(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Obliteration myth: no end, new beginning for Iran’s nuke quest
by Phar Kim Beng and Luthfy Hamzah
26/06/2025
การโจมตีของสหรัฐฯล้มเหลวไม่สามารถ “ทำลาย” โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน “จนสิ้นซาก” อย่างที่ โดนัลด์ ทรัมป์ อวดอ้าง มันเป็นการโจมตีเชิงสัญลักษณ์ซึ่งมุ่งที่จะให้เป็นละครทางการเมือง มากกว่าเป็นชัยชนะทางทหาร
การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศชัยชนะครั้งใหญ่ของกองทัพสหรัฐฯ ด้วยความร่วมมือประสานงานกับหน่วยข่าวกรองอิสราเอล จนประสบความสำเร็จในการ “ทำลาย” สิ่งปลูกสร้างทางนิวเคลียร์ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ดินที่ ฟอร์โดว์ (Fordow) ของอิหร่าน “จนสิ้นซาก” กำลังกลายเป็นชนวนทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งโต้ตอบกันไปมาระลอกใหญ่ ทั้งในแวดวงข่าวกรองสหรัฐฯ, ในหมู่พวกนักวิเคราะห์สถานการณ์ตะวันออกกลาง, ตลอดจนพวกผู้สังเกตการณ์ในทั่วโลก
ทว่านี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะบริหารทรัมป์ เลือกที่จะใช้วิธีการโหมประโคมคำพูดคุยโตอวดกล้า มากกว่าการใช้วาจาภาษาที่ชัดเจนซึ่งอิงอยู่กับหลักฐานและหลักเหตุผล สิ่งที่อยู่ตรงใจกลางของประเด็นปัญหานี้ ไม่ใช่มีเพียงแค่ความรับรู้ความเข้าใจที่ขัดแย้งกัน –ระหว่างการกล่าวอ้างความสำเร็จทางการทหาร กับความเป็นจริงที่ต้องสามารถตรวจสอบพิสูจน์ได้— แต่ยังเป็นเรื่องของการปรับค่าในเชิงภูมิรัฐศาสตร์โดยรวมกันใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พัวพันเกี่ยวข้องกับเดิมพันทางยุทธศาสตร์ทั้งของสหรัฐฯ, อิสราเอล, อิหร่าน, และจีน
จุดที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดที่สุดก็คือ งานการตรวจสอบพิสูจน์และการวิเคราะห์ทั้งจากภาพถ่ายดาวเทียมและจากข่าวกรองซึ่งมีการเสนอออกมามากขึ้นเรื่อยๆ กำลังก่อให้เกิดความสงสัยข้องใจอย่างจริงจังขึ้นมาว่า อาวุธทีเด็ดที่สหรัฐฯนำมาใช้ในการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งมีฉายาเรียกกันว่า ลูกระเบิดซูเปอร์บังเกอร์บัสเตอร์ (super bunker buster bombs) และใช้ชื่อเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า อาวุธระเบิดเจาะทำลายขนาดมหึมา (Massive Ordnance Penetrators หรือ MOPs) สามารถที่จะสร้างความเสียหายให้แก่โครงการนิวเคลียร์อิหร่าน อย่างชนิดที่ไม่มีทางฟื้นฟูให้กลับคืนมาใหม่ได้อีกแล้วดังที่ ทรัมป์ กล่าวอ้างจริงหรือไม่
มายาภาพว่าด้วยการทำลาย “ฟอร์โดว์” จนสิ้นซาก
ฟอร์โดว์ เป็นหนึ่งในสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ซึ่งมีลักษณะเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดของอิหร่าน โดยอยู่ลึกลงไป 80 เมตรใต้ชั้นหินและคอนกรีตเสริมเหล็ก การออกแบบในเชิงยุทธศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้มุ่งทำให้การทำลายมันด้วยการถล่มโจมตีทางอากาศเพียงอย่างเดียว จะต้องประสบความยากลำบากมากมายเป็นพิเศษ
