เจ้าชายแฮร์รีผู้ทรงกริ้วโกรธ ออกโรงโจมตีพระราชวงศ์อังกฤษรอบใหม่เอี่ยม โดยทรงกล่าวหาว่าพระราชบิดาและพระราชตระกูลเป็นต้นเหตุให้พระองค์ถูกลดสิทธิการได้รับอารักขาจากคณะตำรวจคุ้มกันความปลอดภัย หลังมหาดราม่า “เม็กสิต-Megxit” ซึ่งพระองค์และพระชายา “เม็กแกน” ลาออกจากการปฏิบัติพระราชภารกิจ ในปี 2020 เดอะซันรายงาน
พร้อมกันนี้ ปรินซ์แฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ยังมีการเรียกร้องที่จะได้รับ “การกลับมาคืนดี/ปรองดองกัน” จากพระราชบิดา โดยดราม่าทั้งสองมุก ตลอดจนดราม่าอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง มีขึ้นในระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ บีบีซี นิวส์ เมื่อช่วงบ่ายเย็นของวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2025 ซึ่งเป็นห้วงเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังจากที่ปรินซ์ทรงสะเทือนพระทัยอย่างจัด
กล่าวคือ ปรินซ์แฮร์รีทรงผิดหวังมากมายที่ศาลอุทธรณ์ในประเทศอังกฤษ ประกาศตัดสินยกฟ้องคำฟ้องร้องของพระองค์ที่มุ่งหวังว่าศาลจะสั่งให้กระทรวงมหาดไทยยกเลิกนโยบายลดเกรดการถวายอารักขาแด่พระองค์ แล้วกลับมาถวายอารักขาอย่างสมบูรณ์แบบ 24 ชั่วโมงต่อวัน และ 7 วันต่อสัปดาห์ (24/7) ดังเดิมเฉกเช่นที่พระองค์เคยได้รับในสมัยที่ยังทรงงานถวายควีนเอลิซาเบธที่ 2
ขณะที่ดยุกแห่งซัสเซกซ์ทรงให้สัมภาษณ์แก่พิธีกรข่าวบีบีซีว่า “ทรงปรารถนาที่จะคืนดีและปรองดองกับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา แต่ดยุกแฮร์รีก็โยนข้อหายุ่บยั่บใส่คิงชาร์ลส์ซึ่งเดอะซันนับรวมได้ 10 กระทง และผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป้นวิธีแบบ “ลูกเกรียนสุดดื้อ&เด็กเกเร” ที่เคยชินกับการใช้ความรุนแรงเอาชนะผู้ปกครอง
อันได้แก่ การโจมตีเสด็จพระบิดาให้หนัก เอาให้คร้ามปาก เผื่อพระราชบิดาจะทรงอับอายสาธารณชนที่ทรงถูกพระราชโอรสถอนหงอก แล้วจะยอมลืมอดีตว่าเจ้าชายแฮร์รีทรงเคยใส่ร้ายป้ายสีโจมตีพระราชวงศ์อังกฤษ ไว้หนักหนาสาหัสครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดตั้งแต่ปี 2020 จดจนกลางปี 2024
อาทิ ใส่ร้ายว่าพระราชตระกูลวินด์เซอร์เป็นพวกเหยียดผิว ซึ่งก็คือหมายถึงผิวสีน้ำผึ้งของพระชายาเมแกน มาร์เคิล ที่ได้รับจากมารดาผู้เป็นแอฟริกันอเมริกัน แล้วเข้าไปเติมอยู่ในดีเอ็นเอผิวสีขาวของบิดาซึ่งเป็นคอเคซอยด์/ยูโรปอยด์หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์
หนึ่งในประเด็นโดดเด่นที่เจ้าชายแฮร์รีทรงกล่าวหาอย่างสาหัสใส่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (อีกทั้งประมุขของประเทศอังกฤษพระองค์ก่อน ซึ่งได้แก่ ควีนเอลิซาเบธที่ 2) ได้แก่ ปมปัญหาที่ปรินซ์ทรงระบุว่า คิงชาร์ลส์ทรงใช้เรื่องสิทธิพิเศษที่จะได้รับการถวายอารักขาจากคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเงื่อนไขบังคับให้สมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษต้องยอมถูกควบคุมให้ทรงงาน-แบ่งเบาพระราชภารกิจ หากสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์ใดไม่ยอมถูกควบคุม ก็จะไม่ได้รับความมั่นคงปลอดภัยแห่งการถวายอารักขาจากมหาดไทย!!
