กรีนแลนด์ กำลังชั่งใจในความเป็นไปได้ที่จะเชื้อเชิญเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเหมือง ตามหลังเกิดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ และมีการคบค้าอย่างจำกัดกับอียู จากการเปิดเผยของนาจา เนทาเนียลเซน รัฐมนตรีธุรกิจและทรัพยากรแร่ของเกาะแห่งนี้ ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สในวันอังคาร(28พ.ค.)
ในฐานะดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก เกาะกรีนแลนด์ครอบครองแหล่งสำรองแร่ต่างๆนานา ที่ยากต่อการใช้ประโยชน์ อย่างเช่นทองคำและทองแดง ดังนั้นเงินทุนจากต่างชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาทรัพยากรเดหล่านี้ แต่สืบเนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เมื่อไม่นานที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้คู่หูที่มีความน่าเชื่อถือ
"เรากำลังพยายามหาคำตอบว่าระเบียบโลกใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร" เนทาเนียลเซนกล่าว พร้อมระบุว่ากรีนแลนด์ "กำลังมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการค้นหาจุดยึดมั่นในพัฒนาการความสัมพันธ์กับบรรดาพันธมิตรตะวันตก"
เกาะในแถบอาร์กติกแห่งนี้ ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสหรัฐฯ ในด้านการพัฒนาแร่ ระหว่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งสมัยแรก อย่างไรก็ตาม เนทาเนียลเซน ยอมรับว่าข้อตกลงนี้ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยทางรัฐบาลพยายามต่ออายุบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
หลังจาก ทรัมป์ กลับเข้าสู่อำนาจในเดือนมกราคม กรีนแลนด์ หวังว่าจะรื้อฟื้นการพูดคุยเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจดังกล่าว แต่กลายเป็นว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯกลับหยิบยกประเด็นการซื้อเกาะแห่งนี้ขึ้นมา และไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังทหารเข้ายึดกรีนแลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ
เนทาเนียลเซน เรียกคำประกาศดังกล่าวว่า "ขาดความเคารพและน่ารังเกียจ" พร้อมเน้นย้ำกรีนแลนด์ไม่ปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา
จีน แสดงความสนใจในความมั่งคั่งทางทรัพยากรของเกาะกรีนแลนด์ ในนั้นรวมถึงน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุ พวกเขาได้ลงทุนในโครงการพลังงานต่างๆของรัสเซีย และแสดงความสนใจในภาคอุตสาหกรรมเหมืองของกรีนแลนด์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีบริษัทจีนที่กำลังปฏิบัติการเหมืองในกรีนแลนด์ โดยมีแค่หนึ่งบริษัทที่ถือครองหุ้นส่วนน้อยในโครงการเหมืองแห่งหนึ่งที่ยุติไปแล้ว
เนทาเนียลเซน ยอมรับว่าพวกนักลงทุนจีน อาจถอยกลับไปก่อน เพราะว่าพวกเขาไม่ต้องการยั่วยุใดๆ "ในแง่นี้ แน่นอนว่า การลงทุนของจีนอาจก่อปัญหา แต่ในบางขอบเขต อเมริกาเองก็เช่นกัน" เธอกล่าว
กรีนแลนด์ อยากมีความร่วมมือใกล้ชิดกับกับอียู อย่างไรก็ตามการคบค้าสมาคมกับทางสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างล่าช้า โดยปัจจุบันมีเพียงแค่โครงการเดียว ที่นำโดยกิจการค้าร่วมเดนมาร์ก-ฝรั่งเศส ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดหมายว่าเหมืองแห่งนี้จะเริ่มต้นเปิดปฏิบัติการได้ในอีก 5 ปี
ปัจจุบัน กรีนแลนด์ มีเหมือง 2 แห่งที่เปิดปฏิบัติการอยู่ หนึ่งในนั้นเป็นเหมืองทองคำ ที่ดำเนินการโดย Amaroq Minerals บริษัทสัญชาติไอซ์แลนด์และแคนาดา และอีกแห่งเป็นเหมืองหินแอนอทโทไซต์ ที่ดูแลโดยบริษัทลูกแห่งหนึ่งของ Hudson Resources บริษัทสัญชาติแคนาดา
(ที่มา:อาร์ทีนิวส์)