(เก็บความจากเอเชียไทมส์ https://asiatimes.com/2025/07/in-trumps-game-the-us-and-china-win-and-europe-pays-the-bill/)
In Trump’s game, the US and China win and Europe pays the bill
by Sebastian Contin Trillo-Figueroa
01/07/2025
ถึงแม้ด้อยความสามารถที่จะบังคับให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามผลประโยชน์องตนเอง แต่ยุโรปก็จักต้องไม่คอยเอาแต่อุดหนุนจุนเจืออุตสาหกรรมอาวุธสหรัฐฯ ในเวลาเดียวกันนั้นก็คอยแต่จะสร้างความแปลกแยกกับตลาดจีน
จากความเคลื่อนไหวในช่วงเปิดสมัยที่สองแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของ โดนัลด์ ทรัมป์ มีแบบแผนอย่างหนึ่งปรากฏรูปโฉมขึ้นมาให้เห็นกันแล้ว นั่นคือ วอชิงตันเป็นผู้กำหนดวาระ, ปักกิ่งปรับตัวเองด้วยความถูกต้องแม่นยำ, ส่วนบรัสเซลส์กลับยกธงขาวยอมจำนน สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นจึงกลายเป็นระเบียบโลกที่มี 2 ขั้ว (bipolar order) โดยที่ยุโรปลดชั้นตัวเองให้แสดงบทบาทเป็นแค่ผู้ออกเงินและเชียร์ลีดเดอร์เท่านั้น
ทรัมป์เล่นไพ่โป๊กเกอร์, สี จิ้นผิง เล่นโกะ (หมากล้อม), ส่วนยุโรปยังคงดิ้นรนอยู่กับเกมทายปริศนาง่ายๆ ภายในเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ทรัมป์ประสบความสำเร็จได้รับคำมั่นสัญญาเรื่องการใช้จ่ายด้านกลาโหมซึ่งประธานาธิบดีอเมริกันคนอื่นๆ ได้แต่สร้างทฤษฎีวาดฝันถึงเท่านั้น ขณะเดียวกัน การจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธของจีนก็บังคับวอชิงตันให้ต้องยอมปรับแก้มาตรการของตนเสียใหม่อย่างรวดเร็ว สำหรับยุโรปตอบสนองด้วยการไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากการร้องคร่ำครวญที่ว่างเปล่าไร้ความหมาย ภาวะอสมมาตรนี้เปิดเผยให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง กล่าวคือ ขั้วหนึ่งใช้กำลังให้เป็นอาวุธ, อีกขั้วหนึ่งตอบโต้เอาคืนด้วยความเด็ดเดี่ยว, และฝ่ายที่สามเซ็นเช็คยอมจ่ายเงิน
การหวนกลับมาคราวนี้ของทรัมป์ กลายเป็นการเปิดโปงให้เห็นถึงความบกพร่องล้มเหลวในทางยุทธศาสตร์ของอียู แทนที่จะกำหนดเขตแดนที่ห้ามผู้อื่นล่วงล้ำ หรือใช้ประโยชน์จากพลังอำนาจรวมหมู่ของตน พวกผู้นำยุโรปกลับตั้งค่าเริ่มต้นเอาไว้ว่าจะต้องคอยประจบประแจงวอชิงตัน และคอยกล่าวโทษเอาปักกิ่งเป็นแพะรับบาป
พฤติการณ์ “ต่อต้านการทูต” (antidiplomacy) เช่นนี้ ทำให้อียูมีฐานะที่อ่อนแอลงในสายตาของจีน เวลาเดียวกันก็เสนอตัวเป็นข้ารับใช้อเมริกันโดยไม่มีหลักประกันในเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับ
ขณะที่ เม็กซิโก กับ แคนาดา ต่อรองกับสหรัฐฯ ยุโรปกลับโค้งคำนับให้อเมริกาอย่างไม่มีเงื่อนไข ขณะที่จีนตอบโต้เอาคืนอย่างเด็ดเดี่ยว ยุโรปใช้วาจาโวหารคุยโตและยอมจำนนในทางเนื้อหาสาระ ตัวอย่างล่าสุดก็คือ 4 วันหลังจากวอชิงตันยอมอ่อนข้อให้ปักกิ่งในดีลเรื่องแรร์เอิร์ธ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งก็คือองค์การบริหารของอียู) ได้เปิดฉากรุกครั้งใหม่ต่อประเทศจีนด้วยประเด็นเดียวกันนี้ –ราวกับว่าข้อตกลงในเรื่องนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย
อาจจะกล่าวแก้ให้เธอว่านี่เป็นความผิดพลาดในเรื่องจังหวะเวลา ทว่าข้อแก้ตัวนี้ย่อมใช้ไม่ได้กับการแสดงออกซึ่งลักษณะการเป็นข้ารับใช้บนเวทีที่ต้องผ่านการตระเตรียมมาอย่างดี เรื่องนี้เห็นได้จากคำปราศรัยกับที่ปรระชุมซัมมิตกลุ่ม จี7 ของเธอ ซึ่งเทศนาว่าต้องมีความเหนียวแน่นมั่นคง แต่เวลาเดียวกันกลับเพิกเฉยกับจุดอ่อนเปราะจริงๆ ที่ยุโรปมีอยู่
การกล่าวหาจีนว่ากำลังใช้ฐานะเหนือล้ำกว่าใครๆ ของตนในเรื่องแรร์เอิรธ์มา “เป็นอาวุธ” โดยที่เวลาเดียวกันนั้นยุโรปยังคงต้องพึ่งพาพาอาศัยจีนสำหรับแรร์เอิร์ธ 99% ที่ต้องการใช้ ย่อมไม่ผิดอะไรกับการเรียกร้องให้การต่อสู้กันอย่างถึงเลือดถึงเนื้อด้วยมีดมีคม ต้องเล่นกันด้วยความยุติธรรม --นี่แหละคือสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่านโยบาย “ลดความเสี่ยง” (de-risking) ในการพึ่งพาอาศัยจีนของเธอจะนำไปสู่อะไร ดูเหมือนว่าเธอยังไม่ค่อยเข้าใจนักในเรื่องที่ว่าพวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่เขาทำอะไรกัน --พวกเขาหาทางใช้กำลังให้เป็นประโยชน์กันครับ จากนั้นก็มาถึงคำสารภาพของเธอที่ว่า “โดนัลด์เป็นฝ่ายถูก” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรัสเซลส์ได้ยินยอมส่งมอบอำนาจควบคุมให้แก่ทรัมป์มาตั้งนานแล้ว
การยินยอมในเรื่องงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมซึ่งติดตามมา ก็แสดงให้เห็นถึงความน่าสังเวชพอๆ กัน พวกผู้นำยุโรป อย่าง (นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ฟรีดิช) เมร์ซ , (ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล) มาครง, และ (นายกรัฐมนตรีสเปน เปโดร) ซานเชซ ต่างแสดงความเห็นด้วย –โดยปราศจากการอภิปรายถกเถียงในที่สาธารณะใดๆ ทั้งสิ้น— กับการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารขึ้นสู่ระดับเท่ากับ 5% ของจีดีพี ไม่มีการตั้งคำถาม ไม่มีการแถลงแสดงหลักเหตุผล ทรัมป์ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องต้องการสิ่งนี้ด้วยซ้ำไป พวกเขาอาสาที่จะยอมจำนนด้วยตัวพวกเขาเอง ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ยุโรปยังคงมัวแต่สาละวนอยู่กับเรื่องความนิยมของประชาชนในตัวทรัมป์ รวมทั้งเรื่องที่ว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง ผู้คนเหล่านี้กลับพลาดไม่ได้มองเรื่องที่สำคัญจริงๆ ซึ่งก็คือ ทรัมป์กำลังได้รับในสิ่งที่เขาเรียกร้องต้องการแล้ว
คำมั่นสัญญาเรื่องเพิ่มงบประมาณกลาโหมสู่ระดับ 5%ของจีดีพีนี้ –ที่ประกาศออกมาภายหลังจากเลขาธิการใหญ่องค์การนาโต้ มาร์ก รึตเตอร์ ก็ได้แสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามตนเองไปแล้วเช่นกัน – คือของขวัญที่มอบให้แก่อุตสาหกรรมอาวุธของสหรัฐฯ ทรัมป์ระบุตัวพนักงานเก็บเงินของเขา และยุโรปก็ยื่นเช็คเปล่าให้แก่บริษัทอาวุธอเมริกันอย่าง ล็อกฮีด มาร์ติน, อาร์ทีเอ็กซ์, และ นอร์ธรอป กรัมมัน ยุโรปออกเงินทุนให้การทหารของอเมริกาฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ในเวลาเดียวกับที่สังเวยอำนาจปกครองอย่างอิสระของตนเอง ด้วยการยึดมั่นแน่นเหนียวกับมายาภาพที่ว่าการจ่ายเงินซื้อเช่นนี้จะทำให้ได้รับการพิทักษ์คุ้มครองจากอเมริกาไปตลอดกาล