ปัญหาด้านสิทธิพิเศษแห่งการมีรถตำรวจนำขบวนเสด็จ อีกทั้งตามปิดท้ายขบวน เป็นปมขัดแย้งร้อนระอุระหว่างปรินซ์แฮร์รีกับพระราชสำนักและกระทรวงมหาไทยอังกฤษ โดยปรินซ์อ้างว่า
(1)พระองค์เป็นรัชทายาทลำดับที่ 6 แห่งพระราชบัลลังก์ จึงอาจตกเป็นเหยื่อแห่งการถูกพาตัว เรียกค่าไถ่
(2)ทรงเป็นทหารหาญในสงครามอัฟกานิสถานรวม 2 รอบ 4 ปี แถมยังไปประกาศในหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง Spare ว่าทรงยิงจากเฮลิคอปเตอร์เด็ดชีพชาวตอลีบานมากถึง 25 ราย
ดังนั้น ปรินซ์แฮร์รีทรงถือว่าพระองค์เป็นกรณีที่ตกอยู่ในภยันตราย และมีความเสี่ยงสูงร้ายที่จะตกเป็นเป้าหมายซึ่งกองกำลังตอลีบานจะเด็ดพระเศียร ในการนี้ ปรินซ์ทรงต่อสู้ว่า แม้พระองค์จะมีสถานภาพที่เปลี่ยนไป แต่ความจำเป็นของพระองค์มิได้เปลี่ยนไปด้วย
ยิ่งกว่านั้น หากเมื่อพระองค์อยู่ในอังกฤษ แต่ไม่ได้รับการอารักขาแบบ 24/7 พระองค์จะไม่กล้าพาพระชายา ตลอดจนพระโอรสธิดามาเยือนปิตุภูมิได้
ปรินซ์แฮร์รีทรงเคยเล่าแก่นักข่าวทีวีรายการ GMA ว่าทรงอึ้งอย่างสุดๆ ที่พระราชตระกูลปล่อยให้พระองค์ถูก “ลด” ระดับการถวายอารักขาถวายเป็นแบบรายกรณี และทรงไฝ้วแบบหัวชนฝามากว่าสี่ปีครึ่งแล้ว
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2020 ที่ทรงลาออกจากสถานภาพสมาชิพระราชวงศ์ผู้ทรงงานถวายควีนเอลิซาเบธที่ 2 จดจนถึงปัจจุบัน ปรินซ์แฮร์รีทรงไฝว้ไม่เลิกในอันที่จะทำให้กระทรวงมหาดไทย ยอมจัดขบวนอารักขา นำหน้า-ตามปิดท้ายให้พระองค์ ถึงแม้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ กฎ กติกา และมารยาทของทางการอังกฤษซึ่งกำหนดไว้แต่ไหนแต่ไรว่า สมาชิกพระราชวงศ์ที่มิได้ทรงงานถวายองค์พระประมุขของประเทศ จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษนี้
ไม่ว่าจะเป็นลอร์ดสโนว์ดอน พระสวามีของปรินเซสมาร์กาเรต ไม่ว่าจะเป็นคุณปีเตอร์ ฟิลลิปส์ พระโอรสของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระราชกนิษฐาของคิงชาร์ลส์ และไม่ว่าจะเป็นคุณซารา ทินดัลล์ พระธิดาของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ โดยจะได้รับเป็นรายกรณีไปตามความเหมาะสม เข่น กรณีที่เสด็จทรงงานอันเกี่ยวข้องโดยตรงกับพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3
ตลอดที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าปรินซ์แฮร์รีทรงยึดมั่นว่าสิทธิ์ 24/7 เป็นสิทธิ์ของพระโอรสแห่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งทางการอังกฤษจะต้องจัดถวายพระองค์ ทั้งนี้ ในคราวหนึ่งที่ปรินซ์แฮร์รีทรงประทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวทีวีรายการ Good Morning America ปรินซ์ทรงเล่าว่า ทรงอึ้งตกใจอย่างยิ่ง ที่พระราชตระกูลปล่อยให้กระทรวงมหาดไทยลดระดับการถวายอารักขาแก่พระองค์
ในการนี้ ปรินซ์แฮร์รีทรงใช้ข้ออ้างเรื่องความปลอดภัยเวอร์วัง ราวกับว่าอังกฤษจะเป็นแดนอันตรายยิ่งกว่าอเมริกา
บรรดาประชาชนมักที่จะไม่เชื่อว่าปรินซ์แฮร์รีทรงหวั่นกลัวผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทรงเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์ไปยังหลายๆ ประเทศที่ชุกชมด้วยผู้ก่อการร้ายและกองทัพโจรติดอาวุธ อาทิ ไนจีเรีย ตลอดจนประเทศที่อันตรายด้วยภัยสงครามอย่าง ยูเครน นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกา ที่ตัวพระองค์เอง ตลอดจนพระชายาและพระโอรสธิดาอาศัยอยู่ทุกวัน ก็มีความเสี่ยงอันตรายสูงมหาศาลกว่าอังกฤษ แต่พอมายังประเทศอังกฤษที่มีเสถียรภาพดีกว่า ก็กลับจะป่าวประกาศพระพักตร์เฉยว่าอังกฤษมีภัยอันตรายร้ายแรง มีความเสี่ยงสูงลิ่ว เกินกว่าที่พระองค์จะเสี่ยงนำพาดัชเชสเมแกน และปรินซ์อาร์ชีกับปรินเซสลีลิเบตเดินทางมาเยือน
