(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Many upshots of Iran’s strike on US forces in Qatar
by Naina Sharma
24/06/2025
เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯใช้ลูกระเบิดยักษ์ บังเกอร์ บัสเตอร์ ถล่มใส่สถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของตน อิหรานได้ตอบโต้เอาคืนด้วยการยิงขีปนาวุธเข้าโจมตีฐานทัพอากาศสหรัฐฯอัล อูเดอิด ในกาตาร์ มันเป็นการโจมตีที่ผ่านการคิดคำนวณมาอย่างสุขุมและมีขอบเขตจำกัดก็จริง แต่กระนั้นก็ก่อให้เกิดคำถามเร่งด่วนเกี่ยวกับการป้องปรามของสหรัฐฯ
ในวันที่ 23 มิถุนายน 2025 อิหร่านยิงขีปนาวุธชุดใหญ่เข้าใส่ฐานทัพอากาศ อัล อูเดอิด (Al Udeid Air Base) ในกาตาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาคตะวันออกกลาง การโจมตีครั้งนี้ซึ่งตามรายงานระบุว่าใช้ชื่อว่า “ยุทธการ บาชารัต อัล-ฟัต” (Operation Basharat al-Fath) (ภาษาอังกฤษใช้ว่า Glad Tidings ข่าวที่น่ายินดี) คือการที่อิหร่านตอบโต้เอาคืนโดยตรงสำหรับการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สั่งโจมตีทางอากาศใส่สถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน 3 แห่งเมื่อไม่กี่วันวันก่อนหน้านั้น
ขณะที่ขีปนาวุธ 14 ลูกซึ่งอิหร่านยิงออกไป แทบทั้งหมดได้ถูกสกัดกั้นโดยระบบป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯและของกาตาร์ แต่ก็มีลูกหนึ่งซึ่งตกลงใกล้ๆ ฐานทัพแห่งนั้น โดยไม่ได้ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย ทว่าพิจารณาในแง่มุมทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว การโจมตีคราวนี้ก็ทำให้แผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่นกันทีเดียว ขณะที่อิหร่านได้เคยโจมตีกองทหารสหรัฐฯโดยตรงมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิรักเมื่อปี 2020 –แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่อิหร่านเข้าโจมตีฐานทัพสหรัฐฯซึ่งตั้งอยู่ภายในดินแดนประเทศสมาชิกของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC)
ดังนั้น การโจมตี อัล อูเดอิด จึงเป็นหลักหมายของการตีจากขอบเขตเดิมๆ อย่างห้าวหาญ กล่าวคือ มันเป็นการตักเตือนอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน และผ่านการขบคิดคาดคำนวณมาอย่างดีว่า การปรากฏตัวทางทหารของสหรัฐฯในอ่าวอาหรับ ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่ารัฐที่เป็นเจ้าบ้านจะได้รับความคุ้มครองป้องกันให้ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว พวกเจ้าหน้าที่อิหร่านได้กล่าวเตือนเอาไว้ก่อนแล้วว่า การที่อเมริกันโจมตีเล่นงานดินแดนอิหร่านนั้น จะเป็นการ “ขยายขอบเขตของพวกเป้าหมายอันชอบธรรมที่อิหร่านสามารถเล่นงานได้”
และภัยคุกคามเช่นว่านั้น เวลานี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่สมมุติฐานเชิงทฤษฎีอีกต่อไปแล้ว เพราะด้วยการโจมตี อัล อูเดอิด อิหร่านก็ได้กำหนดจัดวางฐานทัพสหรัฐฯบนดินแดนอาหรับทั้งหลายให้อยู่ภายในกรอบโครงที่ตนสามารถตอบโต้เอาคืนได้อย่างแน่นอนชัดเจน
กาตาร์นั้นได้ตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ด้วยการสั่งปิดน่านฟ้าของตน และภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมาทั้ง บาห์เรน, คูเวต, อิรัก, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็กระทำตาม จึงกลายเป็นการปิดระเบียงทางอากาศที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดพื้นที่หนึ่งของโลกทีเดียว
เที่ยวบินพาณิชย์ทั้งหลายต่างต้องยกเลิกหรือไม่ก็เบี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น
สายการบินกาตาร์แอร์เวยส์ ประสบกับการสะดุดติดขัดครั้งใหญ่ แม้กระทั่งท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ ก็ต้องระงับการปฏิบัติงานเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ผลกระทบต่อเนื่องทางเศรษฐกิจจากแค่เหตุการณ์โจมตีครั้งหนึ่งเช่นนี้ ถือเป็นการวาดภาพให้เห็นถึงความเปราะบางของโครงสร้างพื้นฐานในย่านอ่าวอาหรับเมื่อต้องเผชิญกับการสู้รบขัดแย้งโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านขึ้นมา
ถึงแม้มีการเปิดน่านฟ้าขึ้นมาใหม่ในเวลาต่อมา แต่ภูมิภาคนี้ก็อยู่ในอาการหวั่นไหว กระทั่งพวกรัฐอ่าวอาหรับที่เกิดปัญหาตึงเครียดกับกาตาร์ในช่วงหลังๆ นี้อย่างเช่น บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ยังต้องรีบแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับกาตาร์ บาห์เรนเรียกการโจมตีคราวนี้ว่าเป็น “การละเมิดอธิปไตย (ของกาตาร์) อย่างโจ่งแจ้ง” ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เตือนว่า “จำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องลดระดับสถานการณ์ไม่ให้บานปลายออกไป”
การโจมตีของอิหร่านจึงไม่เพียงแค่เพิ่มเดิมพันทางการทหารเท่านั้น แต่ยังจุดชนวนให้เกิดช่วงขณะอันหาได้ยากแห่งความเป็นเอกภาพทางการทูตซึ่งเกิดขึ้นมาจากความอ่อนแอที่มีอยู่ร่วมกัน
บททดสอบการป้องปรามของสหรัฐฯ
สำหรับวอชิงตันแล้ว การโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิหร่านครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามเร่งด่วนขึ้นมาในเรื่องเกี่ยวกับการป้องปราม สหรัฐฯอ้างความชอบธรรมให้แก่การปรากฏตัวทางทหารของตนในอ่าวอาหรับว่า เพื่อเป็นโล่คุ้มครองป้องกันบรรดาพันธมิตร และเพื่อเป็นตัวคอยทัดทานอิหร่าน แต่แล้วเตหะรานกลับแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความปรารถนาที่จะเล็งเป้าหมายเล่นงานพวกทรัพย์สินของสหรัฐฯโดยตรงกันทีเดียว ถึงแม้เผชิญความเสี่ยงก็ตามที
ทรัมป์ได้คุยโวเอาไว้ว่า การโจมตีตามคำสั่งของตนได้ทำให้โครงการพื้นฐานทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน “ถูกทำลายจนสิ้นซาก” รวมทั้งเตือนสำทับเอาไว้ว่าถ้าอิหร่านกล้าที่จะแก้แค้นเอาคืน ก็จะเจอ “ผลพวงต่อเนื่องระดับหายนะ” อิหร่านกลับแสดงท่าทีที่ตรงกันข้าม ด้วยการตอบโต้ในลักษณะที่พอสมน้ำสมเนื้อ ทว่ามีลักษณะเชิงสัญลักษณ์สูง โดยยิงขีปนาวุธในจำนวนเดียวกับลูกระเบิดที่สหรัฐฯทิ้งลงมา มุ่งหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการบาดเจ็บล้มตาย และไม่ยุ่งกับโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน
ความตั้งใจกำหนดมาตรการตอบโต้อย่างพอสมน้ำสมเนื้อเช่นนี้มีความสำคัญ ตามคำบอกเล่าของตัวทรัมป์เอง อิหร่านยังได้ออกคำเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการโจมตีคราวนี้ด้วย นี่เปิดทางให้การป้องกันของฝ่ายสหรัฐฯและกาตาร์มีการเตรียมตัว กระนั้นข้อเท็จจริงที่ว่ายังคงมีขีปนาวุธลูกหนึ่งหลุดลอดผ่านเข้าไป และบินไปตกอยู่ใกล้ๆ บุคลากรสหรัฐฯขนาดนี้ ย่อมเพียงพอที่จะสั่นคลอนความมั่นอกมั่นใจได้
อัล อูเดอิด ไม่เพียงเป็นฐานที่ตั้งของการปฏิบัติการต่างๆ ของกองบัญชาการทหารด้านกลางแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ (US Air Forces Central Command) เท่านั้น แต่ยังมีบุคลากรชาวอเมริกันประจำการอยู่หลายพันนาย ที่นี่ยังเป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงสำหรับการปฏิบัติการในอิรัก, ซีเรีย, และอัฟกานิสถาน มายาวนานแล้วอีกด้วย
การที่อิหร่านมีความสามารถที่จะเข้าโจมตีฐานทัพแห่งนี้ แม้กระทั่งเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นก็ตามที เป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆ ของระบบการป้องกันขีปนาวุธ รวมทั้งเปิดเผยให้เห็นถึงความเป็นจริงอย่างใหม่ นั่นคือ เตหะรานสามารถไปถึงกระทั่งพวกสถานที่ตั้งซึ่งเป็นป้อมปราการแข็งแรงที่สุดของอเมริกัน
”อ่อนแรงมากๆ” หรือน่าวิตกกังวลมากๆ?
ประธานาธิบดีทรัมป์บอกปัดไม่ให้น้ำหนักแก่การโจมตีครั้งนี้ โดยเรียกว่าเป็นการตอบโต้ที่ “อ่อนแรงมากๆ” เขาเน้นย้ำเรื่องที่ไม่มีชาวอเมริกันหรือชาวกาตาร์เป็นอันตรายเลย แต่ถ้อยคำวาจาเช่นนี้ ซึ่งมุ่งหมายที่จะสำแดงออกถึงความเหนือชั้นกว่าของฝ่ายตน มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการทำให้พวกพันธมิตรของสหรัฐฯเกิดความแปลกแยก เนื่องจากว่า หากพิจารณาจากทัศนะมุมมองของกาตาร์แล้ว การที่มีขีปนาวุธ 14 ลูกตกโปรยปรายลงมายังดินแดนของตน รวมทั้งมีลูกหนึ่งซึ่งเล็ดลอดการสกัดกั้นได้ด้วย ย่อมเป็นอะไรที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างแน่นอน
กรอบการมองเช่นนี้ของทรัมป์ อาจบ่งบอกให้บรรดารัฐอ่าวอาหรับรู้สึกว่า ความเสียหายของพวกเขานั้นมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องที่มีคนอเมริกันบาดเจ็บล้มตายหรือไม่ เรื่องนี้อาจบ่อนทำลายความศรัทธาในการอยู่ใต้การพิทักษ์คุ้มครองของสหรัฐฯ กาตาร์ประกาศว่า “สงวนสิทธิที่จะดำเนินการตอบโต้” และพวกเจ้าหน้าที่ในกรุงโดฮา ตลอดจนในที่อื่นๆ น่าที่จะกำลังคิดคำนวณกันใหม่เกี่ยวกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าบ้านต้อนรับกองทหารสหรัฐฯ ในเมื่อเวลานี้การตัดสินใจต่างๆ ของอเมริกันสามารถยั่วยุให้ถูกตอบโต้เอาคืนโดยตรงเสียแล้ว
การโจมตีของอิหร่านเป็นการทำลายสิ้นซากซึ่งมายาภาพที่ว่า บรรดารัฐราชาธิปไตยในอ่าวอาหรับสามารถที่จะเป็นเจ้าภาพรับรองพลังอำนาจของสหรัฐฯ โดยขณะเดียวกันก็ยังประกาศว่าตนเองวางตัวเป็นกลางได้ด้วย กาตาร์นั้นพยายามมายาวนานแล้วที่จะสร้างความสมดุลให้แก่บทบาทของตนในฐานะเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งเวลาเดียวกันก็มีความสัมพันธ์แบบทำงานร่วมกันได้กับเตหะราน ทั้งนี้กาตาร์กับอิหร่านปัจจุบันร่วมกันเป็นเจ้าของแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งในอดีตที่ผ่านมา โดฮายังทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพของการติดต่อทางการทูตระหว่างอิหร่านกับฝ่ายตะวันตกอีกด้วย ทางด้านโอมาน ก็ได้แสดงบทบาทเป็นคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทว่ายุทธศาสตร์เหล่านี้กำลังประคับประคองเอาไว้ได้อย่างลำบากยากเย็นยิ่งขึ้นแล้ว ในเมื่อมีขีปนาวุธกำลังบินอยู่เหนือศีรษะเช่นนี้
ภายหลังอิหร่านโจมตี พวกรัฐอ่าวอาหรับต่างพากันวิ่งวุ่นในทางการทูต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ บาห์เรน ถึงแม้มีความแตกต่างเชิงอุดมการณ์กับ กาตาร์ แต่ก็ได้ออกคำแถลงประณามด้วยถ้อยคำแรงๆ รัฐเหล่านี้ตระหนักรับรู้ว่า ถ้าอิหร่านสามารถโจมตี อัล อูเดอิด ได้ ก็ย่อมสามารถที่จะเล็งเป้าหมายใส่พวกสิ่งปลูกสร้างของสหรัฐฯในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนได้อย่างง่ายดายมาก คณะมนตรี GCC ที่อยู่ในสภาพแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจจะค้นพบหลักการที่พวกเขามีร่วมกันจากวิกฤตคราวนี้
ความห้าวหาญของอิหร่านยังเป็นการเตือนพวกเขาให้ตระหนักว่า ในสถานการณ์ที่เกิดการบานปลายขยายตัวรอบต่อไป ต้องรวมพวกเขาเข้าไปด้วยที่อาจจะพบว่าตัวเองต้องมายืนอยู่ที่แนวหน้าของการพิพาท
การหยุดยิงที่แทบไม่มีความหมาย
ทรัมป์ประกาศ “การหยุดยิงทั้งหมดทั้งสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบ” (complete and total ceasefire) ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ไม่กี่ชั่วโมงภายหลังการโจมตีตอบโต้ด้วยขีปนาวุธ
รายงานหลายกระแสบ่งชี้ว่า โอมาน และกาตาร์ได้อำนวยความสะดวกอย่างเงียบๆ ให้มีการพูดจากันผ่านช่องทางประตูหลัง สำหรับตอนนี้ ทั้งวอชิงตันและเตหะรานดูเหมือนมีความโน้มเอียงที่จะหยุดพัก ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างก็ไม่ต้องการสงครามที่อยู่ในสภาพควบคุมไม่ได้ กระนั้นก็ตามที ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นมาแล้วเช่นกัน
อิหร่านตอนนี้ได้สร้างแบบอย่างในกรณีหนึ่งขึ้นมาแล้ว นั่นคือ การปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯบนดินแดนของเตหะราน จะถูกตอบโต้ด้วยการโจมตีโดยตรง โดยไม่คำนึงว่าการตอบโต้ดังกล่าวนี้จะมุ่งใส่เป้าหมายในอิรักหรือในแถบอ่าวอาหรับ อัล อูเดอิด กำลังกลายเป็นกรณีศึกษาว่าการป้องปรามกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง อิหร่านไม่ได้ต้องการที่จะทำลายฐานทัพแห่งนี้ พวกเขาเพียงต้องการแสดงให้เห็นว่าไม่มีสถานที่ไหนเลยซึ่งมีความปลอดภัย
