xs
xsm
sm
md
lg

มีช่องโหว่มากมายเหลือเกิน ในโครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธ‘โกลเดน โดม’ของ‘ทรัมป์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แจ็ก โอโดเฮอร์ตี


คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจัดทำโครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธระดับสูงที่ครอบคลุมทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา โครงการที่ใช้ชื่อว่า “โกลเดน โดม” นี้ เรียกร้องต้องการสมรรถนะหลายๆ อย่างหลายๆ ชั้นร่วมมือประสานงานกัน –ไม่ว่าจะเป็นพวกดาวเทียมของกองกำลังอวกาศ และบรรดาอุปกรณ์เซนเซอร์คอยตรวจจับติดตามภัยคุกคามจากประดาขีปนาวุธชั้นนำทั้งหลาย (ภาพคอนเซ็ประบบป้องกันขีปนาวุธ “โกลเดน โดม” จากบริษัทเรย์ธีออน อินเทลลิเจนซ์ แอนด์ สเปซ)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

The many holes in Trump’s Golden Dome
by Jack ODoherty
25/05/2025

ในบรรดาช่องโหว่ฉกาจฉกรรจ์ของโปรแกรม “โกลเดน โดม ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่ ความเป็นไปได้ในทางเทคนิคที่ระบบนี้จะสามารถเล็งเป้าหมายสกัดกั้นขีปนาวุธทิ้งตัวขณะอยู่ในช่วงระยะเร่งความเร็ว รวมทั้งการรับมือกับขีปนาวุธความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก

โครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ “โกลเดน โดม” เพื่อพิทักษ์ปกป้องสหรัฐอเมริกา ที่คณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ [1] ถือเป็นโครงการลักษณะนี้ซึ่งมีความวาดหวังอันบรรเจิดทะเยอทะยานสูงที่สุด ภายหลังจากโปรแกรมริเริ่มการป้องกันทางยุทธศาสตร์ ( Strategic Defense Initiative หรือ SDI) [2] ของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในยุคทศวรรษ 1980 ทีเดียว

ในตอนนั้น โปรแกรม SDI --หรือเป็นที่รู้จักกันมากกว่าจากชื่อฉายาของมันซึ่งเป็นการตั้งขึ้นมาด้วยอารมณ์ล้อเลียนอยู่หน่อยๆ ว่า “สตาร์ วอร์ส” – ได้จุดประกายให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดเผ็ดร้อน ว่ามันมีความเป็นไปได้ในทางเทคนิคหรือไม่ โดยในท้ายที่สุดแล้ว มันก็ไม่ได้เคยกลายเป็นโครงการที่มีการนำไปใช้ปฏิบัติการกันจริงๆ แต่อย่างใด เวลาผ่านพ้นไปหลายสิบปี มาถึงตอนนี้เรามีพวกเทคโนโลยีที่จะทำให้โล่ป้องกัน โกลเดน โดม กลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้วใช่หรือไม่ หรือว่าแผนการริเริ่มนี้ก็จะประสบชะตากรรมคล้ายๆ กัน นั่นคือถูกพับเก็บเข้าลิ้นชักไป?

โล่ป้องกันขีปนาวุธ โกลเดน โดม ที่สมบูรณ์แบบนั้น ควรที่จะสามารถพิทักษ์ปกป้องสหรัฐฯจากภัยคุกคามทางอากาศและทางขีปนาวุธอย่างครอบคลุมสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นพวกขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยไกลข้ามทวีป (long-range intercontinental ballistic missiles หรือ ICBMs) หรือพวกซึ่งเป็นขีปนาวุธที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ ที่มีพิสัยทำการสั้นกว่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น โกลเดน โดม ยังต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะรับมือกำจัดภัยคุกคามจากพวกขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) และพวกอาวุธไฮเปอร์โซนิก อย่างเช่น ยานร่อนที่ถูกเร่งความเร็ว (boost-glide vehicles) ซึ่งติดตั้งอยู่กับจรวดลูกหนึ่งที่สามารถทำความเร็วในระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic ความเร็วเหนืออัตราเร็วของเสียงตั้งแต่ 5 เท่าตัวขึ้นไป) จากนั้นยานดังกล่าวนี้ก็จะถูกปล่อยออกมาให้เดินทางไปตามวงโคจรของมันโดยไม่มีการให้พลังใดๆ เพิ่มเติมอีก

