xs
xsm
sm
md
lg

บรรยากาศคุ้นๆ! 'ทรัมป์' เปิดศึกผู้นำแอฟริกาใต้ 'รามาโฟซา' กลางห้องทำงานรูปไข่ ยัดเยียดข้อหา 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนขาว'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เปิดศึกเผชิญหน้ากับประธานาธิบดี ซีริล รามาโฟซา แห่งแอฟริกาใต้ที่ทำเนียบขาววานนี้ (21 พ.ค.) โดยกล่าวหาแอฟริกาใต้ว่ามีการบังคับยึดที่ดิน และ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนขาว" (white genocide) ท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาที่ตึงเครียดไม่ต่างจากตอนที่ ทรัมป์ ด่ากราด โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนกลางทำเนียบเมื่อเดือน ก.พ.

แอฟริกาใต้ติดอันดับประเทศที่มีสถิติการฆาตกรรมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทว่าเหยื่อส่วนใหญ่ก็เป็นคนผิวดำ

รามาโฟซา คาดหวังว่าจะใช้เวทีพูดคุยครั้งนี้รีเซ็ตความสัมพันธ์กับรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งสั่งระงับความช่วยเหลือที่จำเป็นหลายอย่างต่อแอฟริกาใต้ เปิดทางให้คนแอฟริกาใต้ผิวขาวหรือ Afrikaners อพยพเข้าสหรัฐฯ ขับไล่ทูตแอฟริกาใต้ และยังวิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลแอฟริกาใต้เป็นตัวตั้งตัวตียื่นฟ้องศาลระหว่างประเทศเพื่อเอาผิดอิสราเอลฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์

รามาโฟซา ดูเหมือนจะเตรียมตัวมาพร้อมสำหรับการต้อนรับที่ก้าวร้าวของฝ่ายสหรัฐฯ โดยนำนักกอล์ฟผิวขาวชาวแอฟริกาใต้ที่มีชื่อเสียงร่วมมาในคณะเดินทางด้วย และย้ำว่าตนเองต้องการหารือประเด็นการค้า เนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของแอฟริกาใต้ และเวลานี้แอฟริกาใต้ถูก ทรัมป์ กำหนดอัตราภาษีตอบโต้สูงถึง 30%

กระนั้นก็ตาม ทรัมป์ ซึ่งเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดีเช่นกันไม่รอช้าที่จะเปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อคนขาวในแอฟริกาใต้ โดยมีการเปิดคลิปวิดีโอ และเอาบทความในข่าวที่ปรินท์ออกมาเป็นตั้งๆ เพื่อยืนยันข้อครหาของตนเอง

คลิปที่ถูกนำมาฉายขึ้นจอนั้นมีภาพไม้กางเขนสีขาวหลายอันซึ่ง ทรัมป์ อ้างว่าเป็นหลุมศพคนขาว และมีภาพแกนนำฝ่ายค้านแอฟริกาใต้ที่กำลังกล่าวสุนทรพจน์ปลุกปั่นยั่วยุ หนึ่งในนั้นคือ จูเลียส มาเลมา ซึ่ง ทรัมป์ บอกว่า "สมควรถูกจับ"

คลิปนี้ถูกถ่ายไว้ในเดือน ก.ย. ปี 2020 ระหว่างการชุมนุมประท้วงกรณีเกษตรกร 2 คนถูกสังหารในฟาร์มของพวกเขาเองเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้า

"เรามีผู้คนมากมายที่รู้สึกว่าพวกเขาถูกเล่นงาน จนพวกเขาต้องย้ายมาอยู่สหรัฐฯ" ทรัมป์ ระบุ

"เราจะยังคงรับคนจากหลายๆ สถานที่ หากเรารู้สึกว่ายังคงมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นอยู่" ทรัมป์ เอ่ยเสริม โดยหมายถึงเกษตรกรชาวแอฟริกาใต้ที่เป็นคนขาว

"คนจำนวนมากหลบหนีออกจากแอฟริกาใต้เพื่อเอาชีวิตรอด ที่ดินของพวกเขาถูกยึด และในหลายกรณีพวกเขาก็ถูกฆ่าด้วย" ทรัมป์ กล่าว โดยอ้างอิงทฤษฎีสมคบคิดที่ถูกแชร์กันในห้องแชตรูมของกลุ่มขวาจัดมานานนับสิบปี และได้รับการสนับสนุนจาก อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีคนดังผู้เกิดในแอฟริกาใต้และนั่งอยู่ภายในห้องประชุมด้วย

