"ทรัมป์" เริ่มต้นแจ้งประเทศคู่ค้าถึงอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ไทยโดนไป 36% เท่ากับกัมพูชา ส่วนลาวและพม่าถูกเรียกเก็บที่ 40% ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ตูนิเซีย และคาซัคสถาน เก็บ 25% ส่วนแอฟริกาใต้ บังกลาเทศ บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา 30% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นแจ้งกับบรรดาคู่หูทางการค้า ไล่ตั้งแต่ซัพพลายเออร์เจ้าใหญ่อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไปจนถึงผู้เล่นรายเล็ก ซึ่งรวมถึงไทย ว่าจะโดนเพดานภาษีระดับสูง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถือเป็นปฐมบทใหม่ในสงครามการค้าที่เขาเริ่มเปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
รอยเตอร์รายงานว่าจนถึงตอนนี้ ได้มีการส่งหนังสือแจ้งไปยังประเทศต่างๆ 14 ชาติ ในนั้นรวมถึงผู้ส่งออกมายังสหรัฐฯเจ้าเล็กกว่าอย่าง เซอร์เบีย, ไทย และตูนีเซีย เกี่ยวกับตัวเลขเพดานภาษีสูงลิ่้ว แต่ขณะเดียวกันก็แย้มถึงการเปิดโอกาสสำหรับการเจรจาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในจดหมายเตือนว่ามาตรการแก้แค้นใดๆจะต้องเจอกับการตอบโต้แบบทัดเทียมกัน
"ไม่ว่าเหตุผลใดๆที่คุณตัดสินใจเพิ่มเพดานภาษีของคุณ เมื่อนั้น ไม่ว่าตัวเลขใดๆที่คุณเลือกปรับเพิ่มเพดานภาษี เราจะชาร์จเพดานภาษีเพิ่มเติมอีก 25%" ทรัมป์ระบุในหนังสือแจ้งไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เผยแพร่บนทรัสต์โซเชียล สื่อสังคมออนไลน์ของเขาเอง
การปรับเพิ่มเพดานภาษีนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม แต่มันจะไม่นับรวมกับคำแถลงรีดภาษีอย่างเจาะจงเป็นรายภาคก่อนหน้านี้ กับภาคยานยนต์ เหล็กและอลูมีเนียม นั่นหมายความว่า ยกตัวอย่างเช่น เพดานภาษีรถยนต์นำเข้าจากญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ที่ 25% แทนที่จะดีดตัวขึ้นไปเป็น 50% เมื่อรวมกับอัตราภาษีตอบโต้ใหม่
ประเทศต่างๆพยายามทำงานแข่งกับเวลาในการหาข้อสรุปในข้อตกลงกับสหรัฐฯ หลัง ทรัมป์ ปลดปล่อยสงครามการค้าโลกในเดือนเมษายน ที่เขย่าตลาดการเงินและผลักให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆดิ้นรนหาทางปกป้องเศรษฐกิจของตนเอง
บรรดาคู่หูทางการค้าได้รับการพักโทษอีกรอบ หลังทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ทรัมป์ จะลงนามในคำสั่งบริหารฉบับหนึ่งในวันจันทร์(7ก.ค.) ขยายเส้นตายที่กำหนดไว้สำหรับการเจรจาจากเดิมในวันพุธ(9ก.ค.) เป็นวันที่ 1 สิงหาคม และล่าสุดประธานธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อัตราภาษีที่เรียกเก็บกับเกาหลีใต้ อยู่ในระดับเดิมกับที่ ทรัมป์ ประกาศในเบื้องต้น ส่วนของ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นมา 1% จากที่เคยแถลงครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายน ทั้งนี้หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น เขาจำกัดสิ่งที่เรียกว่ามาตรการภาษีตอบโต้ไว้ที่ 10% จนถึงวันพุธ(9ก.ค.) เพื่อเปิดทางการเจรจา อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้เพิ่งบรรลุข้อตกลงได้เพียง 2 ชาติ ได้แก่สหราชอาณาจักรและเวียดนาม
ในเวลาต่อมาในวันจันทร์(7ก.ค.) ทรัมป์ เปิดเผยว่านอกจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแล้ว สหรัฐฯจะกำหนดมาตรการรีดภาษี 25% กับตูนิเซีย มาเลเซียและคาซัคสถาน และเพดานภาษี 30% เรียกเก็บกับแอฟริกาใต้ บังกลาเทศ รวมถึงบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ส่วน กัมพูชาและไทย เจอเพดานภาษี 36% เท่ากัน ในขณะที่ลาวและพม่า โดนไปชาติละ 40%
สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์(7ก.ค.) แสดงความคาดหมายว่าจะมีการแถลงข้อตกลงการค้าหลายข้อตกลงออกมาในช่วง 48 ชั่วโมงข้างหน้า พร้อมเผยว่าอีเมลของเขาเต็มไปด้วยข้อความจากประเทศต่างๆ ที่พยายามเป็นครั้งสุดท้าย ยื่นข้อเสนอเข้ามา
แหล่งข่าวสหภาพยุโรปที่ใกล้ชิดกับประเด็นนี้ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ในวันจันทร์(7ก.ค.) ว่าอียูไม่ได้รับจดหมายปรับเพิ่มเพดานภาษีใดๆจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะที่อียูยังคงวางเป้าหมายบรรลุข้อตกลงการค้ากับอเมริกาภายในวันที่ 9 กรกฏาคม หลัง อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและทรัมป์ มีการพูดคุยกันที่ดี
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ทรัมป์ ขู่พวกผู้นำของกลุ่มชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ BRICS ที่พบปะประชุมกันในบราซิล ว่าจะรีดภาษีเพิ่มเติม หากว่าพวกเขาดำเนินนโยบายต่อต้านอเมริกา โดยในบรรดาสมาชิกกลุ่มนี้นั้น ประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้และอื่นๆ
(ที่มา:รอยเตอร์)