xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ของจีนในการทำสงครามภาษีศุลกากรกับโดนัลด์ ทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จิน ชั่นหรง


โตเลิม เลขาธิการใหญ่แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และ สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีจีน เป็นประจักษ์พยานการลงนามในเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของประเทศทั้งสอง ณ กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2025
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s strategy in the tariff wars
by Jin Canrong
17/04/2025

จิน ชั่นหรง นักวิชาการระดับท็อปของจีน เสนอให้ออกพันธบัตรสกุลเงินเหรินหมินปี้ (หยวน) เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับให้จีนนำเข้าสินค้าของเอเชีย และเข้าแทนที่อุปสงค์ความต้องการของสหรัฐฯซึ่งมีต่อสินค้าเหล่านี้ ในช่วงจังหวะเวลาที่ทรัมป์ใช้สงครามภาษีศุลกากร บีบบังคับให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียลดการได้เปรียบดุลการค้าที่มีอยู่กับสหรัฐฯ ซึ่งยังอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์ขึ้นในระดับโลก

หมายเหตุบรรณาธิการ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางไปเยือนเวียดนาม, มาเลเซีย, และกัมพูชา ในฐานะเป็นแขกของผู้นำประเทศ (state visit) นั้นๆ ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายนที่ผ่านมา ทริปนี้เป็นการเดินทางไปเยือนต่างประเทศเที่ยวแรกในปีนี้ของ สี และเกิดขึ้นหลังจากมีการจัดการประชุมส่วนกลางว่าด้วยกิจการงานที่เกี่ยวข้องกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน (Central Conference on Work Related to Neighboring Countries) ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง จากวันที่ 8 ถึง 9 เมษายน เมื่อถูกถามความเห็นว่าข้อความสำคัญที่สุดของการประชุมดังกล่าวนี้คืออะไร ศาสตราจารย์จิน ชั่นหรง (Jin Canrong) แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University) นักวิเคราะห์ชาวจีนคนสำคัญที่มักได้รับการอ้างอิงในสื่อตะวันตกอยู่บ่อยครั้ง บอกกับเว็บไซต์ภาษาจีน guancha.cn หรือ “Observer” (ผู้สังเกตการณ์) ว่า ปักกิ่งจะพยายามติดต่อร่วมมือกับบรรดาชาติคู่ค้าในเอเชียของตน เพื่อเป็นกันชนลดทอนผลกระทบจากภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะลงทุนตามแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของตนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย แต่นอกจากนั้นแล้ว จีนยังจะขยายอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถซื้อสินค้าจากบรรดาคู่ค้าชาวเอเชียได้มากขึ้นอีกด้วย ในทางกลับกัน ประเทศอาเซียนทั้งหลายก็สามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลจีนที่เป็นสกุลเงินเหรินหมินปี้ โดยจีนจะนำเงินที่จำหน่ายได้ มานำเข้าสินค้าเอเชียเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นการเข้าแทนที่อุปสงค์ความต้องการของสหรัฐฯได้ในบางระดับ
ต่อไปนี้ คือ ความคิดเห็นของศาสตราจารย์ จิน:


การประชุมส่วนกลางว่าด้วยกิจการงานที่เกี่ยวข้องกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านคราวนี้ถูกจัดขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์โลกที่หนักหนาสาหัส ซึ่งมีสาเหตุจากสงครามภาษีศุลกากรอันป่าเถื่อนมุ่งร้ายของสหรัฐฯ การประชุมคราวนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรายังคงมีความคาดหวังที่จะให้ความสำคัญในลำดับสูงแก่งานดังกล่าวภายในยุทธศาสตร์ทั่วโลกของประเทศของเรา

จีนกับสหรัฐฯนั้นได้เข้าสู่สถานะของการเผชิญหนากันแล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ ความสัมพันธ์ที่จีนมีอยู่กับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านก็ยิ่งเพิ่มทวีความสำคัญมากขึ้นอีก สำหรับจีนแล้ว การพัฒนาความสัมพันธ์และการรักษาความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้อย่างกระตือรือรือร้น ถือว่ามีความสำคัญอย่างเป็นพิเศษ รวมทั้งจะส่งผลกระทบอย่างกว้างไกล

