ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกมายื่นคำขู่ทุกประเทศว่าจะโดนสหรัฐฯ รีดภาษีศุลกากรสินค้าเพิ่มอีก 10% หากเข้าร่วมกับ “นโยบายต่อต้านอเมริกัน” ของกลุ่ม BRICS ซึ่งเริ่มเปิดการประชุมซัมมิตที่บราซิลเมื่อวันอาทิตย์ (6 ก.ค.)
ในขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ G7 และ G20 เผชิญอุปสรรคจากความขัดแย้งอันมีต้นตอจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของ ทรัมป์ กลุ่ม BRICS ได้พยายามโปรโมตภาพลักษณ์ว่าเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เคารพหลักการพหุภาคี ท่ามกลางความขัดแย้งด้านอาวุธและสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงทั่วโลก
ระหว่างพิธีเปิดการประชุม BRICS ที่นครรีโอเดจาเนโร ประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล ได้เปรียบเทียบ BRICS กับขบวนการไม่ฝักใฝฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ในยุคสงครามเย็น ซึ่งหมายถึงกลุ่มชาติกำลังพัฒนาที่ต่อต้านการเลือกข้างมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“BRICS ถือเป็นทายาทของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ลูลา ให้สัมภาษณ์ “ในขณะที่ระบบพหุภาคีกำลังถูกโจมตี อำนาจปกครองตนเองของเราก็กำลังถูกทดสอบอีกครั้ง”
ในคำแถลงร่วมของ BRICS ที่ออกเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ (6) ทางกลุ่มเตือนว่าการตั้งกำแพงภาษีศุลกากรกำลังบ่อนทำลายการค้าโลก ซึ่งถือเป็นการวิจารณ์นโยบายภาษีของ ทรัมป์ แบบอ้อมๆ
หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ทรมัป์ ได้โพสต์โซเชียลมีเดียเตือนว่าสหรัฐฯ จะลงโทษทุกประเทศที่พยายามเข้าร่วมกลุ่ม BRICS
“ประเทศใดก็ตามที่มีส่วนร่วมกับนโยบายต่อต้านอเมริกันของ BRICS จะถูกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มอีก 10% โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ขอบคุณที่ให้ความสนใจ!” ทรัมป์ โพสต์บน Truth Social
ทรัมป์ ไม่ได้อธิบายขยายความว่า “นโยบายต่อต้านอเมริกัน” ที่เขาพูดถึงนั้นคืออะไร
รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ระหว่างเร่งบรรลุข้อตกลงการค้ากับหลายสิบประเทศให้ทันกำหนดเส้นตาย 9 ก.ค. ก่อนที่อัตราภาษีตอบโต้จะเริ่มมีผลบังคับใช้
กระทรวงการต่างประเทศอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสำคัญของ BRICS ยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับคำขู่ของผู้นำสหรัฐฯ
ลูลา ได้กล่าวต่อบรรดาผู้นำธุรกิจเมื่อวันเสาร์ (5) ว่า กลุ่ม BRICS เวลานี้มีประชากรรวมกันมากกว่า 50% ของโลก และครองสัดส่วน GDP ราวๆ 40% ของโลก ขณะเดียวกันก็ย้ำเตือนถึงอันตรายของลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) ที่กำลังขยายตัว
BRICS ได้จัดการประชุมซัมมิตหนแรกเมื่อปี 2009 โดยมีสมาชิกก่อตั้งเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ทว่าต่อมาได้มีการเพิ่มแอฟริกาใต้เข้ามาอีก 1 ประเทศ และเมื่อปีที่แล้วก็มีอียิปต์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่
อีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลกแสดงท่าทีสนใจที่จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ไม่ว่าจะในฐานะสมาชิกเต็มหรือหุ้นส่วนก็ตาม
สมาชิกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมีส่วนขยายอิทธิพลทางการทูตของ BRICS ซึ่งมุ่งหวังเป็นกระบอกเสียงให้กับชาติกำลังพัฒนาในกลุ่ม Global South ตลอดจนเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น
“หากการบริหารจัดการระหว่างประเทศยังไม่สะท้อนถึงความเป็นพหุภาคี ซึ่งถือเป็นความจริงในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นหน้าที่ของ BRICS ที่จะต้องอัปเดตมัน” ลูลา กล่าว
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการประชุม BRICS ในปีนี้ดูจะกร่อยลงไปเมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนไม่ได้ไปร่วมประชุมด้วยตนเอง โดยส่งเพียงนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ไป ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียก็ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่บราซิลจะต้องปฏิบัติตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งต้องการได้ตัว ปูติน ไปดำเนินคดีเกี่ยวกับบทบาทในสงครามยูเครน
ที่มา: รอยเตอร์