รัฐบาลบราซิลในวันศุกร์(11ก.ค.) กลบกระแสความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการรีดภาษี 50% ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ขู่กำหนดเล่นงานประเทศของพวกเขา ในขณะที่ผู้นำทั้ง 2 ชาติแสดงความตั้งใจอย่างระมัดระวังต่อการเจรจาใดๆในอนาคต
ทรัมป์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าเขาอาจพูดคุยในภายหลังกับ ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้บอกว่าเขาจะหาทางออกด้านการทูต แต่จะตอบโต้อย่างทัดเทียม หากว่ามาตรการรีดภาษีของผู้นำสหรัฐฯ ที่กำหนดเล่นงานประเทศของเขา มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม ตามที่ประกาศไว้
"บางทีในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผมจะพูดคุยกับเขา ตอนนี้ผมยังไม่พูดคุย" ทรัมป์บอกกับผู้สื่อข่าว ระหว่างเดินทางออกจากทำเนียบขาว เพื่อไปเยือนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วในเทกซัส พร้อมกับส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง ต่อกรณีที่บราซิลดำเนินการทางกฎหมายกับ ฌาอีร์ โบลโซนารู อดีตประธานาธิบดีฝ่ายขวา
ความเห็นของทรัมป์ มีขึ้นหลังจาก ลูลา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่นที่ออกอากาศในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี(10ก.ค.) ระบุว่า "เราจะพยายามเจรจาก่อน แต่ถ้าไม่มีการเจรจา กฎหมายตอบโต้จะถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ"
รัฐบาลบราซิลคาดการณ์ว่ามาตรการรีดภาษีจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ ซึ่งคาดหมายว่าจะขยายตัวสู่ระดับ 2.5% และมีเพียงบางภาคการผลิตเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบหนัก
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ในวันพฤหัสบดี(10ก.ค.) ว่า สืบเนื่องจากมาตรการรีดภาษีรอบใหม่ ในนั้นรวมถึงบราซิล ซึ่งขยายเพิ่มเติมจากคำแถลลงในเดือนเมษายน ผลิตภัณฑ์พลังงานอย่างเช่นน้ำมันและแร่ธาตุสำคัญๆจะยังคงได้รับการยกเว้นต่อไป
น้ำมันเป็นสินค้าลำดับต้นๆของบราซิลที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และในวันพฤหับดี(10ก.ค.) ทาง IBP กลุ่มล็อบบี้ยิสต์น้ำมันบราซิล ยังแสดงความไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯจะยังคงมอบข้อยกเว้นที่เป็นประโยชน์กับสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนี้หรือไม่ ในขณะที่สถานทูตอเมริกาประจำบราซิล ก็ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
สหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของผลิตภัณฑ์เหล็ก เยื่อกระดาษ, กาแฟ, น้ำส้มและเนื้อตัว จากบราซิล อย่างไรก็ตามรัฐบาลบราซิลเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถควานหาผู้ซื้อรายอื่นจากทั่วโลกมาทดแทน
"สืบเนื่องจากกรณีนี้ มาตรการรีดภาษีมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบไม่ค่อยหนักหน่วงนักต่อการเติบโตของปี 2025 แม้มีบางภาคการผลิตที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก" กระทรวงการคลังบราซิลระบุในรายงาน ขณะที่ ลูลา ประกาศควานหาผู้ซื้อรายใม่สำหรับสินค้าบราซิล และบอกว่า "เราสามารถอยู่รอดได้ โดยปราศจากสหรัฐฯ"
กุยเยอร์โม เมลโล รัฐมนตรีนโยบายเศรษฐกิจของบราซิล กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "แม้มันส่งผลกระทบต่อการเติบโตอยู่บ้าง แต่มันไม่ส่งผลเกี่ยวเนื่องเหมือนกันหน้านี้ บราซิลจัดการสร้างความหลากหลายในคู่หูทางการค้ามานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว
จากข้อมูลพบว่า บราซิล ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนแค่ราวๆ 12% แต่ส่งออกสินค้าไปยังจีน คู่หูการค้าลำดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 28% ในขณะที่ชาติมหาอำนาจเอเชียแห่งนี้ในวันศุกร์(11ก.ค.) ก็ประณามทรัมป์เช่นกัน ต่อกรณีที่กำหนดมาตรการรีดภาษีเล่นงานชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา
"เพดานภาษีไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือขู่เข็ญ รังแกและแทรกแซงประเทศอื่น" เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวระหว่างแถลงข่าวในปักกิ่ง
อย่างไรก็ตามพวกผู้ส่งออกแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเพดานภาษีใหม่ของทรัมป์ โดยประธานกลุ่มอุตสหกรรมเนื้อวัวของบราซิล ABIEC ระบุว่ามาตรการรีดภาษีจะทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ ที่บราซิลจะส่งออกเนื้อวัวไปยังสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามในหนังสือที่ส่งถึงลูลาในวันพุธ(9ก.ค.) ทรัมป์ เหลือทางเลือกเพียงเล็กน้อยให้บราซิลตอบสนอง เนื่องจากเขาเชื่อมโยงมาตการรีดภาษีกับระบบยุติธรรมของประเทศแห่งนี้ ที่ดำเนินการทางกฎหมายกับโบลโซนารู ผู้ซึ่งถูกพิจารณาคดีตามข้อกล่าวหาวางแผนก่อรัฐประหารสกัด ลูลา จากการเข้ารับตำแหน่งในปี 2023
ในวันศุกร์(11ก.ค.) ทรัมป์ เน้นย้ำจุดยืนปกป้องโบลโซนารู "พวกเขาปฏิบัติกับประธานาธิบดีโบลโซนารู ไม่ยุติธรรมมากๆ" ผู้นำสหรัฐฯระบุ
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่น ลูกลาบอกว่าเหตุผลของทรัมป์สำหรับรีดภาษีบราซิลนั้น "ไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก" และบอกว่าเขาไม่ยอมรับเสียงเรียกร้องของทรัมป์ ที่ร้องขอให้หยุดดำเนินการกับโบลโซนารู "ผู้ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงพยายามก่อรัฐประหาร แต่พยายามเอาชีวิตผมด้วย"
(ที่มา:รอยเตอร์)