ตราบใดที่เรายังคงสามารถทำงานได้ดีทั้งงานภายในประเทศและการทูตกับเพื่อนบ้าน เราก็จะสามารถที่จะรักษาฐานะอันหนักแน่นมั่นคงของประเทศเราอในเกมทางยุทธศาสตร์จีน-สหรัฐฯนี้เอาไว้ได้

ตลอดระยะเวลาสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้จะเกิดปัญหาระดับโลกขึ้นมาจำนวนหนึ่ง และมีสถานการณ์หลายอย่างซึ่งมีความสลับซับซ้อนสูง แต่จีนกับอาณาบริเวณที่อยู่รอบๆ ตัวเอง ก็ยังคงมีความมั่นคงค่อนข้างมาก

สำหรับในขั้นต่อไป อาณาบริเวณรอบๆ จีนจะกลายเป็น “เกาะแห่งเสถียรภาพ” ที่หาได้ยาก และสามารถได้รับประโยชน์จากแรงโมเมนตัมแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง ภูมิภาคนี้จะได้เห็นโอกาสลู่ทางอันยอดเยี่ยมและคุณค่าที่เลิศล้ำกว่าใครๆ ในอนาคตข้างหน้า

เวลาเดียวกัน เนื่องจากประชากรของประเทศต่างๆ ที่อยู่รายล้อมจีนก็มีขนาดใหญ่โตมากเช่นเดียวกัน ทั้งจีนและอินเดียต่างมีจำนวนประชากรเกินกว่า 1,400 ล้านคน ขณะที่อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, และบังกลาเทศก็เป็นประเทศที่มีประชากรขนาดใหญ่ ระดับ 290 ล้าน, 250 ล้าน, และ 180 ล้านคนตามลำดับ จีนกับบรรดาประเทศที่อยู่รายล้อมตนรวมกันแล้วมีประชากรคิดเป็นประมาณ 59% ของประชากรทั้งหมดของโลกทีเดียว

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว เราจัดการกับเรื่องความสัมพันธ์ที่เรามีกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านได้ค่อนข้างดี แต่ก็มีจุดอ่อนข้อบกพร่องเช่นกันซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับการพัฒนาของเรา เรานั้นยังไม่ได้ผ่านกระบวนการก้าวไปสู่ความทันสมัยอย่างเต็มที่แล้ว ตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากร (per capita GDP) ของเราอยู่ที่ประมาณ 13,000 ดอลลาร์ ขณะที่ของสหรัฐฯนั้นอยู่ที่สูงกว่า 80,000 ดอลลาร์

ถึงแม้เป้าหมายโดยรวมของมนุษยชาติ คือการมุ่งหน้าเข้ากระบวนการไปสู่ความมันสมัย แต่จีนในเวลานี้ยังอยู่เพียงแค่ขั้นตอนแห่งการประสบความสำเร็จในเบื้องต้นเท่านั้น และยังไม่ได้กลายเป็นผู้กำหนดจัดวางมาตรฐานของการก้าวสู่ความทันสมัยแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาจากลู่ทางโอกาสที่จะสร้างความเข้มแข็งแห่งชาติอย่างรอบด้านขึ้นมา การพัฒนาของเราเวลานี้ยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านซอฟต์เพาเวอร์ (soft power) ถ้าประเทศของเรามีตัวเลขจีดีพีถัวเฉลี่ยต่อหัวอยู่ในระดับสูงกว่า 50,000 ดอลลาร์ และเราก็มีประชากร 1,400 ล้านคนด้วย เราจะสามารถสร้างผลกระทบที่ใหญ่โตมหึมาขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ได้ไปถึงจุดนั้นในขั้นตอนนี้ ถ้าหากเปรียบเทียบระดับการก้าวสู่ความทันสมัยของสหรัฐฯว่าคือนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก จีนก็อยู่เพียงแค่ผู้จบปริญญาตรีใหม่ๆ เท่านั้น