ลูกระเบิดยักษ์ MOPs ของสหรัฐฯนี้ ซึ่งแรกเริ่มทีเดียวออกแบบขึ้นมาสำหรับการเจาะทำลายพวกบังเกอร์ใต้ดินที่มีความแข็งแกร่งมากๆ อย่างเช่น พวกที่มีอยู่ในเกาหลีเหนือ ได้ถูกสหรัฐฯนำมาใช้ในการปฏิบัติการโจมตีฟอร์โดว์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญทางทหารหลายรายกล่าวเตือนอย่างระแวดระวังว่า แม้กระทั่งอาวุธอย่าง MOPs นี้ ก็มีข้อจำกัดของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำเอามาใช้งานแบบเร่งรีบ และขาดการตรวจสอบยืนยันโดยข่าวกรองจากฝ่ายที่สามในเรื่องความเคลื่อนไหวต่างๆ ของเป้าหมายที่จะเข้าโจมตี ตลอดจนเรื่องที่ว่ามีการอพยพโยกย้ายในลักษณะมุ่งป้องกันเอาไว้ก่อนหรือไม่
ช่วงหลายๆ วันก่อนหน้าการถล่มโจมตีครั้งนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมทั้งจากแหล่งที่มาเชิงพาณิชย์และจากแหล่งที่มาทางทหาร แสดงให้เห็นว่ามีขบวนรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าๆ ออกๆ สถานที่ตั้งที่ฟอร์โดว์ ซึ่งสอดคล้องเข้ากันได้กับคำอธิบายที่ว่ามีการเคลื่อนย้ายพวกเครื่องมืออุปกรณ์มูลค่าสูง, เอกสารต่างๆ ที่มีความอ่อนไหว, และกระทั่งเป็นไปได้ว่ารวมไปถึงพวกยูเรเนียมเพิ่มสมรรถนะแล้วซึ่งเก็บเอาไว้ในคลัง
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งข้อสังเกตกันจากพวกนักวิเคราะห์ของหน่วยงานต่างๆ หลายหลาก โดยรวมถึงภายในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) และทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ของสหประชาชาติด้วย ถึงแม้ว่าหน่วยงานหลังสุดนี้ในปัจจุบันตกอยู่ในสภาพที่ถูกกีดกันออกมาอยู่วงนอกทั้งทางการเมืองและทางการทูตเสียแล้ว
หากเป็นจริงอย่างที่รายงานเหล่านี้เสนอแนะ นั่นคืออิหร่านได้โยกย้ายพวกส่วนประกอบที่ทรงคุณค่าที่สุดของการปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ของตนออกมาแล้ว มันย่อมหมายความว่าการถล่มโจมตีของสหรัฐฯ –ไม่ว่ามันจะปรากฏออกมาเป็นภาพและวิดีโออันน่าตื่นตาตื่นใจสักแค่ไหนก็ตามที –จะเป็นการเล่นงานสถานที่ตั้งซึ่งเหลือเพียงความว่างเปล่า อย่างเก่งก็ก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงสัญลักษณ์ ทว่าไม่ใช่ความเสียหายในทางยุทธศาสตร์
ตรงกันข้ามกับการกล่าวอ้างอ ย่างโอ่อวดท้าทายของทรัมป์ที่ว่า “สามารถทำลาย (ฟอร์โดว์) จนสิ้นซาก” สำนักงานข่าวกรองกลาโหม (Defense Intelligence Agency หรือ DIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดเพนตากอน กลับเพิ่งเผยแพร่บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งซึ่งทำกันด้วยความรัดกุมระมัดระวังยิ่งกว่านักหนา โดยมีข้อสรุปว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกทำให้ “ล่าช้าออกไป” เท่านั้น ไม่ใช่ถูกทำลายจนราบคาบ
ตามปากคำของพวกเจ้าหน้าที่ DIA ซึ่งได้รับการอ้างอิงเอาไว้ในการบรรยายสรุปแบบปิดลับ และถูกกล่าวถึงในรายงานข่าวเรื่องนี้ของสื่อมวลชนหลายราย ระบุว่าความเสียหายที่ ฟอร์โดว์ เป็นความเสียหายเพียงบางส่วน โดยเป็นไปได้ว่าจำกัดอยู่เพียงแต่บริเวณชั้นนอกๆ หรือตรงบริเวณทางเข้าไปยังพวกอุโมงค์ต่างๆ และไม่ได้มีผลกระทบต่อพวกห้องจัดวางเครื่องหมุนเหวี่ยงเพิ่มสมรรถนะ ซึ่งอยู่ตรงแกนกลางของสถานที่ตั้งแห่งนี้ โดยที่ยังเป็นไปได้มากว่าห้องเหล่านี้น่าจะถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าการถล่มโจมตี