ความหมกมุ่นอยู่กับการต่อต้านจีน
นโยบายว่าด้วยจีนของยุโรปเปิดเผยให้เห็นถึงขั้นตอนที่ร้ายแรงที่สุดของการเอาแต่พึ่งพาสหรัฐฯ มันช่างเป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นปรปักษ์ ที่ปราศจากทั้งการใช้กำลังให้เป็นประโยชน์, การร่วมมือประสานงานกัน, หรือการปิดเกมใดๆ ทั้งสิ้น ทุกๆ มาตรการในการต่อต้านจีนของยุโรป –ตั้งแต่การจำกัดเข้มงวดเทคโนโลยีสื่อสาร 5จี จนถึงการขึ้นภาษีศุลกากรรถอีวี –มีต้นกำหนดอยู่ในคู่มือการเล่นเกมของวอชิงตัน บรัสเซลส์เพียงแต่ถ่ายสำเนามา จากนั้นก็รีแบรนด์เสียใหม่โดยระบุว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างอิสระของยุโรป
การแสดงออกอย่างย้อนแย้งเช่นนี้ แน่นอนทีเดียวว่าย่อมให้เกิดการล้อเลียนอย่างเจ็บแสบ ขณะที่ยุโรปประกาศมาตรการแซงก์ชั่นเอากับเทคโนโลยีจีน วอชิงตันกลับกดดันยุโรปให้ต้องยินยอมอ่อนข้อต่อตนเองด้วยวิธีออกแรงบีบคั้นซึ่งๆ หน้า ขณะที่บรัสเซลส์เทศนาสอนสั่งจีนอย่างผู้มีศีลธรรมสูงส่งในเรื่องไม่ควรใช้อำนาจบังคับในทางเศรษฐกิจ ทรัมป์กลับขึ้นภาษีศุลกากรในอัตราสูงขึ้น 50% เอากับพวกสินค้าส่งออกของยุโรป ความขัดแย้งเช่นนี้เปิดโปงให้เห็นถึงความสับสนของยุโรป กล่าวคือ ขณะที่ยุโรปยอมรับถ้อยคำโวหารแบบเป็นปรปักษ์ที่อเมริกาใช้กับจีนรวมทั้งนำเอามาใช้เป็นองตนเองด้วย ทว่าเวลาเดียวกันนั้นก็ยอมรับการที่อเมริกาปฏิบัติตนอย่างเป็นปรปักษ์กับยุโรปแต่โดยดี
หลักฐานในเรื่องนี้มีอยู่อย่างมากมายท่วมท้น เป็นต้นว่า ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรอัตรา 50% เอากับอียูโดยปราศจากเหตุผลความชอบธรรม, สกัดกั้นสินค้าออกสำคัญๆ, บีบคั้นยุโรปให้ตัดรอนการค้ากับจีน, แสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามยุโรป ณ (การประชุมความมั่นคง) มิวนิก, เรียกร้อง 5%ของจีดีพีเพื่อมาซื้ออาวุธอเมริกัน, และบีบคั้นอุตสาหกรรมต่างๆ ของยุโรปให้แห้งเหี่ยวโดยวิธีใช้มาตรการอุดหนุนแบบตั้งเป้าหมาย เวลาเดียวกับที่บรัสเซลส์กล่าวหาปักกิ่งว่าใช้ยุทธวิธีที่ไม่เป็นธรรมอยู่นั้น วอชิงตันก็นำเอาพวกยุทธวิธีที่รุนแรงกว่านั้นเสียอีกมาใช้กับยุโรป –แถมเป็นการใช้อย่างเปิดเผยและอย่างไม่มีท่าทีเสียใจสำนักผิดใดๆ อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น แทนที่จะใช้วิธีเปิดช่องทางการทูตเพิ่อปลดชนวนความตึงเครียดทางการค้า หรือแก้ไขรับมือกับปัญหาการพึ่งพิงซัปพลายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด พวกผู้นำยุโรปกลับเลือกที่จะแสดงตัวเป็นผู้มีศีลธรรมสูงส่งและใช้มาตรการจำกัดเข้มงวดอันผิดพลาด จีนถูกยุโรปประทับตราว่าเป็น “ผู้มีบางส่วนเป็นพวกมุ่งประสงค์ร้าย” และ เป็น “ผู้ที่สามารถตัดสินชี้ขาด” สงครามของรัสเซียในยูเครน แล้วพวกผู้กำหนดนโยบายของยุโรปก็สร้างกรอบโครงใหม่ของ “ภัยคุกคามความมั่นคง” ขึ้นมา ในขณะที่บรัสเซลส์ยกระดับขยายถ้อยคำโวหารให้รุนแรงขึ้นไปอีกอยู่นี้เอง ทรัมป์กลับหันมาเปิดโปงให้เห็นถึงความจริง นั่นคือ การวางท่าวางทางทั้งหมดเหล่านี้ของยุโรปล้วนแต่สร้างขึ้นบนเรื่องเล่าต่างๆ ที่หยิบยืมมาจากอเมริกาทั้งหมดทั้งสิ้น