จากนี้ไป เราจะต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาของเรา, เพิ่มพูนศักยภาพในการบริโภคของเรา, และยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนของเรา เพื่อบรรลุสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องเพิ่มพูนระดับรายได้ของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้พวกเขาได้รับหลักประกันความมั่นคงทางสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ

ในอดีตที่ผ่านมา งบประมาณรายจ่ายของประเทศเราจำนวนมากถูกใช้ไปเพื่อการลงทุนและการพัฒนา ตอนนี้รัฐบาลควรต้องใช้จ่ายให้มากขึ้นในเรื่องการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน, การใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกอุตสาหกรรมหลักๆ

ด้วยการจัดสรรและการปรับเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรสาธารณะต่างๆ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาใน 4 ด้านสำคัญได้โดยพื้นฐาน ได้แก่ ที่อยู่อาศัย, การดูแลทางการแพทย์, การศึกษา, และเงินบำนาญ ด้วยการปรับปรุงยกระดับสวัสดิการและเพิ่มพูนการลงทุนด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เราก็จะสามารถสร้างอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศ และทำให้เกิดการไหลเวียนภายในประเทศได้สำเร็จ

พิจารณาจากลู่ทางโอกาสในระดับภูมิภาค เมื่อตลาดภายในประเทศของจีนมีการขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง ก็จะเพิ่มพูนเสน่ห์แรงดึงดูดของจีนในสายตาของพวกประเทศเพื่อนบ้าน ปรับปรุงยกระดับตลาดการจ้างงานในระดํบภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยเหลือพวกประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการพึ่งพาอาศัยตลาดสหรัฐฯและตลาดตะวันตก

การทำงานในทางปฏิบัติของเราควรมุ่งโฟกัสไปที่ความร่วมมือแบบละมุนละม่อมในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ประการแรก จีนจำเป็นต้องรวมพลังเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่แพลตฟอร์มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และผลักดันเพื่อให้มีการปฏิบัติตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซป (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ถึงแม้ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2023 แต่ผลกระทบของมันก็ยังไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นกันอย่างเต็มที่ ภายใต้กรอบโครง RCEP เราควรที่จะเพิ่มความผูกพันทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นทั้งกับอาเซียน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์

เรายังควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางต่อไป, เน้นหนักในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนแพลตฟอร์มความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค อย่างเช่น เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (China-ASEAN Free Trade Area), การสนทนาจีน-เอเชียใต้ (China-South Asia Dialogue), และการสนทนาจีน-เอเชียกลาง (China-Central Asia) และทำให้ความผูกพันทางเศรษฐกิจที่มีอยู่กับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก

เว็บไซต์ Guancha.cn: เกี่ยวกับภาษีศุลกากรของทรัมป์ บรรดาระบบเศรษฐกิจเพื่อนบ้านของจีน ส่วนใหญ่แล้วตกลงเห็นพ้องกันที่จะไม่ตอบโต้เอาคืน แต่หาทางเริ่มการเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ จีนควรทำอย่างไรในการสำรวจมองหาศักยภาพทางเศรษฐกิจและการค้ากับพวกประเทศเพื่อนบ้าน ?

การที่ ทรัมป์ ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ให้ระงับการบังคับใช้ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” (reciprocal tariffs) กับคู่ค้าต่างๆ รวม 75 รายเป็นเวลา 90 วัน และหันมาโฟกัสที่เรื่องการรับมือกับเรานั้น สามารถที่จะแยกแยะได้ว่าสืบเนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการ กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง มันคือการมุ่งลงโทษจีน เพราะประเทศจำนวนมากได้แสดงท่าทีของการยอมอ่อนข้อและยอมสยบให้แก่สหรัฐฯ (ถึงแม้ว่า แคนาดา และสหภาพยุโรปประกาศที่จะตอบโต้ทว่าคนอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วเลือกที่จะยินยอมประนีประนอม) ส่วนในอีกด้านหนึ่ง มันยังเป็นความตั้งใจที่จะเอาอกเอาใจพวกที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไปภายในสหรัฐฯเองอีกด้วย

ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าสถานการณ์การค้าภายนอกประเทศของจีนจะต้องหนักหนาสาหัสอย่างแน่นอน

มีผู้เชี่ยวชาญบางรายชี้ว่า เมื่ออัตราภาษีศุลกากรระหว่างจีนกับสหรัฐฯอยู่ในระดับที่เกินเลยจากขีด 54% ไปแล้ว การค้าในลักษณะตัวสินค้าระหว่างประเทศทั้งสองแทบทั้งหมด ก็จะไม่เหลือช่องทางอะไรให้ทำกำไรกันได้อีกต่อไป เวลานี้สหรัฐฯยังขึ้นอัตราภาษีศุลกากรของพวกเขา (ที่เก็บจากสินค้าเข้าจากจีน) ไปอีกเป็น 104% และกระทั่งเป็น 145% แต่การขยับขึ้นไปอีกเช่นนี้มันไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรมากมายหรอก

เราจะต้องเตรียมตัวอย่างเต็มที่ในทางจิตวิทยา และต้องพรักพร้อมที่จะยอมควักกระเป๋าจ่ายกันในระดับหนึ่ง มีผู้รู้บางรายประมาณการเอาไว้ว่าผลกระทบของสงครามภาษีศุลกากรคราวนี้ที่มีต่อจีน อาจจะอยู่ในระดับสำคัญพอๆ กับครั้งเกิดวิกฤตภาคการเงินโลกปี 2008 และโรคระบาดโควิด-19 ปี 2020

จีนมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ของตนอย่างสำคัญทีเดียว ทั้งในระหว่างวิกฤตภาคการเงินปี 2008 และคราวโรคระบาดปี 2020 โดยเมื่อปี 2008 รัฐบาลส่วนกลางของจีนได้ใช้จ่ายงบประมาณไป 4 ล้านล้านหยวน (574,000 ล้านดอลลาร์) บวกกับพวกเงินกู้ของรัฐบาลระดับท้องถิ่นอีก ในการเอาชนะวิกฤตครั้งนั้น ส่วนเมื่อปี 2020 ประเทศของเราได้ใช้ระบบ “ทั่วทั้งประเทศชาติ” (“whole-of-nation” system) ของตน ทำนองเดียวกับการระดมพลเรียกเกณฑ์ทหารครั้งใหญ่ เพื่อเอาชนะโรคระบาดคราวนั้น

วันนี้ เราต้องตระหนักถึงความหนักหน่วงสาหัสของสงครามภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และตระเตรียมเช่นเดียวกับที่เราเคยทำในปี 2008 และปี 2020

การส่งออกคิดเป็นประมาณ 19% ของจีดีพีของเรา ขณะที่ 14.5% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของจีนเป็นการส่งไปยังสหรัฐฯ สัดส่วนที่เป็นจริงกระทั่งอาจจะสูงกว่านี้ด้วยเนื่องจากผลิตภัณฑ์ของเราบางอย่างมีการส่งออกผ่านช่องทางฝ่ายที่สาม

ในสงครามภาษีศุลกากรรอบหลังสุดที่ผ่านมา เงินทุนขนาดใหญ่ที่ไหลออกไปจากแผ่นดินใหญ่ เป็นเงินทุนซึ่งเกี่ยวข้องกับพวกกิจการของไต้หวันและของสหรัฐฯเป็นสำคัญ ขณะที่เงินทุนภายในประเทศมีการไหลออกไปค่อนข้างต่ำ

ขอให้เรามาตั้งสมมุติฐานกันว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯนั้นคิดเป็นราวๆ 20% ของการส่งออกโดยรวมของเรา ถ้าการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯเกิดยุติลงอย่างสมบูรณ์ เราก็จำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการลดลงของการส่งออกไปยังสหรัฐฯนี้ ซึ่งคิดเป็นประมาณเท่ากับ 4% ของจีดีพีของเรา

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง อิงอาศัยสามัญสำนึก เราสามารถดำเนินมาตรการใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่
**ขยายอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศ ผ่านแรงจูงใจทางการคลัง และใช้ความพยายามเพื่อให้เกิดการบริโภคภายใน
**ส่งเสริมสนับสนุนการส่งกลับออกไป (re-export) ผ่านทางประเทศต่างๆ ซึ่งต้องเจอภาษีศุลกากรสหรัฐฯในอัตราแค่ 10%
**การสำรวจหาตลาดใหม่ๆ อย่างเช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ตะวันออกกลาง, และละตินอเมริกา

หลังจากที่สหรัฐฯเกิดความตระหนักว่าจีนจะไม่ยอมแพ้ จีนกับสหรัฐฯก็อาจจะเริ่มเจรจากันได้

ในการเจรจาดังกล่าวนี้ เราสามารถที่จะพยายามเรียกร้องให้มีการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นต้นว่า เทสลา และ แอปเปิล ซึ่งถูกผลิตขึ้นในจีนและจากนั้นจึงขนส่งไปยังสหรัฐฯ (เรื่องนี้ทางสหรัฐฯได้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว -บรรณาธิการ)

หลังจากการประจันหน้ากันแล้ว เราจะบีบบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าสู่การเจรจา อันที่จริงแล้ว การสู้รบในสงครามการค้านั้นจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างแต้มต่อรองต่างๆ ขึ้นมา เพื่อที่จีนจะได้สามารถรักษาการส่งออกบางอย่างบางประการเอาไว้ได้ ถ้าเราสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ทำโดยพวกบริษัทอเมริกันในจีนเพื่อตลาดสหรัฐฯ ก็สามารถที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร นี่สามารถที่จะลดทอนแรงกดดันต่อจีนให้ต้องดำเนินการกระจายตลาดของตนให้หลากหลายออกไป

ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งหมดตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ผลกระทบโดยรวมของสงครามภาษีศุลกากรที่มีต่อจีดีพีของจีนจะลดลงจาก 4% เหลือไม่ถึง 2%

ในระดับยุทธศาสตร์ ผมยังคงมองการณ์แง่ดีเกี่ยวกับรูปทรงโดยภาพรวมของประเทศจีน เราสามารถใช้สงครามภาษีศุลกากรนี้เพื่อเร่งรัดให้พวกบริษัทท้องถิ่นดำเน้นการปรับตัว, เร่งรัดการก่อตั้งตลาดภายในประเทศที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมา, และปฏิบัติตามโมเดลที่ให้มีการไหลเวียนภายในประเทศ และการไหลเวียนคู่ (dual circulation หมายถึงการไหลเวียนภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการไหลเวียนภายนอกประเทศ), แปรเปลี่ยน “สิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นสิ่งดีๆ”

ผมยังมีข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งด้วย เมื่อเผชิญหน้ากับการขึ้นภาษีศุลกากร 10% รวดของสหรัฐฯ ประเทศจำนวนมากจะมองเห็นแนวโน้มการทรุดตัวในการได้เปรียบดุลการค้าที่พวกเขามีอยู่กับสหรัฐฯ และการได้รับเงินดอลลาร์สหรัฐฯลดน้อยลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระดับโลก

จีนสามารถหยิบฉวยเอาโอกาสนี้มาออกพันธบัตรสกุลเงินเหรินหมินปี้ (หยวน) ในปริมาณใหญ่ๆ ในประเทศต่างๆ ที่มีเสถียรภาพทางการเมือง

ตลาดระหว่างประเทศนั้นมีอุปสงค์ความต้องการเป็นพิเศษสำหรับเงินเหรินหมินปี้ การออกพันธบัตรเหรินหมินปี้ปริมาณใหญ่ๆ สามารถช่วยจีนดึงดูดพวกกองทุนในต่างประเทศ และกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้ที่ถือครองพันธบัตรเหล่านี้จับจ่ายซื้อสินค้าและลงทุนในประเทศจีน

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการใช้สกุลเงินเหรินหมินปี้ในการทำธุรกรรมและข้อตกลงระดับโลก เป็นการสร้างเงื่อนไขที่เป็นคุณประโยชน์สำหรับการแปรเหรินหมินปี้ให้เป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ

ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกสุดในวันที่ 14 เมษายน 2025 โดยเว็บไซต์ guancha.cn (https://www.guancha.cn/JinCanRong/2025_04_14_772028_s.shtml)
กำลังโหลดความคิดเห็น