ในทางทฤษฎี โล่ป้องกันขีปนาวุธนี้ยังควรที่จะต้องสามารถพิทักษ์ปกป้องอเมริกาไม่ให้ถูกเล่นงานจากพวกหัวรบซึ่งถูกจัดวางเอาไว้ก่อนแล้วในอวกาศตรงแนววงโคจรรอบโลกระดับต่ำ และผู้ควบคุมสามารถสั่งการให้มันโคจรกลับเข้ามาสู่ชั้นบรรยากาศ และทำลายเป้าหมายต่างๆ ตามต้องการบนโลก ทั้งนี้อาวุธแบบนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า ระบบถล่มโจมตีแบบเคลื่อนที่อยู่ในแนววงโคจรรอบโลกบางส่วน (fractional orbital bombardment systems)

สามารถกล่าวได้ว่า พวกขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) คือภัยคุกคามที่ใหญ่โตที่สุด เพียงแค่พิจารณาจากจำนวนของอาวุธประเภทนี้ซึ่งอยู่ในมือของพวกชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์รายอื่นๆ โดยเฉพาะพวกขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (ICBMs) เมื่อดูจากเส้นทางโคจรของมัน ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ [3] ได้แก่ ระยะเร่งความเร็ว (boost phase), ระยะกลางทาง (midcourse phase), และระยะปลาย (terminal phase)

ระยะเร่งความเร็ว เป็นช่วง 2-3 นาทีของการเดินทางอย่างทรงพลัง ขณะที่เครื่องยนต์จรวดของขีปนาวุธขับดันให้มันทะยานขึ้นสู่อวกาศ สำหรับระยะกลางทาง ขีปนาวุธเดินทางไปในอวกาศเป็นเวลาประมาณ 20-25 นาที โดยไม่มีการใช้พลังจากเครื่องยนต์ และท้ายที่สุด ขณะอยู่ในระยะปลาย ขีปนาวุธจะหวนกลับลงมาสู่ชั้นบรรยากาศขจองโลก และโจมตีใส่เป้าหมาย

สำหรับ โกลเดน โดม นั้น มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะมีการวางแผน [4]เกี่ยวกับการรับมือจัดการกับพวกขีปนาวุธทิ้งตัวที่โจมตีเข้ามา ในทั้ง 3 ระยะของเส้นทางโคจรของพวกมัน

การป้องกันขีปนาวุธขณะมันยังอยู่ในระยะเร่งตัว เป็นฉากทัศน์ที่ดูน่าจะนำมาใช้ เพราะมันเรียกร้องให้ต้องยิงสอยเป้าหมายที่ในระยะนี้ยังมีแค่เพียงเป้าหมายเดียว ขณะที่ในช่วงระยะกลางทาง ขีปนาวุธทิ้งตัวลูกนั้นจะนำเอาหัวรบ –ส่วนของขีปนาวุธที่บรรจุวัสดุระเบิด – ของมันเข้าประจำตำแหน่ง นอกจากนั้นแล้วมันยังน่าจะปล่อยหัวรบหลอกๆ ออกมาจำนวนมากอีกด้วย

แม้กระทั่งในพวกระบบเรดาร์ชั้นเยี่ยมที่สุด การจำแนกแยกแยะหัวรบจริงออกมาจากหัวรบปลอม ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ด้วยความลำบากยากเย็นอย่างเหลือเชื่อ

ส่วนหนึ่งของโปรแกรม โกลเดน โดม จะเป็นเรื่องของการตั้งเป้าหมายมุ่งทำลายพวกขีปนาวุธทิ้งตัวของข้าศึก ในช่วงที่พวกมันกำลังอยู่ในระยะเร่งความเร็วทะยานขึ้นสู่อวกาศ (ภาพนี้ถ่ายและเผยแพร่โดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ)
อย่างไรก็ดี มีคำถามฉกาจฉกรรจ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางเทคนิคที่จะพุ่งเป้าหมายเล่นงานขีปนาวุธทิ้งตัวในขณะที่มันอยู่ในระยะเร่งความเร็ว – นอกจากนั้นยังมีความจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาที่จะโจมตี เนื่องจากระยะนี้กินเวลาค่อนข้างสั้นเอามากๆ

แพลตฟอร์มของอาวุธที่ออกแบบมาเพื่อพุ่งเป้าเล่นงานขีปนาวุธทิ้งตัวในระยะเร่งความเร็วอาจจะประกอบด้วยดาวเทียมขนาดใหญ่ที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกระยะต่ำ และติดอาวุธที่เป็นขีปนาวุธลูกเล็กๆ หลายๆ ลูก ขีปนาวุธเหล่านี้เรียกกันว่า ขีปนาวุธสกัดกั้น (interceptors) ขีปนาวุธสะกัดกั้นสามารถนำมาใช้ได้ถ้าหากขีปนาวุธทิ้งตัวที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ถูกยิงออกมาโดยเล็งเป้าหมายเล่นงานสหรัฐฯ

รายงานการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง [5] ที่ดำเนินการโดยสมาคมฟิสิกส์อเมริกัน (American Physical Society) เสนอแนะว่า ในฉากทัศน์ของการตั้งสมมุติฐานแบบใจกว้าง แพลตฟอร์มขีปนาวุธสกัดกั้นที่ตั้งฐานอยู่ในอวกาศ อาจจะสามารถทำลายเป้าหมายที่อยู่ห่างไกลออกไปเป็นระยะทางราวๆ 850 กิโลเมตร ระยะทางเช่นนี้เป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า คือ “รัศมีสังหาร” (kill radius) ของอาวุธดังกล่าว

แต่แม้กระทั่งด้วยรัศมีสังหารขนาดนี้ ระบบขีปนาวุธสกัดกั้นที่ตั้งฐานอยู่ในอวกาศก็จำเป็นจะต้องใช้ดาวเทียมหลายร้อยหรือกระทั่งหลายพันดวง โดยที่แต่ละดวงประกอบดิดตั้งด้วยขีปนาวุธลูกเล็กๆ จึงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการพิทักษ์ป้องกันชนิดครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งเขตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระนั้นก็ตาม อาจมีความเป็นไปได้ที่จะทะลวงผ่านข้อจำกัดดังกล่าวนี้ นั่นคือหันไปใช้พวกอาวุธโจมตีพลังงานตรง (directed-energy weapons) เป็นต้นว่า แสงเลเซอร์พลังสูง หรือแม้กระทั่ง พวกอาวุธลำแสงอนุภาค (particle beam weapons) [6] ซึ่งใช้ลำแสงพลังงานสูงของอนุภาคอะตอมหรืออนุภาคย่อยของอะตอม

อย่างไรก็ดี จุดอ่อนถึงขั้นวิกฤตของระบบดังกล่าวนี้ ก็คือ ข้าศึกสามารถใช้พวกอาวุธต่อสู้ดาวเทียม (anti-satellite weapons) [7] –อย่างเช่นพวกขีปนาวุธที่ยิงจากภาคพื้นดิน— หรือการปฏิบัติการเชิงรุกอย่างอื่นๆ เป็นต้นว่า การโจมตีทางไซเบอร์ มาทำลายหรือมาทำให้พวกดาวเทียมสะกัดกั้นของฝ่ายเราทำงานไม่ได้ไปเป็นบางส่วน จากช่องโหว่นี้พวกเขาอาจจะจัดตั้งพื้นที่ระเบียงชั่วคราวขึ้นมา สำหรับให้ขีปนาวุธทิ้งตัวของพวกเขาเคลื่อนผ่านเข้ามา

“ก้อนกรวดอัจฉริยะ"

ยังมีแนวความคิดอย่างหนึ่งในเรื่องระบบป้องกันที่ตั้งฐานอยู่ในอวกาศและมุ่งโจมตีพวกขีปนาวุธทิ้งตัวขณะที่พวกมันอยู่ในระยะเร่งความเร็ว เรียกขานกันว่า “ก้อนกรวดอัจฉริยะ” (Brilliant Pebbles) [8] ไอเดียนี้ถูกเสนอขึ้นมาในช่วงปลายๆ ทศวรรษ 1980 โดยแทนที่จะต้องมีดาวเทียมขนาดใหญ่ที่ติดตั้งขีปนาวุธหลายๆ ลูก แนวความคิดนี้เสนอให้ส่งขีปนาวุธเดี่ยวๆ ขนาดเล็กๆ จำนวนราวๆ 1,000 ลูกเข้าสู่วงโคจรรอบโลก โดยที่จะมีการใช้อุปกรณ์เซนเซอร์ที่โคจรรอบโลกราวๆ 60 ตัว เรียกชื่อว่า “ตาอัจฉริยะ” (Brilliant Eyes) คอยทำหน้าที่เฝ้าติดตามว่ามีการยิงขีปนาวุธออกมาจากไหนบ้าง

โครงการ ก้อนกรวดอัจฉริยะ ถูกคณะบริหารประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ยกเลิกไปในปี 1994 ทว่ามันก็เสนอแม่พิมพ์สำหรับเทคโนโลยีอีกชิ้นหนึ่ง ที่อาจนำมาใช้ในโปรแกรมโกลเดน โดม

