องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จำเป็นจะต้องจัดหาขีปนาวุธพิสัยไกลเพิ่มเติมเพื่อป้องปรามรัสเซียไม่ให้กล้าโจมตียุโรป และคาดว่าหลังจากนี้มอสโกจะเพิ่มกำลังผลิตอาวุธพิสัยไกลมากขึ้นอีก ตามข้อมูลจากนายพลสหรัฐฯ
การที่รัสเซียนำขีปนาวุธพิสัยไกลมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสงครามยูเครนทำให้เจ้าหน้าที่ตะวันตกเชื่อว่า ระบบอาวุธประเภทนี้จำเป็นสำหรับการโจมตีศูนย์บัญชาการ ศูนย์กลางการขนส่ง และเครื่องยิงขีปนาวุธที่อยู่ไกลจากเส้นแนวรบออกไปมากๆ
“กองทัพรัสเซียเวลานี้มีขนาดใหญ่โตกว่าเมื่อตอนที่พวกเขาเริ่มเปิดศึกรุกรานยูเครน” พล.ต.จอห์น ราฟเฟอร์ตี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ที่ฐานทัพสหรัฐฯ ในเมือง Wiesbaden ของเยอรมนี
“และเราทราบกันดีว่า รัสเซียพร้อมจะลงทุนต่อเนื่องเพื่อผลิตจรวดและขีปนาวุธพิสัยไกลและระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ซับซ้อน ดังนั้นศักยภาพของกลุ่มพันธมิตรที่เพิ่มขึ้นจึงมีความสำคัญมากจริงๆ”
สงครามที่ยูเครนชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ยุโรปยังจำเป็นต้องพึ่งพาขีปนาวุธพิสัยไกลจากสหรัฐฯ อย่างมาก ในขณะที่เคียฟก็ต้องปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น
ราฟเฟอร์ตี เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการปืนใหญ่ที่ 56 ของกองทัพสหรัฐฯ ที่เมือง Mainz-Kastel ซึ่งจะถูกใช้เป็นสถานที่ประจำการขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ บนแผ่นดินยุโรปชั่วคราวตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป
ในการประชุมร่วมกับ พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (14) คาดว่า บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนี จะขอความชัดเจนจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการประจำการขีปนาวุธดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างเบอร์ลินกับวอชิงตันตั้งแต่สมัยของอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน
ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะนำไปสู่การประจำการขีปนาวุธโทมาฮอว์กที่มีพิสัยทำการ 1,800 กิโลเมตร และระบบอาวุธความเร็วเหนือเสียง Dark Eagle ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และมีพิสัยทำการราว 3,000 กิโลเมตร
รัสเซียวิจารณ์แผนการส่งขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ เข้าเยอรมนีว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของมอสโกอย่างร้ายแรง และยังปฏิเสธข้อกังวลของนาโตที่ว่ารัสเซียอาจจะโจมตีรัฐสมาชิก ขณะเดียวกันก็อ้างถึงการขยายตัวของนาโตว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้รัสเซียจำเป็นต้องรุกรานยูเครนในปี 2022
ที่มา: รอยเตอร์