การที่พวกผู้นำอียูเดินทางประดุจดังการไปจาริกแสวงบุญยังวอชิงตัน –ขณะที่หลีกเลี่ยงไม่ไปปักกิ่ง – ทำให้อาการมืดบอดเช่นนี้ยิ่งชัดเจนแจ๋วแหวว พวกเขาปฏิบัติตัวเหมือนกับว่าความถูกต้องเหมาะสมของยุโรปนั้นต้องผ่านการอนุมัติรับรองจากอเมริกาแล้วเท่านั้น โดยพร้อมเพิกเฉยละเลยการมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับจีนซึ่งเป็นเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก สิ่งซึ่งสามารถที่จะกลายเป็นการทูตลักษณะสามเหลี่ยมขึ้นมาได้ จึงกลับกลายเป็นการอ้อนวอนร้องขอแบบเส้นตรงเท่านั้น
กรณีของ ฟรีดริช เมร์ซ ต้องถือว่าฉาวโฉ่มากเป็นพิเศษ ในการกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศครั้งแรกของเขา เขาเอาแต่ทำตัวเป็นนกแก้วนกขุนทองพูดจาลอกเลียนคนอื่นด้วยการแต่งวลี “อักษะแห่งระบอบเผด็จการ” ซึ่งรวมเอา จีน, รัสเซีย, อิหร่าน, และเกาหลีเหนือ มากองรวมๆ กันเป็นภัยคุกคามแบบไม่มีการจำแนกแยกแยะ –ขณะที่วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีเกาศีรษะด้วยความสงสัยว่ามีใครหนอที่จะพูดจาเป็นตัวแทนของพวกเขาได้บ้าง
เขาเรียกร้องให้มีการปรากฏตัวทางนาวีของยุโรป “อย่างถาวร” ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งต้องถือเป็นจินตนาการเพ้อฝันในขณะที่ยุโรปยังต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่เลยเพื่อให้ความสนับสนุนยูเครน เขาเตือนพวกธุรกิจเยอรมันว่าการลงทุนในประเทศจีน “มีความเสี่ยงมหาศาล” และพูดอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลของเขาจะไม่ช่วยเหลือกอบกู้พวกเขาออกมาหรอกเมื่อประสบภัย ณ ที่ประชุมความมั่นคงมิวนิก ความเคารพเชื่อฟังวอชิงตันของเขาก็ได้รับการตอบสนองอย่างที่สมควรจะได้รับ เมื่อ (รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ) เจดี แวนซ์ มองเมินเขา และกลับหันไปพบพูดจากับ AfD (พรรคการเมืองแนวทางขวาจัด) เป็นอันว่าข้อความที่เหมาะที่ควร ได้มีการส่งได้มีการรับกันเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว
ความเสื่อมถอย
ทรัมป์นั้นไม่เหมือนกับพวกผู้นำทางฝั่งยุโรป เขาใช้วิธีการติดต่อกับจีนที่ทั้งโหดร้ายทว่าอยู่ในร่องในรอยสม่ำเสมอ เขาให้คุณค่ากับกำลังอำนาจ ไม่ใช่การประจบประแจง ส่วน สี ก็ไม่เคยยอมอ่อนข้อค้อมหัว เมื่อวอชิงตันเล่นเกมยกระดับบานปลาย ปักกิ่งก็ตอบโต้ด้วยการแก้เผ็ดเอาคืนอย่างเหมาะสมพอดิบพอดี ไม่ใช่ด้วยการแถลงป่าวร้อง ความเคลื่อนไหวแบบระบบราชการแค่ก้าวเดียวก็ทำให้จีนสามารถเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมแรร์เอิร์ธ และบีบบังคับให้ทำเนียบขาวต้องปรับแก้มาตรการของตนเสียใหม่ นี่แหละคือวิธีการทำงานของกำลังอำนาจ –ซึ่งเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ยุโรปปฏิเสธไม่ยอมเรียนรู้
การเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับปักกิ่งที่ทรัมป์ได้วางแผนเอาไว้ –ด้วยการจองเที่ยวบินไปจีนเพื่อการพูดจาปรับความสัมพันธ์เข้าสู่ระดับปกติโดยที่มีพวกซีอีโอระดับท็อปร่วมทาง และด้วยการตระเตรียมด้านการทูตในระดับสูง— เป็นการทำความเสียหายอย่างไม่มีชิ้นดีให้แก่ประดาสมมุติฐานของฝ่ายยุโรปเกี่ยวกับนโยบายจีนของทางอเมริกัน บางทีแผนการของทรัมป์นั้นอาจจะไม่เคยต้องการประจันหน้ากับจีนเพียงเพื่อให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นมาเท่านั้น แต่ต้องการอาศัยเป็นเครื่องต่อรองเพื่อไปสู่การทำความตกลงกันต่างหาก มาถึงตอนนี้มันก็ชัดเจนแล้ว นั่นคือ ทรัมป์มีความตั้งใจที่จะกำหนดกรอบสายสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนกันใหม่ในสมัยการดำรงตำแหน่งของเขา
ผลที่ติดตามมาคือทำให้ยุโรปต้องตกอยู่ในอาการย่อยยับอับจน ยุโรปได้ใช้เงินทุนทางการเมืองไปมาก ในการจัดแนวตั้งแถวเพื่อรับมือกับสิ่งที่พวกเขาทึกทักเอาไว้ว่าคือการประจันหน้ากันอย่างถาวรระหว่างฝ่ายอเมริกันกับฝ่ายจีน เพียงเพื่อที่จะมาค้นพบว่าวอชิงตันยังคงมองปักกิ่งว่าเป็นหุ้นส่วนที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้รายหนึ่ง ขณะที่ปฏิบัติต่อบรัสเซลส์ในฐานะเป็นบริวารผู้ว่าได้ใช้ฟังรายหนึ่ง การวางจุดยืนต่อต้านจีนของ ฟอน แดร์ ไลเอิน ที่วางแผนขึ้นมาด้วยหวังจะได้รับความนิยมชมชื่นจากทำเนียบขาว กำลังกลายเป็นเครื่องรับประกันว่ายุโรปจะถูกกีดกันออกไปจากการรีเซตสายสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-จีน ซึ่งจะเป็นตัวนิยามจำกัดความสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจระดับโลก
อันที่จริงแล้ว ยุโรปสมควรสามารถกำหนดลำดับเรื่องสำคัญๆ ของตนเองได้อย่างชัดเจน มุ่งหน้าพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และคอยรักษาระยะที่อยู่ห่างจากอภิมหาอำนาจสองรายนี้ให้เท่าๆ กันเข้าไว้ ยุโรปสมควรสามารถกำหนดเส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิดกับทรัมป์ขึ้นมา มุ่งปกป้องฐานอุตสาหกรรมของตนเอง และเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับจีนโดยคำนึงถึงผลในทางปฏิบัติ ทว่าตรงกันข้าม ยุโรปกลับเลือกที่จะเคารพเชื่อฟังสหรัฐฯ, เชิดชูหลักศีลธรรมสูงส่ง, และฐานะความเป็นบริวารที่อยู่ทางอีกฟากฝั่งหนึ่งของแอตแลนติก –ช่างเป็นส่วนผสมอันเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ทีเดียวสำหรับการเจรจาต่อรองใดๆ ที่จะเกิดขึ้น
เส้นทางของยุโรปจึงนำไปสู่ความเสื่อมถอยที่เกิดจากการบริหารจัดการของตนเอง แต่เสแสร้งอำพรางว่ามันคือความซื่อสัตย์ภักดีต่อพันธมิตร งบประมาณกลาโหมซึ่งเพิ่มสูงขึ้นลิบลิ่วจะสูบเอาเงินใช้จ่ายด้านสังคมจนแห้งเหือด เวลาเดียวกับที่มีการนำเข้าอาวุธอเมริกันมาแข่งขันกับพวกอุตสาหกรรมการผลิตของยุโรปเอง การค้าจะผันผวนขึ้นลงอยู่ระหว่างความต้องการของอเมริกันและการตอบโต้แก้เผ็ดของจีน โดยที่อุตสาหกรรมของยุโรปกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่พวกเขาทั้งคู่ ความริเริ่มทางการทูตทั้งหลายแหล่ต้องขึ้นอยู่กับการอนุมัติรับรองจากวอชิงตันเสียก่อน ขณะทีปักกิ่งกำลังหันไปสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ขึ้นมา
