xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่น-โซล-สหภาพยุโรปเตรียมเจรจาต่อรองยกใหม่กับสหรัฐฯ ขณะอาเซียนร่างแถลงการณ์ร่วมแสดง‘ความกังวล’ภาษีศุลกากรทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระดับมหาอำนาจอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และกระทั่ง อียู แสดงท่าทีพยายามเจรจากับสหรัฐฯเพื่อลดผลกระทบ ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตั้งท่าร่วมใจออกคำแถลงแสดง “ความกังวล” เกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่ “ก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม” ของวอชิงตัน หลังจากทรัมป์ประกาศใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ซึ่งอยู่สูงระหว่าง 25-40% ทว่าขยายเส้นตายออกไปจนถึงต้นเดือนหน้าเพื่อให้มีเวลายื่นข้อเสนอใหม่มาเจรจากัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกระดับสงครามการค้าให้ดุเดือดขึ้นอีกรอบในวันจันทร์ (7 ก.ค.) ด้วยการส่งจดหมายแจ้งไปยัง 14 ประเทศคู่ค้า ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไทยรวมอยู่ด้วย ว่าอเมริกาจะใช้ภาษีศุลกากรอัตราตอบโต้ซึ่งอยู่ในระหว่าง 25-40% แต่จะเลื่อนเส้นตายการบังคับใช้จากวันพุธน (9) นี้ เป็นวันที่ 1 ส.ค. เพื่อเปิดโอกาสให้เจรจาต่อรองได้อีก 3 สัปดาห์ พร้อมกันนั้นก็ข่มขู่ว่า สำหรับประเทศที่คิดตอบโต้ จะถูกอเมริกาขึ้นภาษีหนักขึ้นไปอีก

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า เส้นตายใหม่นี้แน่นอนแล้วหรือไม่ ทรัมป์ตอบว่า แน่นอนแต่ไม่ 100% ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศคู่เจรจามีข้อเสนอใหม่ๆ ที่น่าสนใจหรือไม่

วันเดียวกันนั้น สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แถลงในทำนองเดียวกับที่ได้เคยแถลงก่อนหน้านี้มาหลายรอบแล้วว่า อาจมีการประกาศข้อตกลงกับหลายประเทศภายใน 48 ชั่วโมงข้างหน้า

ทางด้าน เรียวเซ อากาซาวะ ผู้นำทีมเจรจาการค้าของญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (8 ก.ค.) ว่า ญี่ปุ่นยังคงต้องการให้อเมริกาลดภาษีศุลกากรที่เก็บจากยานยนต์ โดยก่อนหน้านี้ได้หารือทางโทรศัพท์กับโฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ นาน 40 นาที และต่างเห็นพ้องให้ดำเนินการเจรจาต่อไป

นอกจากนั้น อาซากาวะยืนกรานว่า ญี่ปุ่นจะไม่ยอมสละภาคเกษตรกรรมของประเทศ เพื่อแลกกับการบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงการลดเลิกภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากพวกสินค้าการเกษตรนำเข้า อันเป็นข้อเรียกร้องสำคัญประการหนึ่งของอเมริกาเวลานี้ ทั้งนี้ภาคเกษตรกรรมเป็นกลุ่มล็อบบี้ทางการเมืองทรงอิทธิพลภายในญี่ปุ่น โดยเฉพาะเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเสรีประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ

ด้านเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญในเอเชียของอเมริกาเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เผยว่า มีแผนลุยเจรจาต่อในสัปดาห์หน้าเพื่อบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าววงในเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของอเมริกานั้น ตั้งเป้าบรรลุข้อตกลงก่อนวันที่ 1 ส.ค. โดยจะโฟกัสการเจรจาไปที่ “การปรับสมดุลกันใหม่” และการผ่อนปรนอ่อนข้อในอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญบางอย่าง

แหล่งข่าวบางคนเปิดเผยเมื่อคืนวันจันทร์ว่า บรัสเซลส์ใกล้บรรลุข้อตกลงกับคณะบริหารของทรัมป์แล้ว โดยที่อเมริกาอาจคงภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% สำหรับเครื่องบินและชิ้นส่วนเครื่องบิน รวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ และสุราของอียู

