xs
xsm
sm
md
lg

‘อินเดีย’สูญเสียเครื่องบินขับไล่ตัวท็อปผลิตจากฝรั่งเศส 3 ลำ เมื่อทำศึกเวหากับ‘ปากีสถาน’ซึ่งใช้ไอพ่นและขีปนาวุธจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


มีเครื่องบินขับไล่ ราฟาล ผลิตในฝรั่งเศสอย่างน้อย 3 ลำถูกสอยร่วงโดยขีปนาวุธของปากีสถานที่ยิงทั้งจากทางอากาศและทางภาคพื้นดินตลอดทั่วทั้งพรมแดนแคว้นแคชเมียร์ ทั้งนี้ตามคำแถลงของนายกรัฐมนตรีปากีสถาน เชห์บาซ ชารีฟ  สำหรับภาพนี้เป็นเครื่องบินขับไล่ ราฟาล ของกองทัพอากาศอินเดีย ที่บินทะยานขึ้นฟ้าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2021 ณ งานแสดงการบิน แอโร อินเดีย 2021 ที่เมืองเบงคลูรู (บังคาลอร์) ของอินเดีย
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.aaiatimes.com)

India loses top fighter jet – bad news for its future air combat
by Stephen Bryen
09/05/2025

เครื่องบินขับไล่ “ราฟาล” ตัวท็อปที่อินเดียซื้อหามาจากฝรั่งเศสจำนวน 3 ลำถูกสอยร่วง เมื่อปากีสถานยิงขีปนาวุธจีน จากไอพ่น เจ-10 ของพวกเขาซึ่งจีนกับปากีสถานร่วมกันผลิต

ในการสู้รบระหว่างอินเดียกับปากีสถานคราวนี้ ปรากฏว่าอินเดียสูญเสียเครื่องบินขับไล่ไอพ่นตัวท็อปของตน ซึ่งก็คือ ราฟาล อีเอช (Rafale EH) รวมทั้งเครื่องบินแบบอื่นๆ ด้วย ข่าวระบุว่า เครื่องบินขับไล่ ราฟาล 3 ลำของอินเดียถูกยิงตก นอกจากนั้นยังมีเครื่องบินซูคอย (Sukhoi) อีกอย่างน้อย 1 ลำ และ มิก (MIG) 1 ลำ บวกกับโดรนตรวจการณ์สอดแนมขนาดใหญ่ทำในอิสราเอลอีก 1 ลำ ถูกทำลายโดยฝีมือของกองทัพอากาศปากีสถาน

จวบจนกระทั่งถึงตอนที่เกิดการสู้รบทางอากาศล่าสุดนี้ อินเดียได้รับมอบเครื่องบินขับไล่ ราฟาล มาแล้วรวม 34 ลำ เครื่องบินเหล่านี้อยู่ในแพลตฟอร์มภารกิจอเนกประสงค์ ที่มีความเหมาะสมสำหรับภารกิจการบินเพื่อการสู้รบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการครองความเป็นเจ้าเวหา และการป้องกันภัยทางอากาศ, การปิดการสนับสนุนทางอากาศของข้าศึก, การถล่มโจมตีแบบลงลึก, การตรวจการณ์สอดแนม, การโจมตีต่อสู้เรือ, และการป้องปรามทางนิวเคลียร์

สำหรับในการประจันหน้ากันครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นเป็นเวลาราวๆ 1 ชั่วโมง เครื่องบินขับไล่ราฟาลทั้ง 3 ลำต่างติดตั้งขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) SCALP ซึ่งในสหราชอาณาจักรจะรู้จักเรียกขานกันว่า สตอร์ม แชโดว์ (Storm Shadow) โดยที่ขีปนาวุธแบบนี้ได้ถูกนำออกมาใช้กันอย่างกว้างขวางในยูเครน

นอกจากนั้น ราฟาล ยังมีขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่อากาศ แบบ มิคา (MICA ย่อจากภาษาฝรั่งเศสว่า missile d’interception, de combat et d’auto-défense) โดยมีการพบขีปนาวุธชนิดนี้อย่างน้อย 1 ลูกบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่ ราฟาล ลำแรกตกลงมาหลังถูกสอย ทั้งนี้ ราฟาล ลำนั้นมีหมายเลขติดอยู่ที่ส่วนหางว่า BS-001 ซึ่งหมายความว่าเป็น ราฟาล ลำแรกที่ถูกส่งมาให้แก่กองทัพอากาศอินเดีย สำหรับ BS หมายถึงเป็นเครื่องบินที่นั่งเดี่ยว

ซากหางเครื่องบินราฟาล ที่ถูกยิงตกลำแรก ซึ่งมีอักษรย่อและตัวเลขเขียนว่า BS-001
ศึกเวหาครั้งนี้เกิดขึ้นมาแบบสอยกันในระยะไกล ไม่ใช่การสู้รบพันตูประชิดตัวแบบคลาสสิก ฝ่ายปากีสถานกำลังปฏิบัติการอยู่เหนือน่านฟ้าของฝ่ายตนเอง เมื่อตอนที่เครื่องบินขับไล่ เจ-10 (J-10) ของพวกเขา (เป็นเครื่องบินจีน แต่จีนกับปากีสถานร่วมกันผลิตขึ้นในปากีสถาน) ลำหนึ่ง เปิดฉากยิงขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบ พีแอล-15 (PL-15) ของจีนออกมาหลายลูก ชิ้นส่วนบางชิ้นของขีปนาวุธ PL-15 ลูกหนึ่งถูกค้นพบในดินแดนของฝ่ายอินเดีย โดยในนี้มีทั้งส่วนที่เป็นเรดาร์ AESA ของขีปนาวุธชนิดนี้ (AESA ย่อมาจาก active electronically scanned array)

ภาพที่จีนเผยแพร่ แสดงให้เห็นเครื่องบินยิงขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบ PL-15
ขีปนาวุธ PL-15 ของจีน คืออาวุธที่มุ่งใช้มาแข่งขันเทียบเคียงกับ AIM-120D AMRAAM ของสหรัฐฯ (AMRAAM ย่อมาจาก advanced medium-range air-to-air missile ขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่อากาศพิสัยกลางรุ่นล้ำยุค) อันเป็นขีปนาวุธที่มุ่งโจมตีใส่เป้าหมายจากระยะไกลเกินสายตามองเห็น (beyond-visual-range หรือ BVR) ซึ่งใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศ PL-15 มีพิสัยทำการระหว่าง 200 ถึง 300 กิโลเมตร ถึงแม้เวอร์ชั่นส่งออกจะยิงได้ไกลแค่ 145 กิโลเมตร เห็นกันว่าเวอร์ชั่นที่ปากีสถานมีอยู่คือรุ่นสำหรับส่งออกนี้แหละ ขีปนาวุธแบบนี้ของจีนมีความเร็วสูงจริงๆ ทันทีที่ถูกยิงออกมา อัตราความเร็วของมันจะอยู่ที่ราว มัค-5 (ความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าตัว โดยอยู่ที่ราวๆ 6,176 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

เปรียบเทียบกับแล้ว ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ MICA ของฝรั่งเศส มีพิสัยทำการสั้นกว่ากันเห็นๆ นั่นคือยิงไปได้ไกลราวๆ 60 ถึง 80 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ PL-15 ของจีนเมื่ออยู่ในฐานะที่เป็นอาวุธพร้อมยิงขณะกำลังเผชิญหน้ากัน จึงมีความได้เปรียบอย่างสำคัญ และนี่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในการเผชิญหน้ากันเมื่อเร็วๆ นี้คราวนั้น

ขีปนาวุธ มิกา (MICA) ติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ราฟาล มารีน ถ่ายในงานแสดงการบิน เลอ บูร์เจ กรุงปารีส ปี 2007 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
กองทัพอากาศสหรัฐฯได้ทุ่มวางเดิมพันของตนแทบทั้งหมดเอาไว้ที่การพัฒนาสมรรถนะ 2 อย่าง ได้แก่
**ความสามารถในการหลีกเร้นเรดาร์ (stealth) โดยทุ่มให้แก่พวกแพลตฟอร์มอย่าง เอฟ-22 (F-22) และ เอฟ-35 (F-35) และ
**อำนาจจากพิสัยไกลในการสั่งห้ามเข้าพื้นที่ ด้วยการใช้พวกขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ ในการทำสงครามที่เรียกกันว่า “ระยะไกลเกินสายตา” (beyond visual range หรือ BVR)

ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ เครื่องบินขับไล่อย่างเช่น F-35 ยอมสละทิ้งเรื่องความสามารถในการสู้รบแบบดำเนินกลยุทธ์ (maneuverability) โดยหันมาเน้นเรื่องความสามารถในการหลีกเร้นเรดาร์ และติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยไกล เพื่อสนับสนุนการเผชิญหน้ากันแบบ BVR

ราฟาลนั้น ไม่ใช่เครื่องบินในแพลตฟอร์มหลีกเร้นเรดาร์ และในขณะที่หลายๆ ด้านมีความล้ำหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทว่ามันไม่ได้มีศักยภาพด้าน BVR แบบที่เครื่องบินขับไล่และขีปนาวุธอากาศสู่อากาศซึ่งออกแบบโดยจีนมีกันอยู่

ยิ่งกว่านั้น แม้กระทั่งขีปนาวุธ AMRAAM ของสหรัฐฯ ก็ดูยังไม่เพียงพอที่จะทำการแข่งขันชิงชัยใดๆ อยู่ดี ซึ่งหมายความว่า จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน AMRAAM มาเป็นขีปนาวุธอากาศสู่อากาศรุ่นที่มีพิสัยทำการไกลขึ้นกว่านี้และมีอัตราเร็วมากขึ้นกว่านี้

ทางฝ่ายรัสเซียก็มีขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ BVR เช่นเดียวกัน คือ อาร์-77 (R-77) ซึ่งเวลานี้กำลังอยู่ระหว่างการอัปเกรด เวอร์ชั่นใหม่เวอร์ชั่นหนึ่งคือ R-77M ถูกออกแบบมาสำหรับเรื่องบิน ซู-57 (Su-57) รุ่นใหม่ของรัสเซีย โดยมีทั้ง มอเตอร์แบบพัลซ์ (pulse motor) (อย่างเดียวกับใน PL-15 ของจีน) และทั้งเรดาร์ AESA ครบทั้ง 2 อย่าง โดยที่มีความเป็นไปได้ทีเดียวว่ามันเป็นการนำเอาเทคโนโลยีจีนมาใช้ รัสเซียยังดูเหมือนจะมี R-77 เวอร์ชั่นที่ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นสแครมเจ็ต (scramjet-powered) อีกด้วย ไม่เป็นที่ทราบกันว่าขีปนาวุธ R-77 ทั้ง 2 เวอร์ชั่นใหม่นี้มีพิสัยทำการไกลแค่ไหน ถึงแม้ R-77 รุ่นก่อนหน้านี้ มีพิสัยทำการที่ด้อยกว่า AMRAAM

สิ่งที่เกิดขึ้นกับอินเดียในศึกเวหาล่าสุดนี้ ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับองค์การนาโต้ ซึ่งดูเหมือนกำลังถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลังในเรื่องเทคโนโลยี เวลาเดียวกันมันก็เป็นคำเตือนถึงสหรัฐฯให้เร่งรัดการพัฒนาสิ่งที่จะมาแทนที่ขีปนาวุธ AMRAAM

ขณะที่สหรัฐฯเวลานี้มีขีปนาวุธตัวใหม่ซี่งจะมาแทนที่ AMRAAM อยู่แล้ว โดยได้รับการขนานนามว่า AIM-260 JATM (JATM ย่อมาจาก joint advanced tactical missile) ทว่าเวลานี้ขีปนาวุธใหม่นี้มีการผลิตในอัตราที่ต่ำมาก รวมทั้งยังไม่สามารถบรรลุถึงสมรรถนะในการปฏิบัติการเบื้องต้นได้ สันนิษฐานกันว่ามันมีพิสัยทำการได้ไกล 200 กิโลเมตร ซึ่งก็ทำให้มันอยู่แค่ระดับล่างสุดของขั้นต่ำเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ PL-15

ยังมีอะไรที่จะต้องเรียนรู้กันอีกมากนัก เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากันครั้งล่าสุดระหว่างกองทัพอากาศของปากีสถานกับของอินเดีย แต่มันอาจจะมีข่าวร้ายมากขึ้นกว่านี้อีก

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวพิเศษอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ สำหรับข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น