นานาผู้เชี่ยวชาญการพระราชวงศ์ชี้ว่าประเด็นหลักของปรินซ์แฮร์รี คือทรงเสพติดพระเกียรติยศแห่งความเหนือชั้นกว่าผู้อื่น และทรงเอาแต่พระทัย ทรงเชื่อว่าพวกผู้ใหญ่ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบให้ตอบสนองความต้องการของพระองค์ ปัญหาจะได้ยุติง่ายๆ โดยที่ทรงไม่ตระหนักว่าการเป็นชนชั้นสูงของประเทศ มีแต่จะต้องเสียสละเพื่อพสกนิกร จะต้องระมัดระวังพระองค์มิให้ถูกประชาขนติเตียนว่าเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว เสพสุขไม่เกรงใจประชาชน ฯลฯ
กว่าสี่ปีครึ่งที่ปรินซ์แฮร์รีทรงไฝว้จะเอาให้ได้ แต่ก็ทรงแพ้มาโดยตลอด กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถอนุมัติตามใจพระองค์ได้ในทุกสิ่งอย่าง
แล้วประเด็นการต่อสู้ก็มีพัฒนาการซับซ้อนทวีขึ้นไปอีก โดยสกายนิวส์รายงานว่า ปรินซ์ทรงมีนโยบายที่จะใช้ทีมรักษาความปลอดภัยที่ทรงจ้างมาเอง แต่พระองค์ขอใช้สิทธิดั้งเดิมของพระองค์ในการเข้าถึงข้อมูลจัดชั้นลับสุดยอดของฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้ทีม รปภ.ส่วนพระองค์ใช้ในการถวายอารักขาพระชายาและพระโอรสธิดาของปรินซ์ได้อย่างสูงสุด
แน่นอนว่ากระทรวงมหาดไทยปฏิเสธ
ดังนั้น ปรินซ์จึงทรงยื่นคำร้องต่อศาลไฮคอร์ต แต่ผลการตัดสินออกมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2024 ว่าทรงไม่ได้รับตามที่ยื่นเรื่องร้องขอ โดยผู้พิพากษาตัดสินว่าการตัดสินใจของกระทรวงมหาดไทยในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของปรินซ์แฮร์รีด้านการได้รับอารักขานั้น “มิได้ดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย มิได้เป็นสิ่งที่ไม่สมด้วยเหตุผล อีกทั้งมิได้เป็นไปในทางไม่ยุติธรรม
หลังจากนั้น ปรินซ์แฮร์รีทรงให้ทนายส่วนพระองค์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ในเดือนมิถุนายน 2024 แต่พระองค์ก็ถูกสื่อมวลชนและพสกนิกรนับหมื่นติเตียนท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมุมมองที่ว่าพระองค์มิได้ตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายเวอร์วังดั่งที่ทรงบรรยายฟ้องไว้เลย พระองค์ควรจะยุติความดื้อดึงอันไร้สาระและเป็นความสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากคดีความ อันเป็นงบจากเงินภาษีของประชาชน
ในที่สุด บ่ายวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2025 ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินยกฟ้องด้วยชุดเหตุผลเดียวกันกับศาลไฮคอร์ท โดยมีการระบุถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ RAVEC ไว้ด้วย (หรือก็คือ Royal and VIPs Executive Committee คณะกรรมการบริหารจัดการด้านสมาชิกพระราชวงศ์และบุคคลสำคัญทั้งปวง) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย กล่าวคือ ทางมหาดไทยกำหนดนโยบายที่จะพิจารณาอนุมัติการถวายอารักขาแก่ปรินซ์แฮร์รีเป็นแต่ละกรณีไป
เช่น ในกรณีเมื่อต้นปี 2024 ที่ปรินซ์แฮร์รีทรงเสด็จมายังอังกฤษตามคำเชิญของคิงชาร์ลส์ ผู้ทรงพระประชวรด้วยพระโรคมะเร็ง โดยมีความเป็นมาว่า ด้วยเห็นแก่ความเป็นพ่อ-ลูก คิงชาร์ลส์ทรงโทรศัพท์ไปบอกพระราชโอรสแฮร์รีถึงปัญหาทรงพระประชวรด้วยโรคร้าย (เหมือนดั่งที่ทรงแจ้งไปยังปรินซ์วิลเลียมกับปรินเซสแคเธอริน ตลอดจนพระกนิษฐาและพระอนุชาทุกพระองค์) และให้โอกาสแก่ปรินซ์แฮร์รีได้เข้าเฝ้า
(หลังจากที่ทรงเลิกรับสายโทรศัพท์จากปรินซ์แฮร์รีตั้งแต่สมัยที่พระราชมารดายังทรงมีพระชนม์ชีพ ด้วยเหตุผลที่ทรงกราบบังคมทูลเสด็จพระราชมารดา:
“ทำไมลูกไม่รับสายแฮร์รีแล้วจ๊ะ”
“ผมไม่ใช่ธนาคารครับแม่” I’m not a bank, mama.
