของศาสนาต่างๆ
เอส. ชัยศังกระ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย จะเข้าร่วมใการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation) ที่นครเทียนจินในวันที่ 15 ก.ค. โดยจะมีการหารือทวิภาคีนอกรอบกับฝ่ายจีนด้วย
การไปจีนของ ชัยศังกระ ครั้งนี้จะถือเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดระหว่างจีนและอินเดีย นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามลงจากเหตุปะทะที่พื้นที่พิพาทชายแดนเมื่อปี 2020 ที่ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตไป 20 นาย ส่วนจีนก็สูญเสียทหารไป 2 นาย
ที่มา: รอยเตอร์