แผนการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ต้องการสร้างระบบต่อสู้ขีปนาวุธที่สามารถป้องกันพื้นที่ทั่วทั้งอเมริกา และตั้งชื่อให้ว่า “โกลเดนโดม” จะต้องเผชิญกับความท้าทายใหญ่หลวงทั้งด้านเทคนิคและการเมือง อีกทั้งมีต้นทุนสูงกว่าที่ประมุขทำเนียบขาวผู้นี้ประเมินไว้มาก
ทรัมป์ต้องการระบบที่สามารถป้องกันอาวุธต่างๆ ของศัตรู ตั้งแต่ขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก (ความเร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่าตัวขึ้นไป) และขีปนาวุธทิ้งตัว จนถึงโดรน และติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 3 ปีหรือก่อนที่ตนจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองนี้
อย่างไรก็ตาม นับจากสั่งการให้กระทรวงกลาโหมไปคิดหาตัวเลือกสำหรับระบบนี้เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ขณะนี้เพนตากอนยังแทบไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมมานำเสนอแต่อย่างใด
เมลานี มาร์โลว์ ผู้ช่วยอาวุโสในโครงการป้องกันภัยขีปนาวุธของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ซึ่งเป็นองค์การคลังสมองชื่อดังที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า ความท้าทายหลักของโครงการโกลเดนโดม คือ ต้นทุน ฐานอุตสาหกรรมกลาโหม และเจตจำนงทางการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สามารถเอาชนะได้ ทว่าต้องมีทั้งความมุ่งมั่นแน่วแน่ และการจัดลำดับให้ความสำคัญ
มาร์โลเสริมว่า ทำเนียบขาวและรัฐสภาต้องตกลงกันว่า จะใช้งบประมาณเท่าไรและเงินจะมาจากไหน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า อเมริกายังต้องเริ่มฟื้นฐานอุตสาหกรรมกลาโหมที่เสื่อมโทรมลง นอกจากนั้น โครงการนี้ยังต้องการความก้าวหน้าเกี่ยวกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ระบบสกัดกั้น และองค์ประกอบอื่นๆ
เมื่อวันอังคาร (20 พ.ค.) ทรัมป์ประกาศจะจัดสรรงบประมาณเบื้องต้น 25,000 ล้านดอลลาร์เพื่ออัดฉีดระบบโกลเดนโดม และบอกว่า ต้นทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ราว 175,000 ล้านดอลลาร์
ทว่า โธมัส โรเบิร์ตส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชากิจการระหว่างประเทศและวิศวกรรมการบินและอวกาศของสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย แย้งว่า ตัวเลขประมาณการดังกล่าวต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และประเด็นสำคัญคือ คำแถลงของทรัมป์ขาดรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาโมเดลโครงข่ายต่อต้านขีปนาวุธ
ต้นเดือนนี้ สำนักงานงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐฯ (ซีบีโอ) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ไม่ฝักใฝ่พรรคใด ประเมินต้นทุนระบบสกัดกั้นจากอวกาศ (เอสบีไอ) เพื่อทำลายไอซีบีเอ็มโดยไม่จำกัดจำนวนเอาไว้ที่ 161,000-542,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 20 ปี
ซีบีโอเสริมว่า ระบบสกัดกั้นที่ทรัมป์เล็งติดตั้งในโกลเดนโดมจะต้องใช้เอสบีไอที่มีประสิทธิภาพและราคาแพงกว่าระบบที่ทำการศึกษาก่อนหน้านี้มาก
ทั้งนี้ แนวคิดและชื่อของโกลเดนโดม มาจากระบบป้องกันภัยทางอากาศไอรอนโดมของอิสราเอล ทว่า ภัยคุกคามจากขีปนาวุธที่อเมริกาเผชิญไม่ใช่อาวุธพิสัยใกล้แบบที่ไอรอนโดมได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกัน
ในรายงานแนวทางการป้องกันภัยขีปนาวุธของเพนตากอนประจำปี 2022 ระบุว่า เทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกและขีปนาวุธทิ้งตัวของจีน มีศักยภาพใกล้เทียบเท่าเทคโนโลยีของอเมริกา ขณะที่รัสเซียกำลังเดินหน้าปรับปรุงไอซีบีเอ็มและพัฒนาขีปนาวุธโจมตีขั้นสูงที่มีความแม่นยำ
เอกสารดังกล่าวยังชี้ว่า ภัยคุกคามจากโดรนที่มีบทบาทสำคัญในสงครามยูเครน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเตือนอันตรายจากขีปนาวุธทิ้งตัวของเกาหลีเหนือและอิหร่าน ตลอดจนถึงจรวดและขีปนาวุธจากพวกตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งหมายถึงพวกผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ
แชด โอแลนด์ วิศวกรอาวุโสของ แรนด์ คอร์เปอเรชัน บริษัทวิจัยในเครือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชี้ว่า ภัยคุกคามเหล่านั้นร้ายแรงขึ้นอย่างชัดเจน แต่คำถามสำคัญคือ อะไรคือวิธีรับมือที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนที่สุด
โอแลนด์เสริมว่า คำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของโกลเดนโดมขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่อเมริกากำหนด เช่น การป้องกันจากภัยคุกคามกี่รูปแบบ เป้าหมายในการป้องกัน กล่าวคือมาตรฐานยิ่งสูง ต้นทุนก็จะสูงตามไปด้วย
โทมัส วิทธิงตัน นักวิชาการของรอยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิส อินสติติว กลุ่มคลังสมองด้านความมั่นคงและกลาโหมของอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตว่า มีหลักหมายทั้งด้านระบบราชการ การเมือง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องฟันฝ่าทะลุทะลงไปให้สำเร็จ ถ้าต้องการให้โกลเดนโดมใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ ก่อนสำทับว่า ระบบนี้มีต้นทุนสูงมากแม้พิจารณาในแง่งบประมาณกลาโหมของอเมริกาก็ตาม
(ที่มา: เอเอฟพี)