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีคลัง ลาร์ส คลิงเบล ของเยอรมนี ซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญของอียู กล่าวเตือนว่า สหภาพยุโรปมีการเตรียมตวที่จะตอบโต้เอาคืนสหรัฐฯ ถ้าหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ

จนถึงขณะนี้ อเมริกาเพิ่งบรรลุข้อตกลงที่ยังไม่ถือว่าสมบูรณ์แบบกับอังกฤษและเวียดนามเท่านั้น และในเดือนมิถุนายน วอชิงตันกับปักกิ่งตกลงกรอบการค้ากันซึ่งรายละเอียดหลายอย่างยังขาดความชัดเจน

พาเมลา โค้ก-แฮมิลตัน ผู้อำนวยการบริหารศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งสหประชาชาติหนุนหลังอยู่ ชี้ว่า กลยุทธ์การค้าของทรัมป์ทำให้ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนยืดเยื้อออกไป บ่อนทำลายการลงทุนและสัญญาธุรกิจระยะยาว และทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไร้ความแน่นอนและไร้เสถียรภาพ

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์หนักที่สุด เนื่องจากต้องพึ่งพาภาคส่งออกและการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3.8 ล้านล้านดอลลาร์นั้น มีรายงานว่ากำลังเตรียมออกแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียน “แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าของทั่วโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนต่างๆ ในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำตามลำพังฝ่ายเดียวเกี่ยวกับเรื่องภาษีศุลกากร”

ทั้งนี้ เอเอฟพีบอกว่า นี่เป็นข้อความในร่างแถลงการณ์ร่วมซึ่งกำลังร่างกันอยู่

ในอีกด้านหนึ่ง หลายประเทศอาเซียยังกำลังเตรียมยกระดับการเจรจากับวอชิงตัน แม้ล่าสุดเพิ่งพยายามต่อรองสุดกำลังด้วยการเสนอเพิ่มการนำเข้าและลดภาษีสินค้าอเมริกาก็ตาม

ทั้งนี้ อัตราภาษีศุลกากรที่จดหมายในวันจันทร์ของทรัมป์ระบุ สำหรับอินโดนีเซียและไทยยังคงเท่ากับที่ทรัมป์ประกาศไว้เมื่อต้นเดือนเมษายนนั่นคือที่ 32% และ 36% ตามลำดับ ขณะที่มาเลเซียถูกเรียกเก็บในอัตรา 25% ขยับขึ้น 1% จากที่ขู่ไว้เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว
แอร์ลังกา ฮาร์ตาโต หัวหน้าทีมเจรจาของอินโดนีเซีย ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ มีกำหนดหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่วอชิงตันในวันอังคาร หลังจากยื่นข้อเสนอเพิ่มการนำเข้าพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และเครื่องบินจากบริษัทอเมริกันภายใต้ข้อตกลงมูลค่าถึง 34,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งเสนอลงทุนในอเมริกาในการเจรจาหลายรอบก่อนหน้านี้

สำหรับไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกนั้น สมาคมผู้ส่งออกข้าวคาดว่า อาจเผชิญปัญหาอุปสงค์ในตลาดอเมริกาลดลง 20% และยังต้องแข่งขันรุนแรงขึ้นกับเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งบรรลุข้อตกลงกับวอชิงตันซึ่งตกลงเรียกเก็บภาษีเพียง 20% สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ของเวียดนาม ยกเว้นสินค้าถ่ายลำที่ต้องเสียภาษี 40%

ในส่วนกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีลดลงจาก 49% เหลือ 36% หลังเจรจากับอเมริกาเพื่อปกป้องการผลิตสิ่งทอและรองเท้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

ด้านมาเลเซียนั้น กระทรวงพาณิชย์แถลงว่า มาเลเซียมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมกับอเมริกาต่อไปเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าที่สมดุล ครอบคลุม และเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองฝ่าย

(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น