จีนตอบตกลงร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการแบนอาวุธนิวเคลียร์ จากคำยืนยันของรัฐมนตรีต่างประเทศมาลเซียและจีน ในความเคลื่อนไหวหาทางปกป้องพื้นที่นี้จากความตึงเครียดด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางคำขู่รีดภาษีของสหรัฐฯที่ใกล้เข้ามาแล้ว
คำสัญญาจากปักกิ่งได้รับการขานรับด้วยความยินดีจากบรรดาผู้แทนทูตที่มารวมตัวกันในวันพฤหัสบดี(10ก.ค.) ณ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ที่ประชุมที่ทาง มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดพูดคุยกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศในภูมิภาค และ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย
โมฮัมหมัด ฮาซาน รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าจีน ยืนยันถึงความตั้งใจลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone - SEANWFZ) ข้อตกลงที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1997 ที่จำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ในภูมิภาค ไว้เพียงแค่จุดประสงค์เพื่อสันติต่างๆนานา อย่างเช่นก่อกำเนิดพลังงาน
"จีนให้คำมั่นรับประกันว่าพวกเขาจะลงนามในสนธิสัญญาโดยปราศจากสงวนสิทธิ์ใดๆ" ฮาซานกล่าว พร้อมระบุว่าการลงนามอย่างเป็นทางการจะมีขึ้น ครั้งที่เอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องเสร็จสมบูรณ์แล้ว
อาเซียนผลักดันมาช้านานให้ 5 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ของโลก ได้แก่จีน, สหรัฐฯ, รัสเซีย, ฝรั่งเศและสหราชอาณาจักร ลงนามในข้อตกลงนี้ และเคารพสถานะปลอดนิวเคลียร์ของภูมิภาค ในนั้นรวมถึงภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหลทวีปของพวกเขาด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปักกิ่งส่งสัญญาณว่าพร้อมสนับสนุนสนธิสัญญาฉบับนี้และเป็นแกนนำสำหรับเป็นตัวอย่างแก่รัฐติดอาวุธนิวเคลียร์อื่นๆ
รูบิโอ ซึ่งเดินทางเนือนเอเชียเป็นครั้งแรก ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ เดินทางมาถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันพฤหัสบดี(10ก.ค.) ท่ามกลางเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอน อันมีต้นตอจากนโยบายรีดภาษีอย่างแข็งกร้าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในนั้นรวมถึงกำหนดเพดานภาษีใหม่สำหรับ 6 ชาติสมาชิกอาเซียน เช่นเดียวกับพันธมิตรเก่าแก่ที่สำคัญอย่าง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
มาตรการรีดภาษี ซึ่งมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม ในนั้นรวมถึงเพดานภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากมาเลเซีย, 32% สำหรับอินโดนีเซีย, 36% สำหรับกัมพูชาและไทย และ 40% สำหรับลาวและพม่า
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างโดนสหรัฐฯรีดภาษีชาติละ 25% ในขณะที่ ออสเตรเลีย อีกหนึ่งพันธมิตรเอเชีย-แปซิฟิกที่สำคัญ แสดงปฏิกิริยาโกรธกริ้วต่อคำขู่รีดภาษี 200% สำหรับยาที่ส่งออกไปยังอเมริกา
เวียดนาม ในฐานะชาติสมาชิกอาเซียน รวมถึงสหราชอาณาจักร เป็นเพียง 2 ชาติที่สามารถบรรลุข้อตกลงและลงนามในข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯแยกกัน
ร็อบ แม็คบริดจ์ ผู้สื่อข่าวของอัลจาซีราห์ รายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระบุว่าบรรดาชาติอาเซียนกำลังพบว่าตนเองอยู่ในแก่นกลางการแข่งขันทางการทูตอันเข้มข้น ด้วยที่เหล่าชาติมหาอำนาจต้องการหาทางเพิ่มอิทธิพลของตนเองในภูมิภาคนี้
"เหล่าชาติอาเซียนบางส่วนกำลังเผชิญกับเพดานภาษีสูงสุดจากรัฐบาลทรัมป์" แม็คบริดจ์กล่ว "พวกเขายังเป็นหนึ่งในชาติที่ได้รับจดหมายใหม่ชุดแรกๆ ที่แจ้งถึงการเลื่อนรีดภาษีอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้เลื่อนไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม"
"ความไม่แน่นอนผลักให้ชาติต่างๆในอาเซียนเสาะแสวงหาคู่หูการค้าอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน มาตรการรีดภาษีจะเป็นแรงผลักดันให้บรรดาชาติอาเซียนทั้งหมด แสวงหาความเชื่อมโยงทางการค้าอย่างใกล้ชิดกับพื้นที่อื่นๆของโลก" แม็คบริดจ์กล่าว
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน อยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของปักกิ่งที่มากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ได้มีการพูดคุยกับหลายชาติในมาเลเซีย รุกคืบผลักดัน "ระเบียบโลกหลายขั้ว" เวอร์ชันของมอสโก แนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ที่ถูกมองว่าจะก้าวมาท้าทายระเบียบโลกที่นำโดยตะวันตก ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของสหรัฐฯ
ส่วนทาง รูบิโอ มีเป้าหมายสกัดแนวคิดดังกล่าวและผ่อนคลายความตึงเครียด "สมาชิกอาเซียนหลายชาติเป็นพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐฯ แต่พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับมาตรการรีดภาษีและความเคลื่อนไหวทางนโยบายต่างประเทศเมื่อเร็วๆนี้ของสหรัฐฯ รูบิโอ เดินทางมาที่นี่ เพื่อรับประกันว่าความสัมพันธ์ข้ามแปซิฟิกยังเป็นไปด้วยดี" แม็คบริดจ์ระบุ
(ที่มา:อัลจาซีราห์)