สำหรับทางเลือกต่างๆ ในการทำลายขีปนาวุธทิ้วตัวขณะที่พวกมันอยู่ในระยะกลางทางเส้นโคจรของมันนั้น มีดังเช่น ระบบป้องกันมิดคอร์สติดตั้งบนภาคพื้นดิน ( Ground-based Midcourse Defense system) [9] และแพลตฟอร์ม เอจิส ติดตั้งบนเรือ (ship-based Aegis platform) [10] ของกองทัพเรือสหรัฐฯ

ไม่เหมือนกับการป้องกันขีปนาวุธที่อยู่ในระยะกลางทาง (โดยที่ระบบป้องกันนี้จะต้องครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่โตมาก) การสะกัดกั้นในระยะปลาย ถือเป็นแนวสุดท้ายของการป้องกัน ปกติแล้วเกี่ยวข้องกับการทำลายพวกหัวรบที่กำลังเคลื่อนที่เข้ามา หลังจากพวกมันกลับจากอวกาศเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

แผนการเพื่อการทำลายแต่ละหัวรบในขณะมันโคจรในช่วงระยะปลาย อาจสามารถใช้พวกเวอร์ชั่นอนาคตของบรรดาแพลตฟอร์มอาวุธที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างเช่น ระบบขีปนาวุธแพทริออต Patriot Advanced Capability 3 Missile Segment Enhancement [11] ระบบขีปนาวุธทาด (Terminal High Altitude Area Defense หรือ THAAD) [12]

อย่างไรก็ตาม ขณะที่มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านนี้ในระยะเวลาหลายทศวรรษนับตั้งแต่มีการเสนอแผนการริเริ่ม สตาร์ วอร์ส แต่การอภิปรายถกเถียงกันก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในเรื่องที่ว่าระบบเหล่านี้จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

กล่าวกันถึงที่สุดแล้ว มันเป็นโปรแกรมที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายก้อนมหึมา รวมทั้งต้องเผชิญกับแรงคัดค้านทางการเมืองอย่างแรงกล้า ซึ่งอาจกลายเป็นการสร้างอุปสรรคใหญ่ที่สุดคอยขัดขวางการทำให้เกิดระบบโกลเดน โดม ที่ทรงประสิทธิภาพในทางปฏิบัติขึ้นมา ข้อเสนอของทรัมป์เป็นการฟื้นคืนชีพไอเดียของการป้องกันขีปนาวุธที่ครอบคลุมทั่วสหรัฐฯ ทว่ามันยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนอยู่นั่นเองว่าพวกส่วนประกอบที่วาดหวังเอาไว้อย่างสุดทะเยอทะยานของระบบนี้ จะมีโอกาสกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้หรือไม่

แจ็ก โอโดเฮอร์ตี เป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ ของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์, สหราชอาณาจักร

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/trumps-proposed-golden-dome-missile-defence-system-an-expert-explains-the-technical-challenges-involved-257473

คำแถลงว่าด้วยความเกี่ยวข้องของผู้เขียนกับประเด็นในข้อเขียนชิ้นนี้
แจ็ก โอโดเฮอร์ตี มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาลัยการป้องกันแห่งองค์การนาโต้ (NATO Defense College) ในฐานะที่เขาเป็นผู้ช่วยนักวิจัย (Junior Associate Fellow)


เชิงอรรถ
[1] https://www.reuters.com/business/aerospace-defense/trumps-golden-dome-plan-could-launch-new-era-weapons-space-2025-05-22/
[2] https://www.britannica.com/topic/Strategic-Defense-Initiative
[3] https://media.nti.org/pdfs/10_5.pdf
[4]https://www.defense.gov/News/Releases/Release/Article/4193417/secretary-of-defense-pete-hegseth-statement-on-golden-dome-for-america/
[5] https://www.aps.org/publications/reports/strategic-ballistic-missile-defense
[6]https://www.usni.org/magazines/proceedings/1979/november/charged-particle-beam-weapons-should-we-could-we
[7] https://hir.harvard.edu/anti-satellite-weapons-and-the-emerging-space-arms-race/
[8] https://www.llnl.gov/archives/1980s/brilliant-pebbles
[9] https://www.boeing.com/defense/missile-defense/ground-based-midcourse
[10] https://www.defensenews.com/naval/2020/11/17/us-navy-destroyer-shoots-down-an-icbm-in-milestone-test/
[11] https://www.lockheedmartin.com/en-us/products/pac-3-advanced-air-defense-missile.html
[12] https://www.lockheedmartin.com/en-us/products/thaad.html


กำลังโหลดความคิดเห็น