เรื่องที่เลวร้ายยิ่งกว่านี้อีกก็คือ การโจมตีอาจจะส่งผลอย่างไม่ได้ตั้งใจกลายเป็นการเพิ่มความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของอิหร่านให้ต้องแสวงหาการป้องปรามทางนิวเคลียร์ ทั้งนี้ หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พวกชาติที่ตกเป็นเป้าโจมตี ต่างพากันเร่งรัด –ไม่ใช่ทอดทิ้ง—การพัฒนานิวเคลียร์กันทั้งนั้น
อิรักในยุคซัดดัม ฮุสเซน, ลิเบีย ในยุคกัดดาฟี, และแม้กระทั่งเกาหลีเหนือ ภายหลังจากสหรัฐฯรุกรานอิรักแล้ว ต่างก็แสดงการตอบโต้ด้วยการยิ่งเพิ่มความพยายามในการวิจัยเรื่องนิวเคลียร์
การทูตแบบ “เพื่อนมิตรที่ยิ่งใหญ่” ของทรัมป์
สิ่งที่ทำให้ละครเรื่อง “ถูกบังคับให้ต้องมีอาวุธนิวเคลียร์” ตอนนี้ ยิ่งดูเหนือจริง (surreal) มากขึ้นไปอีก ได้แก่การที่ภายหลังการถล่มโจมตีที่ฟอร์โดว์แล้ว ทรัมป์ได้เสนอที่จะเปิดสายสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านขึ้นมาใหม่ โดยภายในไม่กี่วันหลังถล่มสถานที่ตั้งทานิวเคลียร์แห่งนี้ ทรัมป์ได้เผยแพร่ไอเดียที่ระบุว่า อิหร่านกับสหรัฐฯสามารถที่จะเป็น “เพื่อนมิตรที่ยิ่งใหญ่” กันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยที่เขาเสนอแนะอย่างชวนให้ตื่นตะลึงกันไปทั้งวงการว่า การทิ้งระเบิดใส่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญยิ่งยวดเช่นนี้ สามารถที่จะเป็นอารัมภบทสำหรับการก้าวเดินไปสู่สันติภาพ
พฤติกรรมเช่นนี้ดูเหมือนอยู่ในแนวเดียวกันกับแบบแผนโดยรวม ในเรื่องการสร้างนโยบายการต่างประเทศแบบหลงตัวเอง (narcissistic foreign policy-making) ของโดนัลด์ ทรัมป์ --นั่นคือแรงผลักดันที่ทำให้จัดทำนโยบายเช่นนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายต่างๆ ทางยุทธศาสตร์ หากแต่เป็นการคำนึงถึงการมองเห็นของท่านผู้ชม ดุจดังการคิดถึงทัศนศาสตร์ในโรงละคร และความปรารถนา (ของตัวแสดงหลักอย่างทรัมป์) ที่จะได้รับรางวัลทรงคุณค่าต่างๆ โดยเฉพาะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเขาเล็งมานานแล้ว ทว่าดูจะยังไขว่คว้ามาครองได้ยากเหลือเกิน
ทว่าการทาบทามขอเป็นมิตรในสภาพเงื่อนไขเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะถูกมองว่าขาดความจริงใจ การทูตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสร้างขึ้นบนซากหักพังที่ยังระอุคุกรุ่นอยู่ของสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีกลไกพิสูจน์ตรวจสอบโดยฝ่ายที่สาม ที่จะสามารถยืนยันความหนักเบาของสถานการณ์
