xs
xsm
sm
md
lg

‘นาโต้’ทำทุกอย่างเพื่อประจบเอาใจ‘ทรัมป์’ และหลบเลี่ยงไม่แตะปัญหาระดับเป็นตายของตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สำนักข่าวรอยเตอร์


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในอาการพูดจาอย่างเพลิดเพลิน เลขาธิการองค์การนาโต้ มาร์ก รึตเตอ รับฟังอย่างสำรวมตั้งใจ ในตอนเริ่มต้นการประชุมซัมมิตองค์การนาโต้ ที่กรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา
ANALYSIS-NATO's Trump flattery buys time but dodges tough questions
By Andrew Gray, Sabine Siebold, Lili Bayer and Anthony Deutsch, REUTERS
26/06/2025

การกล่าวยกย่องสรรเสริญอย่างฟุ่มเฟือยไม่มีสะดุด, การพึ่งพาเกียรติยศบารมีสูงศักดิ์ของพระมหากษัตริย์, และการก็อปปี้คำขวัญคำโปรดของตัวทรัมป์เอง – องค์การนาโต้ใช้ทุกสิ่งทุกอย่างชนิดไม่มีการกั๊กเลยจริงๆ เพื่อคอยทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ รู้สึกแฮปปี้ และดึงรั้งประคับประคองกลุ่มพันธมิตรนี้ให้ยังรวมกันอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งการประชุมซัมมิตในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ปรากฏว่าการดำเนินแผนการนี้ สามารถทำได้สำเร็จตามความประสงค์ ถึงแม้สัมฤทธิผลไม่ใช่น้อยๆ ทีเดียวมาจากการหลีกเลี่ยงไม่แตะต้องพวกหัวข้อโหดๆ ที่ทรงความสำคัญระดับเป็นตายสำหรับนาโต้ อย่างเช่น สงครามในยูเครน, ยุทธศาสตร์รับมือรัสเซีย, การที่กองทหารสหรัฐฯในยุโรปน่าที่จะลดขนาดลงมา กระนั้นก็ตามที ไม่ช้าก็เร็ว นาโต้ก็จะต้องรับมือกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้อยู่ดี

เป็นอย่างที่ มาร์ก รึตเตอร์ เลขาธิการองค์การนาโต้ได้วางแผนการเอาไว้ ผลลัพธ์ข้อสำคัญที่สุดของการประชุมซัมมิตครั้งนี้ คือการที่พวกชาติพันธมิตรให้คำมั่นสัญญาที่จะตอบสนองเรียกร้องของ ทรัมป์ ในเรื่องการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมให้ขึ้นไปสู่ระดับ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของแต่ละชาติ (ซึ่งถือเป็นการขยับขึ้นไปมากทีเดียวจากเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ในปัจจุบันที่อยู่ที่ 2% ของจีดีพี) และการที่สหรัฐฯหวนกลับมายืนยันพันธกรณีที่มีต่อข้อตกลงป้องกันร่วมกันของนาโต้อีกครั้งหนึ่ง

นี่ต้องถือเป็นสภาพที่ห่างไกลสุดกู่จากช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เมื่อสายสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติก (นั่นคือระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป) อยู่ในอาการตึงเครียดมาก จนกระทั่ง ฟรีดริช เมร์ซ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีแล้ว แสดงความสงสัยข้องใจอย่างเปิดเผยภายหลังเขาชนะการเลือกตั้งว่า นาโต้ยังจะดำรงคงอยู่ในรูปแบบปัจจุบันหรือไม่เมื่อถึงเวลามีการประชุมซัมมิตที่กรุงเฮก

ไม่มีอะไรลึกลับเลยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของนาโต้ในการดึงรั้ง ทรัมป์ ให้ยังคงอยู่ในเรือลำเดียวกันไปก่อน รึตเตอปล่อยคำชเลียร์ทะลักทลายเข้าไปในข้อความที่ส่งถึง ทรัมป์ ซึ่งท่านประธานาธิบดีสหรัฐฯก็เอามารายงานต่อกับสาธารณชนขณะที่เขาบินมายังกรุงเฮก

“ท่านจะได้บรรลุบางสิ่งบางประการซึ่ง ไ ม่ มี ประธานาธิบดีอเมริกันคนไหนในรอบหลายทศวรรษมานี้สามารถกระทำได้สำเร็จ” อดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ผู้นี้กล่าวเช่นนี้ในข้อความส่งผ่านสื่อสังคมของเขา โดยที่ในถ้อยคำของเขาบางคำมีการใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ (แคปิตอล เลตเตอร์ ในภาษาอังกฤษ อย่างที่ ทรัมป์ ชอบทำมากๆ สำหรับในคำแปลเป็นภาษาไทย ผู้แปลขอใช้วิธีเน้นตัวหนา)

“ยุโรปกำลังจะจ่ายค่าตอบแทนให้ด้วยวิธีที่ ใ ห ญ่ โ ต อย่างที่พวกเขาควรกระทำ และมันก็จะเป็นชัยชนะของคุณ”

ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตนิดเดียว ในสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่สนิทรู้ใจทรัมป์ขนาดไหน รึตเตอมีปฏิกิริยาต่อการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้แสดงความคิดเห็นดุด่าใส่อิหร่านและอิสราเอล ด้วยการเรียกทรัมป์อย่างสนิมปากว่า “แดดดี้” โดยกล่าวว่า “แดดดี้บางครั้งก็ต้องใช้คำแรงๆ อย่างนี้แหละ”

พวกสมาชิกนาโต้แทบทั้งหมดต่างมองรัสเซียในฐานะที่เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นอีกภายหลังการรุกรานยูเครนในปี 2022 แล้ว และต่างทราบดีว่าพวกเขาจะต้องต่อสู้ดิ้นรนอยางเลวร้ายในการป้องกันตัวเองจากการโจมตีถ้าหากปราศจากพันธมิตรลูกพี่ใหญ่ที่เป็นอภิมหาอำนาจครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากของพวกเขา

ภายหลังจากซัมมิต ทรัมป์ซึ่งที่ผ่านมาใช้ถ้อยคำภาษากระด้างแข็งกร้าวในเวลาพูดถึงนาโต้ ก็กลับเปลี่ยนเป็นอะไรที่แตกต่างออกไปมาก

“ผมจากที่นี่ไปโดยขอพูดว่าผู้คนเหล่านี้มีความรักในประเทศชาติของพวกเขาจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องตบตา และเราก็มาอยู่ที่นี่เพื่อช่วยเหลือพวกเขา ปกป้องพวกเขา” เขาบอกกับพวกผู้สื่อข่าว

ทรัมป์มีเพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์ สเปน ที่ไม่ยอมลงนามรับรองเรื่องเป้าหมายใหม่ในการใช้จ่ายงบประมาณกลาโหม และกล่าวว่าสเปนจะต้องจ่ายเงินด้วยวิธีการอีกวิธีหนึ่ง –นั่นคือจากความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ

ถึงแม้คาดหมายกันโดยทั่วไปว่า พวกชาติยุโรปจำนวนมากจะต้องพบว่าเป็นเรื่องฝืดฝืนมากในทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายใหม่นี้ ทว่าประเด็นนี้ก็ถูกปล่อยทิ้งไปก่อนแล้วค่อยหาทางออกกันอย่างจริงจังทีหลัง

ปฏิบัติการรุกคืบด้วยเสน่ห์

ส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการรุกคืบหว่านโปรยมนตร์เสน่ห์ให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ใหลหลงของฝ่ายยุโรปในระหว่างการประชุมซัมมิตนาโต้ที่กรุงเฮกก็คือ ทรัมป์ได้รับพระบรมราชานุญาตอันหาได้ยากยิ่ง ในการพักค้างแรมที่พระราชวังหลวงวิจิตรเลิศหรูของพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ในวันก่อนหน้าการประชุมซัมมิต

พระเจ้ากรุงเนเธอร์แลนด์ยังทรงพระราชเลี้ยงพระกายาหารมื้อใหญ่ระดับ 3 คอร์สให้แก่บรรดาผู้นำ ซึ่งปรุงโดยเชฟ 20 ท่านและนำออกมาเสิร์ฟโดยมหาดเล็ก 18 คนในท้องพระโรง “ออเรนจ์ ฮอลล์ (Orange Hall) ที่ประดับตกแต่งในสไตล์ศิลปะบาโรคยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 ภายในพระราชวังหลวง เฮาส์ เตน บอช (Huis ten Bosch palace)

ในตอนเริ่มต้นของการประชุมซัมมิต พวกผู้นำนาโต้คนอื่นๆ พากันเรียงแถวออกมากล่าวยกย่องสรรเสริญทรัมป์ ประธานาธิบดี กิตานัส เนาเซดา ของลิทัวเนีย ถึงขั้นเสนอแนะให้กลุ่มพันธมิตรนาโต้ใช้คำขวัญ “ทำให้นาโต้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” อันเป็นการลอกเลียนคำขวัญประจำตัว “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ของทรัมป์อย่างโต้งๆ ไม่ต้องมัวกระมิดกระเมี้ยนกันทีเดียว

รึตเตอ คอยทำหน้าที่ให้ประชุมซัมมิตครั้งนี้สั้นกระชับและธรรมดาๆ เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดสำหรับที่จะเกิดเรื่องซึ่งทำให้ทรัมป์ขุ่นเคืองไม่พอใจ

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ต้องยินยอมแค่ได้รับจัดที่นั่งในงานเลี้ยงดินเนอร์ก่อนการประชุมซัมมิต แทนที่จะได้อยู่ในงานเลี้ยงหลัก ถึงแม้เขายังได้ประชุมหารือเป็นการต่างหากออกไปกับทรัมป์ภายหลังซัมมิตก็ตามที

แถลงการณ์สุดท้ายของซัมมิตครั้งนี้ ปรากฏว่ามีความยาวเพียงแค่ 5 ย่อหน้าเท่านั้น –เปรียบเทียบกับที่มี 38 ย่อหน้าในแถลงการณ์ของที่ประชุมผู้นำเมื่อปีที่แล้วซึ่งจัดขึ้นในกรุงวอชิงตัน

