พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯในวันพุธ(2มิ.ย.) ออกมาปัดเป่าความกังวลกรณีที่ทำเนียบขาวแถลงว่าวอชิงตันกำลังระงับส่งมอบอาวุธบางส่วนแก่ยูเครน ยืนยันยังมีทางเลือกอื่นในด้านความช่วยเหลือทางทหาร ความเคลื่อนไหวที่มีขึ้นหลังจากมันสร้างความตกอกตกใจแก่เคียฟ ที่ร้องขอความชัดเจนในเรื่องนี้
ยูเครนกำลังเผชิญกับการโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนครั้งใหญ่ที่สุดหนหนึ่งของรัสเซียในสงครามที่ยืดเยื้อมากกว่า 3 ปี และการระงับส่งมอบกระสุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการป้องกันภัยทางอากาศ จะก่อความเสียหายอย่างหนักแก่เคียฟ
"กระทรวงกลาโหมยังคงมอบทางเลือกที่หนักแน่นต่างๆแก่ประธานาธิบดี ในแง่ของความช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบแก่ยูเครน สอดคล้องกับเป้าหมายของประธานาธิบดี ที่ต้องการนำพาสงครามที่น่าเศร้านี้ไปสู่จุดจบ" ฌอน พาร์เรลล์ โฆษกเพนตากอนบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันพุธ(2ก.ค.)
ขณะดียวกัน ทอมมี บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้แจงกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "มันไม่ใช่การหยุดความช่วยเหลือของเราที่มอบแก่ยูเครนหรือยุติการมอบอาวุธ นี่เป็นเพียงแค่กรณีหนึ่งและสถานการณ์หนึ่ง และเราจะมีการหารือเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"
ทำเนียบขาวเปิดเผยในวันอังคาร(1ก.ค.) ว่าจะระงับส่งมอบอาวุธสำคัญๆบางส่วนแก่ยูเครน ตามที่รัฐบาลของโจ ไบเดน เคยรับปากไว้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆว่ามันครอบคลุมอาวุธชนิดใดบ้าง
ถ้อยแถลงระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากได้มีการทบทวนความจำเป็นด้านการป้องกันตนเองของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับความจำเป็นด้านความช่วยเหลือทางทหารที่จะมอบแก่ต่างชาติประเทศอื่นๆ
เว็บไซต์ข่าวโพลิติโกและสื่อมวลชนอื่นๆของสหรัฐฯ รายงานว่าขีปนาวุธสำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออต ปืนใหญ่ที่มีความแม่นยำสูงและขีปนาวุธเฮลล์ไฟร์ เป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่จะถูกระงับส่งมอบ
อย่างไรก็ตามทาง บรูซ อ้างว่า "ประธานาธิบดีบ่งชี้ว่าเขายังมีคำมั่นสัญญาในเรื่องของขีปนาวุธแพทริออต" อ้างถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการโจมตีของรัสเซีย
เคียฟ แสดงความกังวลมาช้านานต่อกรณีที่สหรัฐฯจะระงับความช่วยเหลือ ตามหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาวในเดือนมกราคม ในขณะที่ประธานาธิบดีรายนี้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีที่ โจ ไบเดน ผู้นำคนก่อน ให้เงินสนับสนุนเคียฟ ทั้งในด้านความช่วยเหลือและด้านอาวุธ เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวปราศรัยในช่วงค่ำ ระบุว่าเคียฟและวอชิงตันกำลังหาความชัดเจนในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธ "การเดินหน้าให้การสนับสนุนยูเครนของสหรัฐฯ เพื่อการป้องกันตนเองของเรา และเพื่อประชาชนของเรา คือผลประโยชน์ร่วมกัน"
กระทรวงการต่างประเทศยูเครน เรียก จอห์น กินเคล รองหัสหน้าคณะผู้แทนทูตของสถานทูตสหรัฐฯประจำกรุงเคียฟเข้าพบ ความเคลื่อนไหวทางการทูตที่ไม่พบเห็นบ่อยนัก ซึ่งปกติแล้วมันมีไว้สำหรับคู่อริหรือคู่แข่ง ไม่ใช่พันธมิตรที่สำคัญเช่นนี้ บ่งชี้ว่าความไม่แน่นอนของการระงับส่งมอบอาวุธ มีความหมายสำหรับยูเครนมากแค่ไหน
ภายใต้รัฐบาลของไบเดน ทางวอชิงตันเป็นแกนนำของตะวันตกในการมอบแรงสนับสนุนแก่ยูเครน โดยสภาคองเกรสอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่เคียฟมากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ในนั้นรวมถึง 43,000 ล้านดอลลาร์ ที่เป็นเงินช่วยเหลือด้านอาวุธ
แต่สำหรับทรัมป์แล้ว เขาผลักดันให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ ในนั้นรวมถึงการพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย แม้ทาง ปูติน ปฏิเสธซ้ำๆต่อเสียงเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงและประสงค์ให้ยูเครนยอมสละดินแดน หากต้องการให้มอสโกหยุดการรุกราน ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อปี 2022
ทรัมป์ ปฏิเสธแถลงแพ็คเกจความช่วยเหลือใหม่แก่ยูเครน ทำให้เคียฟต้องหันไปโน้มน้าวบรรดาพันธมิตรยุโรปของวอชิงตัน ให้ยกระดับแรงสนับสนุนของพวกเขา
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพยูเครนบอกกับเอเอฟพีว่า "เคียฟยังคงพึ่งพิงเสบียงอาวุธของสหรัฐฯอย่างมาก ยุโรปทำดีที่สุดแล้ว แต่มันเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเรา หากปราศจากกระสุนของอเมริกา"
ในมอสโก วังเครมลินแสดงความเห็นว่าการที่สหรัฐฯลดส่งมอบอาวุธแก่ยูเครน จะช่วยทำให้ความขัดแย้งยุติลง "อาวุธที่ส่งมอบแก่ยูเครนน้อยลง ทำให้จุดสิ้นสุดของปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารใกล้เข้ามาแล้ว" ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลินกล่าว
(ที่มา:เอเอฟพี)