IAEA ซึ่งควรที่จะเป็นเสาหลักของการตรวจสอบพิสูจน์และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ กำลังถูกลดทอนความสำคัญลงมาจนกลายเป็นแก่คนยืนดูเท่านั้น หลังจากที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าแผนปฏิบัติการร่วมอย่างรอบด้าน (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) เมื่อปี 2018 และการที่อิสราเอลยังคงแสดงความสงสัยข้องใจความซื่อสัตย์สุจริตของหน่วยงานแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ความไว้วางใจของอิหร่านต่อ IAEA ก็เหือดหายไป
ในทัศนะของเตหะราน IAEA ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่เป็นกลางอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเครื่องมือเพื่อการบีบคั้นกดดันที่จับมือเป็นฝ่ายเดียวกันกับตะวันตก ด้วยเหตุนี้ การรื้อฟื้นการตรวจสอบใดๆ ของ IAEA ขึ้นมาใหม่ – โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากหน่วยข่าวกรองอิสราเอลถูกกล่าวหาว่าสามารถแทรกซึมเข้าไปที่ ฟอร์โดว์ ได้สำเร็จ (แน่นอนทีเดียวว่า IAEA ก็จะต้องถูกสงสัยไปด้วย) –หน่วยงานยูเอ็นแห่งนี้จึงไม่น่าทจะได้รับการต้อนรับจากเตหะราน ยุคสมัยของความโปร่งใสโดยสมัครใจในนโยบายนิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นอันจบสิ้นลงในความเป็นจริงแล้ว
จีนในอิหร่าน
ในเวลาที่ ทรัมป์ ตั้งท่าอวดโอ่ ส่วนเพนตากอนก็วิเคราะห์เจาะลึกพวกรายงานเกี่ยวกับผลกระทบกันอยู่นี้ จีนกับสหรัฐฯก็ยังคงพุ่งความสนใจของพวกเขามาอยู่ที่อิหร่านอย่างไม่ลดละ –ถึงแม้แต่ละฝ่ายต่างกระทำเช่นนี้ด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน
สำหรับวอชิงตันแล้ว อิหร่านคือจุดที่มีศักยภาพจะกลายเป็นจุดร้อนระอุทางนิวเคลียร์, พร้อมกันนั้นก็เป็นเวทีสำหรับการสำแดงกำลังอำนาจ, และเป็นสภาพแวดล้อมอันเหมาะเหม็งสำหรับการทดสอบความน่าเชื่อถือในด้านการป้องปรามของตน ส่วนสำหรับปักกิ่ง อิหร่านไม่ได้เป็นภัยคุกคาม แต่เป็นหุ้นส่วน-ที่ในทางเศรษฐกิจถือว่าทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด และในทางยุทธศาสตร์ก็เป็นตัวแสดงที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับวิสัยทัศน์ว่าด้วยยูเรชียในระยะยาวของจีน
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของอิหร่าน ซึ่งอยู่ตรงจุดบรรจบกันของอ่าวเปอร์เซีย, เอเชียกลาง, และมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ประเทศนี้มีความสำคัญมากเป็นพิเศษทั้งในด้านการกระจายแหล่งซัปพลายพลังงาน และในแง่เส้นทางการค้าของจีน
การที่ปักกิ่งยืนกรานคัดค้านการใช้มาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรอิหร่าน และนิยมใช้วิธีทางการทูตมากกว่า ทำให้ในสายตาของเตหะรานแล้ว จีนอยู่ในฐานะเป็นคู่เจรจาที่สามารถพึ่งพาอาศัยได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่ออิหร่านถูกฝ่ายตะวันตกทั้งถล่มโจมตีและทั้งทรยศหักหลังทางการทูต
ความแตกต่างอย่างชนิดเป็นตรงกันข้ามกันเช่นนี้ เพิ่มน้ำหนักให้แก่ทัศนะความคิดเห็นเกี่ยวกับโลกของอิหร่านที่ว่า จีนเสนอทางเลือกทางยุทธศาสตร์ที่มีเสถียรภาพมากกว่าและเป็นผลดีทางยุทธศาสตร์ระยะยาวยิ่งกว่า ในขณะที่นโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯยังคงสับสนอลหม่านและบ่อยครั้งเน้นที่การติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเฉพาะหน้าเท่านั้น