มิหนำซ้ำมันยังไม่ได้เรียกการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนว่าเป็น สงคราม หรือ การรุกราน รวมทั้งไม่มีการกล่าวซ้ำหรือกล่าวย้ำยืนยันคำมั่นสัญญาก่อนหน้านี้ที่ว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า ยูเครนจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรนี้

ด้วยการเน้นหนักอยู่ที่เรื่องยืนยันถึงพันธกรณีของนาโต้อีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนคำสัญญาใหม่ในเรื่องเพิ่มงบใช้จ่ายด้านกลาโหม แถลงการณ์ซัมมิตกรุงเฮกคราวนี้ก็ปกปิดไม่ให้เห็นถึงความแตกต่างกันอย่างใหญ่โตระหว่างวอชิงตันกับพวกชาติพันธมิตรยุโรปจำนวนมากในเรื่องรัสเซียและยูเครน

ทั้งนี้ถึงแม้ทางฝั่งยุโรปจำนวนมากจะรู้สึกไม่สบายใจ แต่ทรัมก็ก็กำลังแสดงจุดยืนที่รอมชอมมากยิ่งขึ้นกับมอสโก รวมทั้งยังให้ความสนับสนุนน้อยลงแก่เคียฟเมื่อเปรียบเทียบกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อน ในเวลาเดียวกับที่เขาหาหนทางให้สงครามคราวนี้ยุติลง

ขณะที่การหลบเลี่ยงด้วยชั้นเชิงการทูตเช่นนี้ อาจจะยังช่วยยึดโยงให้นาโต้ยังคงอยู่ด้วยกันได้ในเวลานี้ มันก็จะยังเป็นเรื่องลำบากอยู่ดีสำหรับกลุ่มพันธมิตรนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสทธิภาพ ถ้าหากมีความแตกต่างระยะยาวอันใหญ่โตระหว่างสหรัฐฯกับยุโรปในคำถามทรงความสำคัญระดับรากฐานอย่างเรื่องวิธีการในการรับมือกับรัสเซีย

“การประชุมซัมมิตคราวนี้ ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วเพิกเฉยละเลยสงครามที่ยังคงปะทุดุเดือดอยู่ในยูเครน สมควรที่จะทำให้พวกเราทั้งหมดรู้สึกวิตกกังวล” เป็นความเห็นของ จูเลียนน์ สมิธ (Julianne Smith) ผู้เคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำนาโต้ในสมัยคณะบริหารไบเดน

ทางด้าน ปีเตอร์ บาตอร์ (Peter Bator) อดีตเอกอัครราชทูตประจำนาโต้ของสโลวะเกีย ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า “เราเพิ่งพลาดโอกาสที่จะส่งข้อความเชิงยุทธศาสตร์ไปถึงผู้ปกครองในวังเครมลิน และนี่ก็จะทำให้เราต้องจ่ายในรูปของความมั่นคงปลอดภัยของเรา”

พวกเจ้าหน้าที่นาโต้เวลานี้กำลังเฝ้าจับตาดูว่า ความกระตือรือร้นที่เพิ่งปรากฏขึ้นมาใหม่ๆ ซึ่งให้แก่กลุ่มพันธมิตรนี้ของทรัมป์ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการที่คณะบริหารของเขากำลังทบทวนท่าทางทางทหาร (military posture) ของสหรัฐฯอยู่อย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่ เนื่องจากเวลานี้ยุโรปยังต้องพึ่งพาอาศัยกองทหารสหรัฐฯอย่างมากมายสำหรับความมั่นคงของพวกเขา

พวกผู้นำยุโรปบอกว่า พวกเขามีความมุ่งมั่นผูกพันกับเรื่องการเข้าแบกรับความรับผิดชอบนี้ให้มากขึ้น แต่พวกเขาก็มีความวิตกกังวลโดยต้องการให้มีหลักประกันว่าการเปลี่ยนผ่านใดๆ ก็ตามจะดำเนินไปในหนทางที่เป็นระเบียบและค่อยเป็นค่อยไป

“คุณสามารถรู้สึกถึงความวิตกกังวลนี้ได้ เมื่อคุณกำลังพูดกับพวกเจ้าหน้าที่ยุโรประดับอาวุโสเกี่ยวกับเรื่องนี้” เป็นคำกล่าวของ โออานา ลุนเกสคู (Oana Lungescu) นักวิจัยพิศิษฐ์ (distinguished fellow) ณ สถาบันคลังสมอง RUSI ในกรุงลอนดอน และอดีตโฆษกของนาโต้

“ส่วนใหญ่แล้วคาดหมายกันว่าเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) กำลังจะเริ่มต้นถอนทหารและสมรรถนะบางส่วนออกไป แต่ไม่มีใครทราบหรอกว่าจำนวนเท่าใด และเร็วช้าแค่ไหน”
กำลังโหลดความคิดเห็น