รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ แห่งสหรัฐฯ ระบุในวันพฤหัสบดี(8พ.ค.) อินเดียและปากีสถาน ควรลดสถานการณ์ความตึงเครียด แต่บอกว่าอเมริกาไม่สามารถควบคุมเพื่อนบ้านเอเชียที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งคู่ และสงครามระหว่าง 2 ชาติ "ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของสหรัฐฯ"
"เราต้องการเห็นสิ่งนี้คลายความตึงเครียดลงอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เราไม่อาจควบคุมทั้ง 2 ประเทศ" แวนซ์ ให้สัมภาษณ์กับรายการเดอะ สตอรี วิธ มาร์ธา แม็คคัลลัม พร้อมบอกต่อว่า "สิ่งที่เราทำได้คือพยายามส่งเสริมให้พวกเขาลดความตึงเครียดลงเล็กน้อย แต่เราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ตรงกลางของสงครามที่พื้นฐานแล้วไม่ใช่ธุระกงการอะไรของเรา และไม่เกี่ยวข้องใดๆกับศักยภาพของอเมริกาในการควบคุมพวกเขา"
ข้อเท็จจริงคือ อินเดีย เป็นคู่หูที่สำคัญสำหรับวอชิงตัน ซึ่งมีเป้าหมายตอบโต้อิทธิพลที่มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนปากีสถาน ยังคงเป็นพันธมิตรของอเมริกา แม้ความสำคัญของประเทศแห่งนี้ลดน้อยลงไป หลังจากวอชิงตันถอนกำลังพลออกจากอัฟกานิสถาน ประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2021
พวกนักวิเคนาะห์และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสบางราย มองว่าการที่สหรัฐฯมัวแต่ไปมุ่งความพยายามบรรลุเป้าหมายทางการทูตในสงครามของรัสเซียในยูเครน และสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา กลับกลายเป็นการปล่อยให้สถานการณ์ระหว่างอินเดียและปากีสถานทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่มีแรงกดดันโดยตรงจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ในวันพฤหัสบดี(8พ.ค.) ซึ่งเกิดการปะทะครั้งใหญ่เป็นวันที่ 2 ทางปากีสถานและอินเดียต่างกล่าวหากันและกันว่าปล่อยโดรนโจมตีอีกฝ่าย และทางรัฐมนตรีกลาโหมอิสลามัดบัดประกาศกร้าวว่าจะมีการแก้แค้นเพิ่มเติมอน่างแน่นอน
สถานการณ์ลุกลามบานปลายล่าสุดระหว่างคู่อริเก่าแก่ที่เป็นปรปักษ์กันมานาหลายทศวรรษ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 22 เมษายน ครั้งที่พวกนักรบอิสลามิสต์สังหารพลเรือน 26 ราย ในแคว้นแคชเมียร์ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย ในเหตุโจมตีที่นิวเดลีกล่าวโทษอิสลามาบัด แต่ทางปากีสถานปฏิเสธคำกล่าวหาและเรียกร้องขอให้ตรวจสอบสืบสวนจากฝ่ายที่เป็นกลาง
"เราคาดหวังและคาดหมายว่ามันจะไม่ลุกลามเข้าสู่สงครามระดับภูมิภาคในวงกว้าง หรือความขัดแย้งนิวเคลียร์" แวนซ์บอกในวันพฤหัสบดี(8พ.ค.)
วอชิงตันมีการพูดคุยเป็นประจำกับทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงการหารือทางโทรศัพท์ระหว่าง มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกับนายกรัฐมนตรีปากีสถาน และรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้พวกเขาลดความตึงเครียดและเจรจากันโดยตรง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกความตึงเครียดที่พุ่งสูงขึ้นว่า "น่าอดสู" และในวันพุธ(7พ.ค.) เขาแสดงความหวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะหยุดการสู้รบหลังจากตอบโต้กันไปมาแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ส่วนกระทรวงการต่างประเทเรียกร้องให้ทั้ง 2 ชาติ ทำงานมุ่งหน้าสู่สิ่งที่วอชิงตันเรียกว่า "ทางออกแห่งความรับผิดชอบ"
(ที่มา:รอยเตอร์)