พวกผู้นำยุโรปไม่กี่คนซึ่งต่อต้านสิ่งเหล่านี้ –โดยที่โดดเด่นเตะตาก็คือ จอร์จา เมโลนี (นายกรัฐมนตรี) ของอิตาลี –ก็เป็นปากเสียงให้แก่พวกเขาเอง ไม่ใช่ให้แก่ยุโรป มันไม่ได้มีปากเสียงร่วมกันอะไรเลย, ไม่ได้มีเข็มทิศชี้ทางใดๆ, ไม่ได้มีเรื่องเล่าที่คล้องจองเหนียวแน่นใดๆ สิ่งที่ยังเหลืออยู่เวลานี้คือกลุ่มๆ หนึ่งที่รวมตัวกันโดยสามารถที่จะแสดงปฏิกิริยา, ปรับตัว, และยอมจำนน ทว่าไม่สามารถทำหน้าที่ชี้นำใดๆ
ในเวลาเดียวกันนี้ สหรัฐฯและจีนต่างใช้พากันใช้กำลังให้เป็นประโยชน์สำหรับระยะยาว สภาพเช่นนี้ทอดทิ้งให้ยุโรปเหลือทางเลือกอยู่ 2 ทาง:
ประการแรก การทูตลักษณะรูปสามเหลี่ยม นั่นคือ แทนที่จะต้องคอยเลือกว่าจะอยู่ข้างวอชิงตันหรืออยู่กับปักกิ่ง ยุโรปจะต้องทำให้เมืองหลวงทั้งสองแห่งนี้แข่งขันช่วงชิงกันเพื่อให้ยุโรปร่วมมือด้วย
ประการที่สอง นโยบายทางอุตสาหกรรมของยุโรปต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกแก่ความเป็นอิสระทางเทคโนโลยี โดยต้องอยู่เหนือเรื่องการจับกลุ่มรวมตัวเชิงอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ทรงความสำคัญยิ่งยวด, การผลิตในด้านกลาโหม, และโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ล้วนแล้วแต่ต้องให้ยุโรปได้เป็นผู้ควบคุม โดยไม่สนใจใยดีว่าอเมริกันชื่นชอบพึงพอใจแบบไหน
ถ้าหากยุโรปยังคงคอยทำหน้าที่อุดหนุนพวกอุตสาหกรรมกลาโหมอเมริกัน ขณะเดียวกับที่มีความแปลกแยกจากตลาดจีน, คอยป่าวร้องหลักศีลธรรมสูงส่งว่าด้วยค่านิยมต่างๆ ขณะเดียวกับที่ยังต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นๆ ยุโรปก็จะต้องเผชิญหน้ากับความจริงอันแสนยากลำบาก ซึ่งก็คือ การมีอำนาจอย่างอิสระจะกลายเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น จำเป็นจะต้องมีความสามารถในการบังคับให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามผลประโยชน์ของตนเองให้ได้ด้วย
สำหรับในเวลานี้ การแสดงออกของยุโรปว่าเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใคร รังแต่จะอยู่ในอาการผิดฝาผิดตัวเท่านั้นเอง คำพูดมีแต่จะได้เสียงปรบมือจากพวกบริวารของคุณเท่านั้น ขณะที่การใช้กำลังให้เป็นประโยชน์กลับก่อให้เกิดผลลัพธ์ ด้วยเหตุนี้ ยุโรปจะสามารถทำได้ดีก็ต่อเมื่อหวนรำลึกถึงสติปัญญาของหนึ่งในนักคิดผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของตนที่กล่าวเอาไว้ว่า การทำให้ตนเองเป็นที่เกรงกลัวนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการทำให้เป็นที่รัก ถ้าหากท่านไม่สามารถทำให้ได้ทั้งสองอย่างนี้
เซบาสเตียน คอนติน ตริลโล-ฟิเกอโรอา เป็นนักยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ฮ่องกง โดยจุดโฟกัสความสนใจของเขาคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับเอเชีย