xs
xsm
sm
md
lg

โดนจัดการเรียบ!ผลลัพธ์สงครามปากีฯ-อินเดีย ทำตะวันตกหวาดผวาเครื่องบินรบจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชัยชนะอันน่าประหลาดใจของฝูงบินขับไล่ที่ผลิตโดยจีน แห่งกองทัพปากีสถาน ในศึกสู้รบบนอากาศกับเครื่องบินรบอินเดียที่ผลิตโดยตะวันตก กำลังโหมกระพือความวิตกกังวลในอุตสาหกรรมกลาโหมทั่วโลก ขณะที่มันสำแดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพที่เกินความคาดหมายของปักกิ่ง ในภาคอุตสาหกรรมนี้ ตามรายงานของเว็บไซต์วอชิงตัน เอ็กแซมมิเนอร์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์

การปะทะกันระหว่างอินเดียกับปากีสถานเมื่อวันพุธที่แล้ว(7พ.ค.) กลายเป็นหนึ่งในศึกสู้รบทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาตตร์สมัยใหม่ ทั้งนี้ในท้ายที่สุดแล้ว พบว่าปากีสถานเป็นฝ่ายมีชัย พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยอมรับกับรอยเตอร์ว่าเครื่องบินรบ J-10 สัญชาติจีนของปากีสถาน สอยร่วงเครื่องบินขับไล่ราฟาล ของอินเดีย ที่ผลิตโดยฝรั่งเศส ด้วยขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่อากาศ PL-15 ของจีน เหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินราฟาลถูกยิงตกและเป็นหนแรกที่เครื่องบินรบ J-10 สอยร่วงเครื่องบินลำอื่น

แม้เครื่องบิน J-10 ถูกเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2004 แต่ด้วยที่จีนไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวโดยตรงกับความขัดแย้งในต่างแดน จึงไม่เคยพบเห็นมันถูกส่งเข้าประจำการในศึกสู้รบมาก่อนเลยจนกระทั่งวันพุธที่ 7 พฤษภาคม และจากข้อเท็จจริงที่ว่ามันสามารถคว้าชัยชนะเหนือยุทโธปกรณ์ตะวันตกได้ทันทีในการถูกใช้งานเป็นครั้งแรก มันอาจก่อแรงเสริมครั้งใหญ่แก่ภาคอุตสาหกรรมกลาโหมของจีน

ทั้ง J-10 และ ราฟาล ถูกมองว่าเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่น 4.5 เทียบเท่ากับ F-16 แฃะ F/A-18 ของสหรัฐฯ

ชัยชนะอันสุดช็อคของยุทโปกรณ์จีนเหนืออาวุธของตะวันตก ก่อแรงกระเพื่อมอย่างรวดเร็วในตลาดหุ้น โดยหนังสือพิมพ์ยูเรเซียไทม์ส รายงานว่าหุ้นของ Avic Chengdu Aircraft Co. Ltd. ผู้ผลิต J-10 พุ่งขึ้นถึง 36% ในการซื้อขาย 2 วันหลังจากนั้น ส่วนุ่นของ Dassault Aviation ผู้ผลิตราฟาล ดิ่งลงราว 1.64% ถึง 5%

"ประชาคมสงครามทางอากาศทั้งในจีน สหรัฐฯและบรรดาชาติยุโรปจำนวนหนึ่ง จะให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในความพยายามให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงในภาคสนามให้ได้มากที่สุด เพื่อดูว่ายุทโธปกรณ์ใด กลยุทธ์ เทคนิคและผู้ผลิตใด ที่ใช้ได้ผลและไม่ได้ผล" ดักลาส แบร์รี นักวิจัยด้านการบินทหารแห่งสถาบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติ บอกกับรอยเตอร์

