xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนเปิดซัมมิตหารือจีน-6ชาติอ่าวอาหรับ รวมพลังสานสัมพันธ์ระดับภูมิภาคกับภูมิภาค ฝ่าวิกฤตภาษีทรัมป์-ศึกการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรดาผู้นำและผู้แทนชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน, จีน, และสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ ถ่ายภาพร่วมกัน ระหว่างการประชุมร่วม 3 ฝ่ายเป็นครั้งแรก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมซัมมิตอาเซียน เมื่อวันอังคาร (27 พ.ค.) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย
อาเซียนจัดประชุมสุดยอดกับจีนและ 6 ชาติอ่าวเปอร์เซียเมื่อวันอังคาร (27 พ.ค.) เพื่อขยายการเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความยืดหยุ่นในภาวะที่ระบบการค้าโลกผันผวนจากภาษีศุลกากรของอเมริกา

นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซีย ในฐานะประธานของอาเซียนวาระปัจจุบัน กล่าวเปิดการประชุมที่จัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า การประชุมสุดยอดาไตรภาคีคราวนี้ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกจะนำไปสู่การเจรจาและความร่วมมือบทใหม่

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (จีซีซี) และจีน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ร่วมกันเกือบ 25,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคกว่า 2,000 ล้านคน ซึ่งนำเสนอโอกาสในการผสานรวมตลาดและส่งเสริมการลงทุนระหว่างภูมิภาค

อันวาร์แสดงความเชื่อมั่นว่า อาเซียน จีซีซี และจีนจะกำหนดทิศทางอนาคตที่เชื่อมต่อ ยืดหยุ่น และมั่งคั่งยิ่งขึ้น

ด้านนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน ขานรับว่า ความร่วมมือ 3 ฝ่ายจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสันติภาพในภูมิภาค

จีนกับอาเซียนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของกันและกัน เดือนเมษายนจีนส่งออกมายังไทย อินโดนีเซีย และเวียดนามเพิ่มขึ้นในอัตราตัวเลขสองหลัก จากความพยายามในการเปลี่ยนจุดหมายปลายทางของสินค้าที่เดิมส่งออกไปยังอเมริกา

อนึ่ง ในช่วงเช้าวันอังคาร อันวาร์กล่าวกับที่ประชุมอาเซียน-จีซีซีว่า การร่วมมือกันระหว่างสองกลุ่มจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยนำทางในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์

มกุฎราชกุมารชีค ซาบาห์ คาลิด อัล ซาบาห์ของคูเวต กล่าวว่า อาเซียนและจีซีซีที่ประชุมกันครั้งแรกที่กรุงริยาด, ซาอุดีอาระเบีย ในปี 2023 จะกระชับความสัมพันธ์และปรับปรุงศักยภาพในการเผชิญหน้ากับวิกฤต และสำทับว่า จีซีซีเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้ารวมกัน 130,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2023

นายกฯอันวาร์ ในฐานะประธานของอาเซียน กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีซีซีที่ประกอบด้วยบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) นั้น มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับสหรัฐฯ อยู่แล้วนั้น และต้องการใกล้ชิดกับจีนด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน อาเซียนที่ยึดถือนโยบายความเป็นกลาง เกี่ยวพันคบค้ากับทั้งปักกิ่งและวอชิงตัน แต่ภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญ โดย 6 ชาติสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการถูกเรียกเก็บภาษีระหว่าง 32-49%

เดือนที่แล้วทรัมป์ประกาศระงับการเก็บภาษี 90 วันสำหรับประเทศส่วนใหญ่ มาเดือนนี้อเมริกาทำข้อตกลงคล้ายกันนี้กับจีน ซึ่งทำให้ความตึงเครียดจากสงครามการค้าผ่อนคลายลง ในส่วนอาเซียนนั้นกำลังพยายามจัดการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับภาษีกับทรัมป์ ควบคู่กับการขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนและประเทศอื่นๆ

ชอง ยิว กิต นักวิเคราะห์ด้านกิจการต่างประเทศ ยุทธศาสตร์ และความมั่นคงของมหาวิทยาลัยมลายา ในมาเลเซีย ชี้ว่า ซัมมิตสามเส้านี้ตอกย้ำความพยายามของปักกิ่งในการเพิ่มการสนับสนุนระหว่างการทำสงครามการค้ากับอเมริกา และตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมนี้เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์เยือนซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และยูเออีเมื่อไม่นานมานี้

เขาสำทับว่า แม้พึ่งพิงการสนับสนุนทางทหารจากอเมริกา แต่อาเซียนกำลังพึ่งพิงและร่วมมือกับจีน รวมถึงศัตรูของอเมริกาชาติอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งหากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไปภายใต้คณะบริหารของทรัมป์ จะมีโอกาสมากขึ้นที่อเมริกาโดดเดี่ยวตัวเองจากภูมิภาคนี้ นำไปสู่หายนะ อีกทั้งทำให้จีนมีบทบาทเข้มแข็งขึ้น

คู หยิง ฮุย จากมหาวิทยาลัยมลายาเช่นเดียวกัน ชี้ว่า การเข้าร่วมประชุมของผู้นำจีนถือว่า ถูกจังหวะเวลา อีกทั้งยังเป็นการคิดคำนวณมาอย่างดี เนื่องจากจีนเล็งเห็นโอกาสในการชูบทบาทพันธมิตรเศรษฐกิจที่ไว้ใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ตะวันตกกำลังพยายามตัดขาดจากปักกิ่ง

(ที่มา: เอพี/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น