ถ้าหากทรัมป์มีเจตนารมณ์ที่จะโดดเดี่ยวอิหร่าน และจ้องทำลายสายสัมพันธ์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกของอิหร่านแล้ว ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นมาอาจจะเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ ความก้าวร้าวรุกรานทางทหารของเขามีความเสี่ยงที่จะผลักไสอิหร่านให้เดินหน้าเข้าไปในวงโคจรเชิงยุทธศาสตร์ของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ความไม่ไว้วางใจตะวันตกที่มีอยู่ร่วมกันของปักกิ่งและเตหะราน กลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้ประเทศทั้งสองมีการร่วมมือกันอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ภาพลวงตาในทางยุทธศาสตร์
เมื่อวิเคราะห์กันจนถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เรียกว่าเป็นการทำลายฟอร์โดว์ จนสิ้นซากนั้น มีลักษณะเป็นโรงละครทางการเมืองมากกว่าเป็นชัยชนะทางการทหาร ในเมื่อไม่มีทั้งการตรวจสอบพิสูจน์โดยฝ่ายที่สาม, ไม่มีการติดตามผลในเชิงการทูต, และการที่ทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ของอิหร่านน่าที่จะถูกโยกย้ายไปที่อื่นก่อนการถล่มโจมตีแล้ว การปฏิบัติการของทรัมป์จึงดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเกินกว่าการเป็นพาดหัวข่าวเพียงน้อยนิดเท่านั้น
แทนที่จะเป็นการปิดฉากจบบทจบตอนเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน มันกลับจะกลายเป็นการเปิดบทตอนด้านนิวเคลียร์นี้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะยิ่งอลหม่านปั่นป่วนยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ –เนื่องจากความไว้วางใจกันยิ่งหดเหี้ยนลงไปแล้ว การตรวจสอบพิสูจน์กำลังกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้, และการรวมกลุ่มจับมือในทางภูมิรัฐศาสตร์ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางซึ่งอาจจะเฝ้าหลอกหลอนให้พวกผู้วางนโยบายของสหรัฐฯรู้สึกขวัญผวาในระยะเวลาเป็นปีๆ นับจากนี้ไป
จีนกับสหรัฐฯยังคงพุ่งความสนใจของพวกเขาอย่างไม่ลดละมาที่อิหร่าน ทว่าวิธีการของพวกเขาคงไม่มีทางที่จะแตกต่างกันได้มากกว่านี้อีกแล้ว นั่นคือ ฝ่ายหนึ่งมองหาทางเข้าครอบงำโดยผ่านการก่อกวนให้เกิดการสะดุดติดขาด ส่วนอีกฝ่ายสร้างอิทธิพลโดยอาศัยความต่อเนื่องสม่ำเสมอ
พิจารณาในแง่นี้แล้ว การถล่มโจมตีฟอร์โดว์ จึงอาจจะเป็นจุดจบที่มิได้เป็นจุดจบจริงๆ – แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง ของสถานการณ์ยุ่งเหยิงวุ่นวายทางนิวเคลียร์ของตะวันออกกลาง ที่ทั้งยืดเยื้อและเต็มไปด้วยอันตราย
ฟาร์ คิม เบง (PhD) เป็นศาสตราจารย์ด้านอาเซียนศึกษา ที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย (International Islamic University Malaysia), ลุธฟี ฮัมซาห์ เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่บริษัทที่ปรึกษา Strategic Pan Indo Pacific Arena กรุงกัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย