xs
xsm
sm
md
lg

ขีปนาวุธของ‘พวกฮูตี’คุกคามถึงขั้นจะจม‘เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอสทรูแมน’ได้จริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


เรือบรรทุกเครื่องบิน แฮร์รี เอส. ทรูแมน (CVN-75) ในภาพที่ถ่ายวันที่ 15 เมษายน 2025  ตามข้อมูลในวิกิพีเดีย (https://en.wikipedia.org/wiki/USS_Harry_S._Truman) เรือลำนี้ถูกนำขึ้นระวางเข้าประจำการกองทัพเรือสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม 1998 เป็นลำที่ 8 ในชั้นนิมิตซ์  ตัวเรือมีความยาว 333 เมตร กว้าง 78 เมตร และสูง 74 เมตร หรือเท่ากับตึก 24 ชั้น ถ้าหากคิดตามค่าเงินดอลลาร์ในปี 2007  การต่อเรือลำนี้ต้องใช้จ่ายเงินมากกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์ (ภาพจากกองทัพเรือสหรัฐฯ)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Did Houthi missiles threaten to sink the carrier USS Truman?
by Stephen Bryen
30/04/2025

รายงานข่าวระบุว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ 18อี ลำหนึ่ง หล่นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส แฮร์รี เอส. ทรูแมน ลงไปในทะเลแดง เนื่องจากเรือหักเลี้ยวอย่างกะทันหัน เพราะต้องรีบหลบหลีกภัยคุกคามจากอาวุธซึ่งพวกฮูตีปล่อยออกมา

สหรัฐฯสูญเสียเครื่องบินขับไล่ เอฟ-18อี ซูเปอร์ ฮอร์เนต (F-18E Super Hornet) ไปลำหนึ่งเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ตอนที่เครื่องบินลำนั้นกำลังถูกลากจูงอยู่ในชั้นเก็บเครื่องบินของ เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส แฮร์รี เอส. ทรูแมน (USS Harry S. Truman) (ใช้เลขรหัสประจำเรือว่า CVN 75) แล้วพลัดตกลงไปในทะเล พร้อมๆ กับรถแทร็กเตอร์ที่กำลังลากจูงมันอยู่ เหตุการณ์คราวนี้มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยเพียงคนเดียว โดยเป็นลูกเรือซึ่งดูเหมือนได้รับบาดเจ็บในตอนที่กระโดดออกมา ถ้าไม่ใช่จากเครื่องบิน ก็จากรถแทร็กเตอร์ลาก F-18 ลำดังกล่าว

ทั้งเครื่องบินลำนี้และรถแทร็กเตอร์ต่างก็สูญหายไปในทะเล คำถามสำคัญยิ่งยวดประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาคือ นี่เป็นแค่เพียงอุบัติเหตุธรรมดาๆ หรือว่าสาเหตุของการสูญเสียเครื่องบินและรถแทร็กเตอร์ไปในคราวนี้ เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากการโจมตีซึ่งเปิดฉากขึ้นโดยพวกกบฎฮูตีในเยเมน โทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เครื่องบินลำดังกล่าวพลัดตกทะเลตอนที่เรือบรรทุกเครื่องบินต้องหักเลี้ยวอย่างกะทันหันเพราะต้องรีบหลบหลีกภัยคุกคาม ซึ่งอาจจะเป็นขีปนาวุธร่อน (Cruise missile) หรือไม่ก็โดรนติดอาวุธของฝ่ายฮูตี

ทั้งนี้ มีรายงานว่าในช่วงนี้ ฮูตีเข้าโจมตีเล่นงานบรรดาเรือรบสหรัฐฯที่อยู่ในทะเลแดงมากกว่า 170 ครั้งทีเดียว

F-18E Super Hornet เป็นเครื่องบินขับไล่ 2 เครื่องยนต์ที่นั่งเดี่ยวซึ่งสามารถบินขึ้นลงเรือบรรทุกเครื่องบินได้ ชั้นเก็บเครื่องบินนั้นอยู่ใต้ลงไปจากชั้นเครื่องบินขึ้นลง ทว่าดูเหมือนจะไม่มีเครื่องกีดขวางคอยกั้นไม่ให้เครื่องบินไถลหลุดจากชั้นลงไปในทะเล

บนเรือทรูแมน มีทั้งเครื่องบินขับไล่ F-18E ซึ่งเป็นแบบที่นั่งเดี่ยว และ F-18-F ที่มี 2 ที่นั่งวางเรียงหน้าหลัง นอกจากนั้นยังมีเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์อื่นๆ อีก กล่าวโดยภาพรวม ปกติแล้วเรือทรูแมนจะมีเครื่องบินประจำการอยู่ราว 90 ลำ และมีบุคลากรพำนักอยู่มากกว่า 6,000 คน

เครื่องบินขับไล่ เอฟ 18อี ซูเปอร์ ฮอร์เนต ขณะทะยานขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน แฮร์รี เอส. ทรูแมน ในทะเลแดง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2025 ทั้งนี้ นาวีอเมริกันกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนถึงสาเหตุที่มี เอฟ-18 อี ลำหนึ่งและรถแทร็กเตอร์ลากจูงคันหนึ่ง หล่นจากชั้นเก็บเครื่องบินของเรือลงไปในทะเล ในวันเดียวกันนี้(ภาพจากกองทัพเรือสหรัฐฯ) ในวันเดียวกันนี้
เครื่องบินลำที่สูญหาย สังกัดอยู่กับฝูงบินขับไล่โจมตี วีเอฟเอ-136 (Strike Fighter Squadron VFA-136) เครื่องบินลำนี้มีราคา 67 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อยู่ในชั้นเก็บเครื่องบิน นักบินจะไม่ได้อยู่ในเครื่องบินด้วย หากแต่เป็นสมาชิกลูกเรือฝ่ายสนับสนุนคนหนึ่งซึ่งเข้าไปอยู่ในห้องนักบิน ในเวลาที่เครื่องบินกำลังถูกเคลื่อนย้าย (บางทีอาจจะเป็นการนำมันออกมายังชั้นขึ้นลงเครื่องบิน แต่เรื่องนี้ไม่มีข้อมูลชัดเจน)

ซีเอ็นเอ็น เป็นสื่อกระจายข่าวสารเจ้าแรกที่เผยแพร่เรื่องราว [1] ซึ่งได้จากปากคำของเจ้าหน้าที่บริหารที่ไม่มีการระบุชื่อรายหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า ต้องสูญเสีย F-18 และรถแทร็กเตอร์ลากจูงไปในตอนที่เรือบรรทุกเครื่องบินหักเลี้ยวกะทันหัน เป็นเหตุให้ผู้ควบคุมรถลากจูงไม่สามารถควบคุม F-18 ได้ องค์การข่าวแห่งนี้บอกว่า เรือทรูแมนต้องหักเลี้ยงอย่างกะทันหัน เนื่องจากต้องหลบหลีกภัยคุกคาม ซึ่งอาจจะเป็นขีปนาวุธร่อน หรือไม่ก็ โดรนติดอาวุธของฝ่ายฮูตี

ทางกลุ่มฮูตีเองนั้นอ้างว่า พวกเขาพุ่งเป้าเล่นงานเรือทรูแมน ทั้งด้วยขีปนาวุธและโดรน ยาห์ยา ซาเรเอ (Yahya Sare’e) โฆษกของกลุ่มนี้ กล่าวในคำแถลงที่ถูกนำออกอากาศทางโทรทัศน์ [2] ว่า กองทัพอากาศ และกองทัพเรือของฮูตี กำลังดำเนินปฏิบัติการร่วมโดยใช้ทั้งขีปนาวุธร่อน, ขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile), และโดรน โดยที่กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command หรือ CENTCOM) ซึ่งเป็นผู้บริหารการปฏิบัติการต่อสู้ฮูตีในทะเลแดงอยู่ขณะนี้ ไม่ได้โต้แย้งการอวดอ้างนี้ของฝ่ายฮูตีแต่อย่างใด

เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ไม่มีการออกปฏิบัติการด้วยตนเองตามลำพังอยู่แล้ว โดยพวกเขาได้รับการสนับสนุนขณะอยู่ในทะเลจากหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี (Carrier Strike Group) สำหรับเรือทรูแมนนั้นได้รับการหนุนหลังจากหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินที่ 8 ในทะเลแดง หมู่เรือนี้ประกอบด้วย เรือพิฆาตชั้นอาร์ลีจ์ เบิร์ก (Arleigh Burke Class Destroyers) จำนวน 3 ลำ และเรือลาดตระเวนชั้นทีคอนเดโรกา (Ticonderoga Class cruiser) อีก 1 ลำ ซึ่งได้แก่ เรือยูเอสเอส เกตตีสเบิร์ก (USS Gettysburg) (เลขรหัสประจำเรือคือ CG-64)

บทบาทของพวกเรือพิฆาตและเรือเกตตีสเบิร์ก คือ การคุ้มครองปกป้องเรือบรรทุกเครื่องบินทรูแมน ไม่ให้ถูกเล่นงานจากพวกขีปนาวุธ, เครื่องบิน, และโดรนทั้งหลาย โดยที่เรือรบเหล่านี้ทุกลำต่างติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ เอจิส (AEGIS air defense system) ซึ่งได้รับการยกย่องนับถือกันมาก รวมทั้งยังติดตั้งสมรรถนะทางด้านต่อสู้ขีปนาวุธและต่อสู้โดรนอย่างอื่นๆ อีกด้วย พวกเรือพิฆาตและเรือลาดตระเวนที่ติดตั้งระบบเอจิสนั้น มีเรดาร์ระดับก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อให้พวกเขาสามารถตรวจจับภัยคุกคามที่กำลังตรงเข้ามา โดยรวมไปถึงพวกโดรนขนาดเล็กๆ ด้วย

หากรายงานเรื่องเรือทรูแมนต้องมีการหักเลี้ยวอย่างกะทันหันเป็นความจริงแล้ว มันก็ย่อมดูเหมือนกับว่าภัยคุกคามที่กำลังตรงรี่เข้ามาในครั้งนี้กลับไม่ได้ถูกตรวจจับ จวบจนกระทั่งมันเข้ามาใกล้เรือบรรทุกเครื่องบินมากแล้ว และเรือทรูแมนจึงต้องใช้กลยุทธ์หลบหลีกเพื่อพยายามและหลีกเลี่ยงจากภัยคุกคามดังกล่าว คำอธิบายที่อาจเป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ ภัยคุกคามที่กำลังรี่เข้ามาเป็นขีปนาวุธร่อนลูกหนึ่ง หรือขีปนาวุธต่อสู้เรือลูกหนึ่ง ที่กำลังบินอยู่ในระยะต่ำ จนยากที่เรดาร์จะตรวจจับสัญญาณของเป้าหมายให้ชัดเจนได้

พื้นที่บริเวณอ่าวเปอร์เซียและทะเลแดง ยังเป็นบริเวณซึ่งเจอผลกระทบของปรากฏการณ์ radar ducting นั่นคือชั้นต่างๆ ของบรรยากาศมีคุณสมบัติในการดักจับและชี้นำคลื่นเรดาร์ ทำให้คลื่นเรดาร์เกิดการเบี่ยงเบนและหักเหอย่างสำคัญ ปรากฏการณ์ Ducting สามารถก่อให้เกิดรูโหว่เรดาร์ หรือพื้นที่ซึ่งสัญญาณเรดาร์ตรวจจับไม่ได้ขึ้นมา จึงทำให้ไม่อาจติดตามตรวจจับขีปนาวุธหรืออากาศยานซึ่งวิ่งรี่เข้ามาได้

ไม่มีข้อมูลข่าวสารใดๆ ซึ่งระบุว่าพวกเรือรบติดตั้งระบบเอจิสเหล่านี้มีลำไหนตอบโต้สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการโจมตีจากฝ่ายฮูตีนี้ หรือแม้กระทั่งว่ามีการโจมตีเช่นว่านี้เกิดขึ้นหรือเปล่า CENTCOM ทั้งไม่ยืนยันและก็ไม่ปฏิเสธเรื่องที่ว่ากันว่าฮูตีโจมตีนี้ รวมทั้งกองบัญชาการทหารแห่งนี้ยังไม่ได้สนับสนุนรายงานของซีเอ็นเอ็นเรื่องที่ว่าเรือทรูแมนต้องหักเลี้ยวกะทันหันกลางทะเลจนเป็นเหตุให้สูญเสีย F-18E ไป

ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องทำความกระจ่างคือ ถ้าหากพวกฮูตีสามารถที่จะเล็งเป้ามุ่งโจมตีเรือทรูแมนได้จริงๆ แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการระบุตำแหน่งที่ตั้งอย่างชัดเจนของมัน พวกเรดาร์ชายฝั่งของฮูตีนั้นถูกการโจมตีทิ้งระเบิดของสหรัฐฯทำลายอย่างย่อยยับจนเรียกได้ว่าหมดสิ้นแล้ว มันจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่พวกฮูตีเองสามารถเฝ้าติดตามเส้นทางเดินเรือของเรือทรูแมนได้ด้วยตนเอง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าอิหร่านใช้เรือติดตั้งเรดาร์หลายลำคอยให้ความสนับสนุนพวกฮูตี และเรดาร์เหล่านี้ก็ดูเหมือนน่าจะระบุตำแหน่งของเรือทรูแมนได้ค่อนข้างง่ายดาย นอกจากนั้นแล้ว ยังมีหนทางอื่นๆ อีกที่มีความเป็นไปได้ อย่างเช่นการติดตามชี้เป้าด้วยการใช้ดาวเทียมที่บินอยู่บนฟ้าโดยฝ่ายรัสเซียและฝ่ายจีน ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกปัดขีดฆ่าออกไปได้เช่นกัน

อิหร่านนั้นนอกจากใช้พวกเรือสปายที่ติดตั้งเรดาร์เป็นการเฉพาะเจาะจงแล้ว ยังใช้พวกเรือพาณิชย์สำหรับการสอดแนมหาข่าวกิจกรรมต่างๆ [3] อีกด้วย ทั้งนี้ มันย่อมไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไรเลยสำหรับพวกเรือพาณิชย์ซึ่งกำลังปฏิบัติงานในทะเลแดงที่จะค้นพบเป้าใหญ่ๆ ขนาดหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี และส่งต่อตำแหน่งที่ตั้งของหมู่เรือนี้ไปให้แก่พวกผู้ปฏิบัติการของฮูตี

พวกฮูตีนั้นมีอาวุธต่อสู้เรือที่อิหร่านจัดหาจัดส่งให้อยู่หลายหลากประเภท [4] ทั้งขีปนาวุธต่อสู้เรือ, ขีปนาวุธร่อน, และโดรน ถ้าหากเป็นความจริงตามรายงานข่าวที่ว่าภัยคุกคามต่อเรือทรูแมนคราวนี้เป็นวัตถุที่กำลังบินเข้ามาในระดับต่ำๆ มันก็อาจจะเป็นขีปนาวุธร่อน อย่างเช่น คุดส์-4 (QUDS-4) โดยขีปนาวุธร่อนชนิดนี้มีพิสัยทำการประมาณ 2,000 กิโลเมตร และใช้เครื่องยนต์กังหันไอพ่นขนาดเล็ก 1 เครื่องเป็นตัวให้พลัง

ต้นรากดั้งเดิมของ QUDS-4 คือ ขีปนาวุธร่อน ซูมาร์ (Soumar cruise missile) ซึ่งก็เป็นของอิหราน ทว่ามันถอดแบบลอกเลียนมาจาก เคเอช-55 (Kh-55) ของรัสเซีย นี่คือขีปนาวุธร่อนแบบเดียวกับที่ถูกใช้ในการโจมตีสิ่งปลูกสร้างทางด้านน้ำมันของซาอุดีอาระเบียที่ อับกออิก (Abqaiq) และ คูราอิส (Khurais) เมื่อเดือนกันยายน 2019 สำหรับขีปนาวุธชนิดนี้สามารถใช้โจมตีเรือที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ได้หรือไม่ ยังไม่เป็นที่ทราบกัน

สหรัฐฯนั้นพึ่งพาอาศัยพวกเรือบรรทุกเครื่องบินของตนนี่แหละ ทำให้มีความสามารถจัดส่งกองกำลังอาวุธออกไปปฏิบัติการในต่างแดนตามสถานที่ต่างๆ รอบโลก ขณะที่กองกำลังเช่นนี้ด้อยความสำคัญลงมาในยุโรป ซึ่งสหรัฐฯสามารถเข้าถึงฐานทัพอากาศได้เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ในภูมิภาคอื่นๆ เรือบรรทุกเครื่องบินยังคงเป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างใหญ่หลวง

ระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่สมรรถนะในการต่อสู้เรือของจีนได้เติบโตขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ คนหลายๆ ฝ่ายจึงกำลังตั้งคำถามว่า เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯยังสามารถที่จะอยู่รอดได้อีกหรือเมื่อถูกส่งเข้าไปอาณาบริเวณของการสู้รบขัดแย้งกัน เป็นต้นว่ารอบๆ ญี่ปุ่น และไต้หวัน กระทั่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พีต เฮกเซธ ได้กล่าวออกมาอย่างเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า พวกขีปนาวุธความเร็วไฮเปอร์โซนิก (hypersonic ความเร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่าตัวขึ้นไป) ของจีน สามารถที่จะจมกองกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯทั้งกองได้ [5]ภายในเวลา 20 นาที

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ถ้าหากเวลานี้พวกผู้ทรงอำนาจระดับสามรายหนึ่ง อย่างเช่น พวกฮูตี (แน่นอนทีเดียว เป็นที่ชัดเจนว่าที่พวกเขาต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอกด้วย) ยังสามารถที่จะคุกคามเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯในทะเลแดงโดยใช้ประดาอาวุธที่ด้อยกว่าอย่างเด็ดขาดชัดเจน เรื่องความสามารถในการพิทักษ์คุ้มครองการปฏิบัติการของเรือบรรทุกเครื่องบินก็จะต้องกลายเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงเลื่อนช้าได้อีกต่อไปแล้ว

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ สำหรับข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน

เชิงอรรถ

[1] https://www.cnn.com/2025/04/28/politics/us-navy-jet-overboard/index.html
[2] https://yemenonline.info/politics/9284
[3] https://lieber.westpoint.edu/targeting-iranian-spy-ships/
[4] https://www.wilsoncenter.org/article/houthi-arsenal
[5] https://www.yahoo.com/news/china-could-sink-entire-us-100124996.html
กำลังโหลดความคิดเห็น