ชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวชุดแรกที่ได้รับสถานะ "ผู้ลี้ภัย" ภายใต้โครงการริเริ่มของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเครื่องบินเดินทางออกจากท่าอากาศยานในเมืองโจฮันเนสเบิร์กไปยังสหรัฐฯ แล้วเมื่อวันอาทิตย์ (11 พ.ค.)
คอลเลน อึมซีบี โฆษกกระทรวงคมนาคมแอฟริกาใต้ บอกกับรอยเตอร์ว่า "หนึ่งในเงื่อนไขออกใบอนุญาตคือ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่มีคดีอาชญากรรมติดตัวอยู่" พร้อมเผยว่าในขณะนั้นมีผู้โดยสารที่ผ่านการตรวจคัดกรองแล้ว 49 คน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสัมภาษณ์พูดคุยกับกลุ่มคนที่กำลังมุ่งหน้าไปยังสหรัฐฯ
อึมซีบี ให้ข้อมูลว่า คนขาวกลุ่มนี้จะขึ้นเครื่องบินไปลงที่สนามบินดัลเลสนอกกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังรัฐเทกซัส
ทรัมป์ เสนอมอบสถานะผู้ลี้ภัยให้กับคนแอฟริกาใต้ผิวขาว โดยเฉพาะกลุ่มแอฟริกาเนอร์ (Afrikaners) ซึ่งมีประวัติเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในแอฟริกาใต้ยาวนานที่สุด และถือเป็นส่วนใหญ่ของคนขาวที่นั่น
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแอฟริกาใต้และสหรัฐฯ เอง เนื่องจากรัฐบาล ทรัมป์ เลือกที่จะเปิดโอกาสให้คนขาวกลุ่มนี้ แต่กลับปฏิเสธไม่รับผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่คนขาวเกือบทั้งหมดจากทั่วโลก
ความเคลื่อนไหวนี้ยังมีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางเชื้อชาติจากเรื่องที่ดินและตำแหน่งงาน ซึ่งเป็นปัญหากัดเซาะการเมืองภายในแอฟริกาใต้มาช้านาน
ทรัมป์ เรียกร้องให้สหรัฐฯ เน้นรับชาวแอฟริกาเนอร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวดัตช์ยุคแรกๆ ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา โดยอ้างว่าพวกเขา "ตกเป็นเหยื่อการแบ่งแยกทางเชื้อชาติที่ไม่เป็นธรรม"
การให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวซึ่งปัจจุบันยังคงถือเป็นกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์สูงสุดในสังคมหลังสิ้นสุดนโยบายแบ่งแยกชนชั้นด้วยสีผิว (aparthied) เมื่อ 30 ปีก่อน สร้างความตกตะลึงและเสียงเย้ยหยันจากรัฐบาลแอฟริกาใต้ ซึ่งระบุว่ารัฐบาล ทรัมป์ กำลังเข้ามาแทรกแซงประเด็นการเมืองภายในของแอฟริกาใต้ที่ตัวเขาเองไม่มีความเข้าใจถ่องแท้
30 ปีหลังจาก เนลสัน แมนเดลา นำระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่แอฟริกาใต้ คนผิวขาวกลุ่มน้อยที่เคยกุมอำนาจปกครองประเทศนี้ยังคงสามารถรักษาทรัพย์สินที่สะสมไว้ตั้งแต่ยุคอาณานิคมและยุคแบ่งแยกสีผิว คนขาวยังคงเป็นเจ้าของที่ดินเอกชนราว 3 ใน 4 และถือครองทรัพย์สินมากกว่าคนผิวดำที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศถึง 20 เท่าตัว ตามข้อมูลจากวารสารวิชาการนานาชาติ Review of Political Economy
คนผิวขาวในแอฟริกาใต้ยังเป็นกลุ่มที่ว่างงานน้อยที่สุดด้วย
กระนั้นก็ตาม คำกล่าวอ้างที่ว่าคนแอฟริกาใต้ผิวขาวถูกแบ่งแยกกีดกันโดยคนส่วนใหญ่ที่เป็นผิวดำก็ถูกนำไปผลิตซ้ำๆ ตามห้องแชตรูมต่างๆ จนกลายเป็นความเชื่อฝังหัวของกลุ่มขวาจัด และถูกเอามาตีแผ่โดย อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลาซึ่งมีกำเนิดเป็นชาวแอฟริกาใต้
ที่มา: รอยเตอร์