เอพี – เจ้าหน้าที่ไทยวันพุธ(14 พ.ค.)สามารถยึดขยะปนเปื้อนสารพิษครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปี จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ หนัก 238 ตัน ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายจากสหรัฐฯ มาขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ สำแดงเป็นสิ้นส่วนโลหะผสม เปิดดูกลับกลายเป็นเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพ
เอพีรายงานวันพฤหัสบดี(15 พ.ค.) อ้างถึงนายธีรราช อัตถนาวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ที่เปิดเผยว่า ขยะดังกล่าวซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ 10 ตู้ ถูกสำแดงว่าเป็นเศษโลหะผสม แต่กลับกลายเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ปะปนอยู่ในกองเศษโลหะขนาดใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ได้พบเศษดังกล่าวจากการสุ่มตรวจที่ท่าเรือคลองเคยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
เอพีอ้างรายงานสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วที่ระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีขยะอิเล็กทรอนิกจำนวนราว 62 ล้านตันแพร่กระจายออกไปในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 82 ล้านตันภายในปี 2030
ในรายงานยังระบุต่อว่า มีแค่ 22% ของขยะอิเล็กทรอนิกทั้งหมดได้รับการเก็บอย่างเหมาะสมและถูกนำมารีไซเคิลใหม่ในปี 2022 และจำนวนนั้นคาดว่าจะลดลงไปที่ 20% ภายในสิ้นทศวรรษเนื่องมาจากการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ช่องทางการซ่อมแซมที่จำกัด อายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง และการบริหารโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เหมาะสม
อธิบดีธีรัชย์แถลงว่า เจ้าหน้าที่ไทยจะดำเนินคดีข้อหาสำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ ต่อผู้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกอย่างผิดกฎหมายและมีแผนส่งคืนขยะเหล่านี้กลับประเทศต้นทาง
“เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องดำเนินการกับสินค้าประเภทนี้” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า “สินค้าประเภทนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้คน โดยเฉพาะชุมชนรอบโรงงานที่อาจนำเข้าสินค้าเหล่านี้มาแปรรูปแล้วนำไปรีไซเคิล”
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นชื่อว่าเป็นพิษและส่งผลร้ายอย่างมหันต์ต่อสุขภาพ มีส่วนประกอบมากมายที่เคลือบด้วยตะกั่วและปรอท แคดเมี่ยม ผู้รีไซเคิลจะมุ่งไปที่การสกัดเอาโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน แพลเลเดียม (Palladium) และทองแดง ที่อยู่บนแผงวงจร แต่การควบคุมที่หละหลวมทำให้โรงงานรีไซเคิลมักเลือกวิถีเผาตัวแผงวงจรที่เป็นพลาสติกเพื่อหลอมเอาโลหะมีค่า ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ปลอดภัย
เอพีรายงาน ไทยได้ผ่านกฎหมายการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกประเภทต่างๆเมื่อปี 2020 และอีกทั้งคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้อนุมัติขยายบัญชีเพิ่มประเภทของขยะต้องห้ามเข้าประเทศ
นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สงสัยว่ามีโรงงานใน จ.สมุทรสาครไม่ต่ำกว่า 2 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าขยะพิษเหล่านี้
เมื่อมกราคมต้นปีกรมศุลกากรได้เคยแถลงว่า สามารถยึดขยะอิเล็กทรอนิกผิดกฎหมายจากญี่ปุ่นและฮ่องกงที่ท่าเรือแหลมฉบังในทางภาคตะวันออกของไทย