ผลการสอบสวนเบื้องต้นกรณีเครื่องบินแอร์อินเดีย (Air India) ตกที่เมืองอาห์เมดาบัดเมื่อเดือนที่แล้วสะท้อนภาพความสับสนที่เกิดขึ้นภายในห้องนักบิน โดยพบว่าสวิตช์ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงถูกสับไปที่ตำแหน่ง cutoff เกือบจะพร้อมกัน ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับทั้ง 2 ข้าง ก่อนที่เครื่องบินจะร่วงลงกระแทกพื้นและทำให้ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือรวม 260 คนเสียชีวิต
โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ลำนี้กำลังทะยานขึ้นฟ้าเพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงลอนดอนของอังกฤษ ก่อนจะสูญเสียแรงขับและลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ตามรายงานเบื้องต้นที่ทีมสอบสวนอุบัติเหตุของอินเดียเผยแพร่วันนี้ (12 ก.ค.)
รายงานจากสำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางการบินของอินเดีย (AAIB) เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของสวิตช์ตัดเชื้อเพลิงที่ว่านี้ ขณะเดียวกันก็บ่งบอกว่า ทั้งโบอิ้งและผู้ผลิตเครื่องยนต์ GE น่าจะไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
เหตุเครื่องบินตกครั้งนี้ยังกลายเป็นความท้าทายสำหรับกลุ่มบริษัท Tata Group ที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นในสายการบินแอร์อินเดียและปฏิรูปฝูงบินใหม่ หลังจากที่เทคโอเวอร์สายการบินนี้มาจากรัฐบาลในปี 2022
กล้อง CCTV สามารถจับภาพได้ว่า แหล่งจ่ายพลังงานฉุกเฉินที่เรียกว่า ram air turbine ถูกเปิดใช้งานเกือบจะทันทีที่เครื่องบินทะยานขึ้นจากรันเวย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเครื่องยนต์สูญเสียพลังงานหมดทั้งสองข้าง
ในช่วงวินาทีท้ายๆ ก่อนที่เครื่องจะตกกระแทกพื้น กล่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน (cockpit voice recorder) สามารถบันทึกเสียงที่นักบินคนหนึ่งถามอีกคนว่า “ทำไมถึงตัดเชื้อเพลิง” ซึ่งนักบินอีกคนก็ตอบว่าเขา “ไม่ได้ทำ”
รายงานไม่ได้ระบุว่า คำพูดใดเป็นของกัปตันและนักบินผู้ช่วย (first officer) และไม่ได้บอกว่านักบินคนใดเป็นผู้ส่งสัญญาณ ‘Mayday, Mayday, Mayday’ ก่อนที่เครื่องบินจะพบจุดจบ
กัปตัน สุมิต ซาบาร์วาล (Sumeet Sabharwal) วัย 56 ปี ซึ่งเป็นนักบินที่หนึ่งของเที่ยวบินนี้มีชั่วโมงบินสูงถึง 15,638 ชั่วโมง และ ยังเป็นครูฝึกสอนการบินของแอร์อินเดียด้วย ขณะที่นักบินผู้ช่วยคือ ไคลฟ์ คุนเดอร์ (Clive Kunder) วัย 32 ปี ซึ่งก็มีชั่วโมงบินมากถึง 3,403 ชั่วโมง
สวิตช์ตัดเชื้อเพลิงถูกปรับจากโหมด ‘run’ ไปสู่ ‘cutoff’ เกือบจะทันทีหลังจากที่เครื่องบินเทคออฟ ขณะที่รายงานเบื้องต้นยังไม่ได้สรุปว่า สวิตช์ดังกล่าวถูกปรับไปยังตำแหน่ง cutoff ได้อย่างไรหลังจากขึ้นบิน
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า การที่นักบินจะเผลอปรับสวิตช์เชื้อเพลิงผิดโดยอุบัติเหตุนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้
“แต่หากมันถูกปรับโดยนักบินจริงๆ เขาจะทำอย่างนั้นไปทำไม?” แอนโทนี บริกเฮาส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินในสหรัฐฯ ตั้งคำถาม
จอห์น แนนซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินในสหรัฐฯ อีกคนตั้งข้อสังเกตว่า สวิตช์ดังกล่าวถูกปิดห่างกันราวๆ 1 วินาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้สำหรับการปรับสวิตช์แต่ละตัว เขายังเสริมว่าโดยปกติแล้วนักบินจะไม่ปิดสวิตช์ทั้ง 2 ตัวในระหว่างการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เครื่องกำลังไต่ระดับความสูง
การปรับสวิตช์ส่งผลให้เครื่องยนต์ทั้ง 2 ตัวดับลงเกือบพร้อมกัน และโดยปกติแล้วมันจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อเครื่องบินเข้าเทียบที่เกตแล้ว หรือไม่ก็ในสถานการณ์ฉุกเฉินบางประการ เช่น เครื่องยนต์เกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น ทว่ารายงานการสอบสวนก็ไม่ได้ระบุว่า มีเหตุฉุกเฉินอะไรที่นักบินจำเป็นจะต้องสับสวิตช์ปิดเครื่องยนต์เช่นนี้
จากการตรวจสอบซากเครื่องบินที่จุดตกพบว่า สวิตช์ทั้ง 2 ตัวอยู่ในตำแหน่ง ‘run’ และมีข้อบ่งชี้ว่าเครื่องยนต์ 2 ข้างถูกรีสตาร์ทก่อนที่จะเกิดการตกกระแทกพื้น
แอร์อินเดียออกมาแถลงยอมรับรายงานดังกล่าว และยืนยันว่าสายการบินได้มีการประสานร่วมมือกับทางการอินเดียอย่างเต็มที่ แต่ไม่ขอให้ความเห็นเพิ่มเติม
คณะกรรมการความปลอดภัยขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) ได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่อินเดียที่ให้ความร่วมมือ พร้อมระบุว่าทางหน่วยงานยังไม่มีคำแนะนำข้อปฏิบัติเพิ่มเติมใดๆ สำหรับสายการบินที่ใช้โบอิ้ง 787 หรือเครื่องยนต์ GE
ที่มา: รอยเตอร์