xs
xsm
sm
md
lg

ตุรกีจับ 3 ศิลปินวาดการ์ตูนล้อ 'นบีมูฮัมหมัด' ด้านนิตยสารโวย 'ถูกเข้าใจผิด'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทางการตุรกีควบคุมตัวนักวาดการ์ตูน 3 คนเมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) กรณีวาดภาพการ์ตูนเสียดสีตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ Leman ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นภาพของศาสดาโมเสสและศาสดามูฮัมหมัดจับมือกันบนท้องฟ้า โดยเบื้องล่างมีขีปนาวุธลอยข้ามไปมาดูคล้ายกับฉากสงคราม

ภาพการ์ตูนดังกล่าวซึ่งถูกมองว่ามีเจตนาสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความสามัคคีทางศาสนาที่แตกต่างจากความขัดแย้งบนโลก ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางศาสนาในตุรกี

อาลี เยอร์ลิกายา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยตุรกี แชร์คลิปวิดีโอบน X ซึ่งแสดงให้เห็นตำรวจเข้าควบคุมตัว โดกัน เปห์เลวาน (Dogan Pehlevan) นักวาดการ์ตูนคนหนึ่ง และลากเขาขึ้นบันไดของอาคารโดยที่มือของเขาถูกใส่กุญแจมือไว้ข้างหลัง

“ผมขอสาปแช่งผู้ที่พยายามสร้างความขัดแย้งด้วยการวาดภาพล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดของเราอีกครั้ง” เยอร์ลิกายา ระบุ

“ ดี.พี. บุคคลที่วาดภาพอันน่ารังเกียจนี้ ถูกจับกุมและคุมขังแล้ว คนไร้ยางอายเหล่านี้จะต้องรับโทษตามกฎหมาย”

ต่อมา เยอร์ลิกายา ยังได้โพสต์วิดีโออีก 2 คลิป ซึ่งเป็นภาพชายอีก 2 คนถูกจับให้นอนลงกับพื้น และถูกพาตัวออกจากบ้านโดยใช้กำลัง ขณะที่ตำรวจลากพวกเขาขึ้นรถตู้ โดยหนึ่งในนั้นเดินเท้าเปล่า

ยิลมาซ ทันค์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมตุรกี ยืนยันว่าได้เปิดการสอบสวนตามมาตรา 216 ของประมวลกฎหมายอาญาตุรกี ซึ่งถือว่าการยุยงให้เกิดความเกลียดชังและเป็นศัตรูเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และได้ออกคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 6 ราย

ในคำแถลงบน X นิตยสาร Leman ได้ขอโทษผู้อ่านที่รู้สึกไม่พอใจ และยืนยันว่าภาพการ์ตูนดังกล่าว "ถูกเข้าใจผิด"

ทางนิตยสารยังกล่าวอีกว่า เปห์เลวาน เพียงอยากจะเน้นย้ำถึง "ความทุกข์ทรมานของชายชาวมุสลิมที่เสียชีวิตในการโจมตีของอิสราเอล" และไม่มีเจตนาดูหมิ่นศาสนาอิสลามหรือศาสดาของอิสลาม

“ชื่อมูฮัมหมัดเป็นชื่อที่ชาวมุสลิมใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในโลกเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสดา การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้แสดงถึงศาสดา และไม่ได้วาดขึ้นเพื่อล้อเลียนค่านิยมทางศาสนา” นิตยสารดังกล่าวระบุ และย้ำว่าการตีความบางอย่าง “มีเจตนาที่เป็นอันตราย”

นิตยสาร Leman ยังเรียกร้องให้ฝ่ายตุลาการมีมาตรการต่อต้านการใส่ร้ายป้ายสี และขอให้กองกำลังความมั่นคงปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก

ก่อนหน้านั้นในช่วงเย็น มีการแพร่คลิปวิดีโอทางโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนไปยังอาคารสำนักงานของ Leman ใจกลางนครอิสตันบูล โดยป่าวร้องสโลแกนและพยายามเตะประตูทางเข้า

ตุรกีเป็นชาติที่อยู่ในอันดับต่ำต่อเนื่องในด้านเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งสะท้อนถึงข้อจำกัดอย่างมากต่อการทำงานของสื่อมวลชนและการอภิปรายในที่สาธารณะ

องค์กร Reporters Without Borders จัดอันดับตุรกีไวที่ 158 จาก 180 ประเทศในดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2024

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น