ภายหลังเกิดเหตุการณ์แล้ว พวกผู้กุมนโยบายของสหรัฐฯต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก พวกสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ในสภาพตายตัว อย่างเช่น อัล อูเดอิด มีความเปราะบางสูงเมื่อเผชิญการโจมตีด้วยขีปนาวุธอันแม่นยำ การกระจายทรัพย์สินทางทหารออกไป, การตั้งฐานแบบเคลื่อนที่ได้, หรือการเพิ่มระบบป้องกันภัยทางอากาศระดับภูมภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งหมดเหล่านี้ต่างถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอภิปรายกัน ทว่ามันไม่ได้มีเพียงคำถามเชิงเทคนิคเท่านั้น พวกเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับความยินยอมในทางการเมืองจากพวกชาติที่จะเป็นเจ้าบ้านอีกด้วย
หลังจากการโจมตีครั้งนี้แล้ว การยินยอมดังกล่าวอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติอีกต่อไปแล้ว พวกผู้นำในอ่าวอาหรับจะต้องชั่งน้ำหนักว่า การเป็นเจ้าบ้านรับรองกองทหารสหรัฐฯ เป็นการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยของพวกเขา หรือเป็นการพ่นสีทำให้เป้าหมายต่างๆ ที่จะถูกโจมตีบนดินแดนของพวกเขามองเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นกันแน่ สมการกำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว วอชิงตันอาจจำเป็นต้องจัดหาจัดส่งให้ไม่เฉพาะแค่หมวดยิงระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ “แพทริออต” เท่านั้น แต่ยังต้องดำเนินยุทธศาสตร์ทางการทูตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปะทุตูมตามขึ้นมาตั้งแต่ทีแรกอีกด้วย
อนาคตที่ไม่ปลอดภัย
การปะทุตูมตามขึ้นในเดือนมิถุนายน 2025 ระหว่างสหรัฐฯ, อิหร่าน, และอิสราเอลคราวนี้ อาจจะถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับภูมิภาคจุดหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เผยให้เห็นว่าพวกรัฐอ่าวอาหรับมีความเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในความเป็นปรปักษ์ระดับโลกอย่างอีนุงตุงนังขนาดไหน กาตาร์นั้นไม่ได้วางตัวเป็นศัตรูกับใคร กระนั้นก็ยังพบว่าตนเองถูกยิงใส่ด้วยขีปนาวุธอยู่ดี
ความเป็นกลางล้มครืนลงมาในทันทีที่พวกขีปนาวุธบินข้ามพรมแดนของกาตาร์ ดังนั้น เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป การทูตในอ่าวอาหรับน่าจะต้องทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น โดฮา และ มัสคัต อาจจะต้องพยายามอีกครั้งในการเป็นคนกลางระหว่างอิหร่านกับฝ่ายตะวันตก ผ่านพวกช่องทางติดต่อลับๆ เงียบๆ เวลาเดียวกันนั้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการเมืองของการเผชิญหน้ากันก็พุ่งสูง พวกพันธมิตรของสหรัฐฯอย่างกาตาร์ เวลานี้ทราบดีแล้วว่าถ้าการสู้รบขัดแย้งหวนกลับมาปะทุอีกคำรบหนึ่ง พวกเขาอาจจะเป็นฝ่ายที่ต้องหลั่งเลือดก่อนคนอื่น
การโจมตีของอิหร่านอาจจะไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดความหายนะในทางกายภาพขึ้นมา แต่มันกำลังส่งแรงเขย่าทางยุทธศาสตร์ออกมา มันแสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันของอ่าวอาหรับ ไม่ได้มีฤทธิ์เดชรับประกันความมั่นคงปลอดภัยได้อย่างชะงัดอีกต่อไปแล้ว ในตะวันออกกลางทุกวันนี้ แม้กระทั่งการเป็นเจ้าบ้านรับรองกองทหารสหรัฐฯก็มาพร้อมกับความเสี่ยงซึ่งไม่สามารถที่จะขจัดให้หมดสิ้นได้อีกต่อไปแล้ว