นักวิเคาะห์คาดเดาว่าแต่ละฝ่ายต่างใช้ชีปนาวุธล้ำสมัยที่สุดที่มี โดยปากีสถานใช้ขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่อากาศ PL-15 ของจีน ส่วนอินเดียใช้ขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่อากาศ European Meteor ซึ่งดูเหมือน PL-15 จะทำได้เหนือกว่าในการสู้รบ สอยร่วงเครื่องบินขับไล่อินเดียอย่างน้อย 3 ลำ ผิดกับเครื่องบินขับไล่ของปากีสถานที่อยู่รอดปลอดภัยทุกลำ

กระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน อวดอ้างว่าเครื่องบินขับไล่ของพวกเขาโจมตีใส่เครื่องบินรบของอินเดียที่เปิดฉากยิงใส่ก่อนเท่านั้น นั่นทำให้มีเครื่องบินรบของอินเดียถูกสอยร่วงแค่ 5 ลำ "นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงมีเครื่องบินถูกสอยร่วงแค่ 5 ลำ ถ้าคำสั่งนั้นต่างออกไป อาจมีเครื่องบินที่ถูกเล่นงานเกือบๆ 10-12 ลำ"

ผลลัพธ์ของการสู้รบครั้งนี้กลายเป็นสัญญาณเตือนส่งถึงอุตสาหกรรมกลาโหมของตะวันตก ซึ่งไม่มั่นใจมาช้านานเกี่ยวกับแสนยานุภาพของอาวุธจีน โดยผู้เชี่ยวชญด้านอุตสาหกรรมกลาโหมตะวันตกรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับ วอชิงตัน เอ็กแซมมิเนอร์ ว่าการสู้รบครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าบางทีแสนยานุภาพของ PL-15 อาจมากกว่าที่คิดไว้ " PL-15 คือปัญหาใหญ่ มันเป็นบางอย่างที่กองทัพสหรัฐฯให้ความสนใจอย่างมาก"

การสู้รบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่อินเดียและปากีสถานต่างฝ่ายต่างปรับปรุงศักยภาพกองทัพอากาศของตนเอง โดยความเป็นปรปักษ์ที่ปะทุขึ้นก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ในตอนนั้นยังเป็นการปะทะกันระหว่าง F-16 และ JF-17 ของปากีสถาน กับเครื่องบิน มิราจ 2000 และ มิก-21 ของอินเดีย ทั้งนี้แม้ ปากีสถาน ยกเครื่องฝูงบิน F-16 ให้มีความทันสมัยขึ้น แต่เครื่องบินรบรุ่นนี้ไม่ได้มีส่วนในการสู้รบเมื่อวันพุธที่แล้ว

ชัยชนะของ J-10 มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นตัวส่งเสริมอุตสาหกรรมกลาโหมของจีนในทั่วโลก โดยหนังสือพิมพ์ยูเรเซียไทมส์ รายงานว่าปัจจุบันอุซเบกินสถานกำลังชั่งใจซื้อระหว่าง J-10 กับ ราฟาล ในการปรับปรุงกองทัพอากาศของตนเองให้มีความทันสมัย ในขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าอียิปต์สนใจซื้อ J-10 เช่นกัน

สงครามระหว่างชาติต่างๆบ่อยครั้งถูกใช้เป็นสนามทดสอบสำหรับอุตสาหกรรมกลาโหมของฝ่ายตรงข้าม ยกตัวอย่างเช่นระหว่างสงครามเบ็น อุตสาหกรรมกลาโหมสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตใช้อิสราเอลและคู่ขัดแย้งอาหรับของพวกเขา เป็นสนามทดสอบแสนยานุภาพอาวุธของพวกเขา บนสมมุติฐานที่ว่าอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน

รูปแบบดังกล่าวดูเหมือนจะเกิดซ้ำรอบในศึกระหว่างอินเดียกัยปากีสถาน โดยสหรัฐฯและจีนต่างกระตือรือร้นจับตาดูว่าอาวุธของจีนนั้นทำผลงานได้ดีแค่นี้ ในความเป็นไปได้ที่อาจเกิดศึกสงครามระหว่างกันเกี่ยวกับไต้หวัน
(ที่มา:วอชิงตัน เอ็กแซมมิเนอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น