xs
xsm
sm
md
lg

จีนขู่เอาคืนปท.ที่ร่วมมืออเมริกา‘แทงข้างหลัง’ ด้านผู้นำบราซิลกร้าว‘โลกไม่ต้องการจักรพรรดิ์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิตกกลุ่มบริกส์ ที่จัดขึ้นในนครริโอเดจาเนโร ขณะออกมาแถลงข่าวในวันจันทร์ (7 ก.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมคราวนี้  ทั้งนี้เขากล่าวแขวะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ด้วยว่า โลกไม่ต้องการจักรพรรดิ์องค์ใหม่
จีนเตือนคณะบริหารทรัมป์อย่าคิดฟื้นสงครามศุลกากรรอบใหม่ พร้อมขู่เอาคืนประเทศที่ทำข้อตกลงกับอเมริกาด้วยการตัดขาดห่วงโซ่อุปทานแดนมังกร ขณะที่ผู้นำบราซิลในฐานะเจ้าภาพซัมมิตบริกส์ ประกาศกร้าว “โลกไม่ต้องการจักรพรรดิ์

วันจันทร์ (7 ก.ค.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มส่งจดหมายแจ้งพวกประเทศคู่ค้ารวม 14 ราย เกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. หลังจากชะลอการเรียกเก็บมาตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีเวลาเจรจาข้อตกลงการค้ากับอเมริกา

ในส่วนจีนนั้น ได้มีการตกลงกับสหรัฐฯเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยสองฝ่ายต่างระงับภาษีตอบโต้กันซึ่งต่างฝ่ายกำหนดไว้ในระดับเกิน 100% ทั้งนี้การผ่อนผันนี้จะใช้ไปจนถึงวันที่ 12 ส.ค. เพื่อให้มีเวลาในการเจรจาต่อรองกัน

วันอังคาร (8 ก.ค.) หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์ เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เผยแพร่บทความ ระบุว่า การเจรจาและการร่วมมือกันเป็นวิธีเดียวที่ถูกต้องในการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และย้ำว่า ภาษีศุลกากรของทรัมป์เป็นการข่มเหงรังแก

บทความนี้ที่ลงนามผู้เขียนว่า “เสียงจากจีน” ซึ่งมักใช้เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศนั้น ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสงครามภาษีศุลกากรรอบใหม่ หากทรัมป์ยังคงยึดติดกับ “เส้นตายสุดท้าย”

ทั้งนี้ วอชิงตันและปักกิ่งได้เจรจาตกลงกรอบการค้าและฟื้นข้อตกลงสงบศึกชั่วคราวเมื่อเดือนมิถุนายน โดยข้อมูลจากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศระบุว่า ขณะนี้อเมริกากำหนดภาษีสินค้าจีนที่ 51.1% และจีนกำหนดภาษีเฉลี่ย 32.6% สำหรับสินค้านำเข้าจากอเมริกา

บทความของเหรินหมินรึเป้ายังประกาศต่อต้านการที่บางประเทศจะทำข้อตกลงกับสหรัฐฯในลักษณะที่ทำให้จีนสูญเสียผลประโยชน์ เพื่อแลกกับการผ่อนปรนภาษีศุลกากรของวอชิงตัน และสำทับว่า จีนจะตอบโต้ขั้นเด็ดขาด

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เวียดนามบรรลุข้อตกลงกับอเมริกา ซึ่งวอชิงตันยอมลดภาษีศุลกากรจาก 46% เหลือ 20% ยกเว้นสินค้า “ถ่ายลำ” ที่มีต้นทางจากจีนจะต้องเสียภาษี 40%

นอกจากนั้นเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ ซึ่งจัดขึ้นที่ เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แถลงย้ำว่า บริกส์ส่งเสริมการร่วมมือที่ชนะด้วยกันทุกฝ่าย และไม่ได้มุ่งโจมตีประเทศใดๆ

ด้านดมิตริ เปสคอฟ โฆษกวังเครมลิน ให้สัมภาษณ์สื่อรัสเซียเช่นกันว่า ความร่วมมือในบริกส์ไม่มีเป้าหมายในการต่อต้านประเทศที่สามอย่างเด็ดขาด

การแสดงความคิดเห็นเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อคืนวันอาทิตย์ (6 ) ทรัมป์ขู่รีดภาษีเพิ่มอีก 10% สำหรับประเทศที่สนับสนุน “การต่อต้านนโยบายของอเมริกา” ของกลุ่มบริกส์

ในส่วนการประชุมซัมมิตบริกส์นั้น ภายหลังเสร็จสิ้นลงแล้ว ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาของบราซิล และเจ้าภาพการประชุม ออกมาประกาศกร้าวว่า สมาชิกบริกส์เป็นประเทศอธิปไตย “โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ต้องการจักรพรรดิ์” องค์ใหม่

ลูลาเสริมว่า บริกส์เป็นกลุ่มความร่วมมือที่ต้องการค้นหาวิธีการใหม่ในการจัดระเบียบโลกด้วยมุมมองด้านเศรษฐกิจ

เขายังรื้อฟื้นข้อเรียกร้องเดิมของบริกส์ที่ว่า การค้าโลกจำเป็นต้องมีตัวเลือกอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์ขู่รีดภาษีบริกส์ 100% หากพยายามบ่อนทำลายบทบาทของดอลลาร์ในระบบการค้าโลก ทำให้ลูลาต้องระงับความพยายามในการผลักดันสกุลเงินร่วมของกลุ่มบริกส์ที่สมาชิกบางชาติเสนอเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สมาชิกบริกส์หลายชาติค่อนข้างระมัดระวังในการวิจารณ์มาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์เนื่องจากยังต้องพึ่งพิงการค้ากับอเมริกาอย่างมาก

ตัวอย่างเช่น อินเดียที่งดแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ขณะที่แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ของบริกส์ มีกำหนดเดินทางไปอเมริกาเพื่อหารือเรื่องภาษีในวันจันทร์

ทางฝ่ายมาเลเซียที่เข้าประชุมในฐานะประเทศหุ้นส่วนรายหนึ่งของบริกส์ และถูกอเมริกาเรียกเก็บภาษี 24% นั้น กล่าวว่า จะยังคงยึดถือนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นอิสระต่อไป และไม่เน้นการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์

(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น