จีนมีความกังวลเกี่ยวกับโครงการสร้างโล่ป้องกันขีปนาวุธ "โกลเดนโดม" ของสหรัฐฯ และเรียกร้องวอชิงตันละทิ้งแผนพัฒนาและประจำการระบบดังกล่าว จากความเห็นของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศรายหนึ่งในวันพุธ(21พ.ค.) ในขณะที่วังเครมลินบ่งชี้ว่าความเคลื่อนไหวนี้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจบีบให้รัสเซียและอเมริกา ต้องกลับมาติดต่อพูดคุยกันอีกครั้ง เกี่ยวกับการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร(20พ.ค.) ว่าได้เลือกแบบๆหนึ่งสำหรับสร้างโล่ป้องกันขีปนาวุธ "โกลเดนโดม" มูลค่า 175,000 ล้านดอลลาร์(ราว 5.8 ล้านล้านบาท) และแต่งตั้งนายพลของกองกำลังอวกาศรายหนึ่งเข้ามาเป็นแกนนำโครงการอันทะเยอทะยานนี้ ที่มีเป้าหมายสกัดกั้นภัยคุกคามจากจีนและรัสเซีย ตามรายงานของรอยเตอร์
เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อถูกถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวระหว่างแถลงข่าวประจำวัน บอกว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าว "มีนัยยะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ค่อยดีซ่อนอยู่อย่างมาก และตอกย้ำถึงความเสี่ยงที่อวกาศจะกลายเป็นสนามรบ และกระตุ้นการแข่งขันสะสมอาวุธ"
"สหรัฐฯ ที่กำลังเดินตามนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน หมกมุ่นอยู่กับการหาทางสร้างความมั่นคงเพื่อตัวเอง มันขัดกับหลักการที่ว่าความมั่นคงของทุกประเทศไม่ควรถูกด้อยค่า และบ่อนทำลายสมดุลทางยุทธศาสตร์และเสถียรภาพของโลก จีน มีความกังวลอย่างแท้จริงเกี่ยวกับเรื่องนี้" เหมา หนิง ระบุ
โฆษกหญิงรายนี้เรียกร้องวอชิงตันให้ละทิ้งความเคลื่อนไหวพัฒนาระบบโล่ป้องกันขีปนาวุธนี้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และดำเนินการต่างๆเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นในบรรดาชาติมหาอำนาจ
ในส่วนของวังเครมลิน ในวันเดียวกัน บ่งชี้ว่าแผนจัดตั้งโล่ป้องกันขีปนาวุธ "โกลเดนโดม" ของทรัมป์ อาจบีบให้ต้องรื้อฟื้นการติดต่อกันระหว่างมอสโกกับวอชิงตัน เกี่ยวกับการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ในไม่ช้านี้
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับโครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธมหึมาของทรัมป์ ซึ่งมีเป้าหมายสกัดกั้นภัยคุกคามจากจีนและรัสเซีย ที่สหรัฐฯมองว่าเป็นคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์รายใหญ่ที่สุด ทาง ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลินบอกว่ามันเป็นประเด็นอธิปไตยของสหรัฐฯ
พอถามต่อว่ามอสโกมองโครงการนี้เป็นภัยคุกคามความเท่าเทียมทางนิวเคลียร์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯหรือไม่ ในเรื่องนี้ เปสคอฟ ตอบว่ายังไม่มีรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับโครงการของอเมริกาและหลายๆอย่างยังคลุมเครือ "ในอนาคตอันใกล้นี้ แน่นอนเป็นอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องมีการรื้อฟื้นการติดต่อกันในประเด็นเสถียรภาพเชิงกลยุทธ์" เปสคอฟกล่าว
รัสเซียและสหรัฐฯ ซึ่งเป็น 2 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก ต่างแสดงความเสียใจที่ต้องเห็นสนธิสัญญาควบคุมอาวุธต่างๆนานา ที่มีเป้าหมายชะลอการแข่งจันอาวุธและลดความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ ถูกทอดทิ้งไปทีละฉบับ
สหรัฐฯกล่าวโทษรัสเซียต่อการพังครืนลงของข้อตกลงต่างๆ ในนั้นรวมถึงสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธแบบทิ้งตัวปี 1972 และสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง(INF)ปี 1987
สหรัฐฯถอนตัวออกจากสนธิสัญญา INF อย่างเป็นทางการในปี 2019 โดยอ้างว่ารัสเซียเป็นฝ่ายล่วงละเมิด คำกล่าวหาที่ทางมอสโกปฏิเสธ ก่อนหน้านี้ อเมริกา ได้ถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธแบบทิ้งตัว ในปี 2002
"เวลานี้ กรอบกฎหมายในขอบเขตนี้ได้ถูกทำลายไปแล้ว และช่วงเวลาแห่งการบังคับใช้หมดอายุไปแล้ว หรือขอพูดว่าเอกสารจำนวนหนึ่งถูกจงใจทำให้ยุติลงโดยสมบูรณ์ รากฐานนี้จำเป็นต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศและเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของทั่วทั้งโลก" เปสคอฟกล่าว
(ที่มา:การ์เดียน/รอยเตอร์)