xs
xsm
sm
md
lg

มะกันผวา! ‘ทรัมป์’ ขู่รีดภาษี iPhone นำเข้า 25% แม้ ‘ซัมซุง’ ก็อย่าหวังรอด เล็งขึ้นภาษีสินค้า EU เพิ่มเป็น 50% หลัง 1 มิ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ขู่กระพือสงครามการค้าอีกครั้งเมื่อวานนี้ (23 พ.ค.) โดยเตรียมใช้พิกัดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปที่ 50% ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป แถมยังขู่แอปเปิลว่าไอโฟนที่นำเข้ามาขายในสหรัฐฯ จะถูกรีดภาษีสูงถึง 25%

คำขู่ 2 เด้งของ ทรัมป์ ที่ถูกประกาศผ่านโซเชียลมีเดียส่งผลให้ตลาดหุ้นกลับมาปั่นป่วนอีกครั้ง หลังจากที่สงครามภาษีของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะคลายความร้อนระอุลงไปบ้างในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ประกาศของ ทรัมป์ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นหลักของสหรัฐฯ และยุโรปร่วงดิ่งเหว เงินดอลลาร์อ่อนค่า และราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นอีกระลอก ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลงจากความกังวลผลกระทบของมาตรการขึ้นภาษีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

คำขู่ล่าสุดนี้เกิดจากการที่ทำเนียบขาวมองว่า กระบวนการเจรจากับสหภาพยุโรปไม่คืบหน้าเร็วอย่างที่ควรจะเป็น และในส่วนของแรงกดดันต่อแอปเปิลนั้นก็เพื่อที่จะบีบให้บริษัทแห่งนี้ย้ายฐานการผลิตกลับเข้าสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ไม่มีสายการผลิตสมาร์ทโฟนในระดับอุตสาหกรรม แม้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะซื้อไอโฟนมากกว่า 60 ล้านเครื่องต่อปีก็ตาม และการผลิตไอโฟนในสหรัฐฯ ก็คาดว่าจะทำให้ราคาต่อเครื่องพุ่งสูงขึ้นอีกหลายร้อยดอลลาร์


ในช่วงเย็นวันศุกร์ (23) ทรัมป์ ยังบอกผู้สื่อข่าวที่ห้องทำงานรูปไข่ว่า มาตรการรีดภาษีไอโฟนอาจจะถูกใช้กับ “ซัมซุงและบริษัทใดๆ ก็ตามที่ผลิตสินค้าประเภทนี้” โดยตนคาดว่าคำสั่งรีดภาษีสมาร์ทโฟนนำเข้าจะเริ่มมีผลบังคับภายในสิ้นเดือน มิ.ย.

ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า สหภาพยุโรปปฏิบัติต่อสหรัฐฯ “แย่มาก” และมีข้อจำกัดต่างๆ นานาไม่ให้สหรัฐฯ ส่งรถยนต์ไปขายในยุโรปได้อย่างสะดวก

“ผมจะบอกว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเล่นเกมในแบบที่ผมรู้วิธีเล่น” ทรัมป์ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคาดหวังบรรลุข้อตกลงกับอียูก่อนวันที่ 1 มิ.ย. หรือไม่? ทรัมป์ ตอบว่า “ผมไม่ได้คาดหวังข้อตกลง เราเป็นฝ่ายกำหนดข้อตกลงอยู่แล้วว่า 50% แต่ก็อีกนั่นแหละ... ถ้าพวกเขามาตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่นี่ ก็จะไม่มีภาษี”

มารอส เซฟโควิช กรรมาธิการการค้าของอียู ระบุว่า คณะกรรมาธิการยุโรปมีความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยมที่จะบรรลุข้อตกลงซึ่งดีกับทั้ง 2 ฝ่าย และย้ำว่าการค้าระหว่างอียูกับสหรัฐฯ “ต้องอิงอยู่บนหลักความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การข่มขู่”

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น