คนดำในแอฟริกาใต้เคยเผชิญการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงในยุคอาณานิคมและยุคแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ก่อนจะเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแบบหลายพรรคในปี 1994 ภายใต้การนำของ เนลสัน แมนเดลา

รัฐบาลแอฟริกาใต้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดของทรัมป์ โดยชี้ว่ากฎหมายปฏิรูปที่ดินซึ่งมุ่งแก้ไขความอยุติธรรมจากยุคแบ่งแยกสีผิวอนุญาตให้รัฐเวนคืนที่ดินโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย หากทำไปเพื่อสาธารณประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ที่ดินซึ่งถูกทิ้งรกร้าง เป็นต้น ทว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเวนคืนในลักษณะนั้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้


ตำรวจแอฟริกาใต้บันทึกสถิติคดีฆาตกรรมรวมทั้งสิ้น 26,232 คดีในปี 2024 และมีเพียง 44 คดีที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเกษตร ในจำนวนนี้มีเหยื่อเพียง 8 รายที่เป็นเกษตรกร

รามาโฟซา ซึ่งนั่งเก้าอี้ถัดจาก ทรัมป์ กล่าวตอบโต้คำครหาของผู้นำสหรัฐฯ ด้วยท่าทีสุขุม

"หากมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกษตรกรแอฟริกาเนอร์จริง ผมพนันได้เลย ท่านจะไม่ได้เห็นสุภาพบุรุษ 3 ท่านนั่งอยู่ตรงนี้" รามาโฟซา กล่าว โดยอ้างอิงถึง เออร์นีย์ เอลส์ (Ernie Els) และ รีทีฟ กูเซน (Retief Goosen) สองนักกอล์ฟชาวแอฟริกาใต้ผิวขาว และ โยฮันน์ รูเพิร์ต มหาเศรษฐีผิวขาวชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งล้วนแต่นั่งอยู่ภายในห้องทำงานรูปไข่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ยังคงอ้างต่อว่า "เรามีเรื่องราวเป็นพันๆ เรื่องที่จะพูดถึง เรามีสารคดี เรามีข่าว... สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการอธิบาย" เขากล่าว

รามาโฟซา ยอมรับว่าประเทศของเขามีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากจริง ทว่าเหยื่อส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนดำ แต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็แย้งขึ้นทันควันว่า "เกษตรกรเหล่านั้นไม่ใช่คนดำ"

ผู้นำแอฟริกาใต้พยายามอ้างถึง เนลสัน แมนเดลา ว่าเป็นตัวอย่างของนักสร้างสันติภาพ แต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าวใจ ทรัมป์ ซึ่งฐานเสียงส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมผิวขาว และตำนานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนขาวในแอฟริกาใต้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของกลุ่มขวาจัดในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ มานานแล้ว

"ผมขอบอกว่า การแบ่งแยกสีผิว (apartheid) เป็นเรื่องแย่มาก" ทรัมป์ กล่าว "และนี่คือสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามของการแบ่งแยกสีผิว"

รามาโฟซา นั้นแตกต่างจาก เซเลนสกี ตรงที่เขาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี กล่าวชื่นชมแนวคิดของ ทรัมป์ ในการตบแต่งห้องทำงานรูปไข่ให้เป็นโทนสีทอง และยังกล่าวว่าตนรอคอยที่จะส่งมอบตำแหน่งประธานกลุ่ม G20 ให้กับสหรัฐอเมริกาในปี 2026

ทรัมป์ ไม่ตอบว่าตนเองจะเดินทางไปร่วมประชุม G20 ที่แอฟริกาใต้ในเดือน พ.ย. นี้หรือไม่

ภายหลังการประชุม รามาโฟซา ยังคงเน้นหนักไปที่เรื่องการค้า โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่าทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะพูดคุยเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญแอฟริกาใต้ ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์แอฟริกาใต้กล่าวว่า รัฐบาลของตนได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน ซึ่งรวมถึงข้อเสนอซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐฯ ด้วย

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น