ข้าราชบริพารวงในลึกๆ ระดับห้องพระบรรทม เล่าไว้กับนักข่าวของเดลิเมลออนไลน์)
ด้วยเงื่อนไขพิเศษสุดๆ ในครั้งนั้น กระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมขบวนอารักขาถวายปรินซ์แฮร์รีอย่างครบครัน ในฐานะแขกรับเชิญของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
ดังนั้น มหาดไทยจึงใช้คณะกรรมการ RAVEC เป็นกลไกพิจารณาที่จะยกเว้นให้ปรินซ์แฮร์รีได้รับการอารักขาระดับไหนจากคณะตำรวจ เป็นครั้งคราวตามเหตุและปัจจัยที่เหมาะสม
และแล้ว ปรินซ์แฮร์รีทรงยกระดับความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้หนักข้อขึ้นไปหลายระดับ เมื่อทรงคิดกล่าวหาว่าพระราชบิดาทรงอยู่เบื้องหลังความเข้มงวดของกระทรวงมหาดไทย นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งถึงกับเตือนสติปรินซ์แฮร์รีให้เลิกเอาแต่ตนเองเป็นที่ตั้ง และยอมรับกฎกติกาดังพลเมืองดีของประเทศชาติ
“น่ารังเกียจ” และ “น่าตกใจสุดๆ” สำหรับคำสัมภาษณ์ที่เจ้าชายแฮร์รีทรงประทานแก่ บีบีซี นิวส์ โดยปรินซ์ทรงโจมตีคิงชาร์ลส์และพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ด้วยสารพัดข้อกล่าวหา เดลิเมลออนไลน์รายงานอย่างนั้น
ด้านปรินซ์แฮร์รีผู้ซึ่งมองโลกผ่านแว่นสีส่วนพระองค์ ทรงตีความบทบาทของคณะกรรมการ RAVEC ได้น่ารังเกียจอย่างยิ่ง โดยทรงสร้างสมมุติฐานขึ้นมาว่า สิทธิในการได้รับอารักขาจากตำรวจ เป็นเครื่องมือที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงใช้ควบคุมกดดันพระองค์ผู้เป็นพระราชโอรส
ประมาณว่าหากไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่ต้องเอาความมั่นคงปลอดภัย ซีเคียวริตีใดๆ ไม่ต้องมาเรียกร้องกันเลย
“ในสองมือของพระราชบิดาผม จะมีความสามารถแห่งควบคุม ปัญหาทั้งหมดสามารถยุติได้ผ่านพระองค์ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องให้พระองค์เข้าไปแทรกแซง แต่ขอเพียงให้พระองค์ก้าวห่างออกไปก็พอ ปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตามความจำเป็น ปัญหาก็จะจบ” ปรินซ์แฮร์รี พล็อตเตอร์ ของนิวยอร์กโพสต์ สื่อแทบลอยด์ชื่อดังในสหรัฐฯ ทรงตรัสในตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่ประทานแก่บีบีซี นิวน์ เมื่อบ่ายแก่ๆ ของวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2025
“สิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนคือ ความมั่นคงปลอดภัยสามารถใช้ควบคุมสมาชิกของพระราชวงศ์ได้
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความรู้สึกต้องการความมั่นคงปลอดภัยทำให้บรรดาสมาชิกพระราชวงศ์ยอมติดคาอยู่ในการควบคุม ไม่กล้าที่จะแหวกออกไปเลือกเส้นทางชีวิตที่แตกต่างได้ และสำหรับกรณีของผม ความมั่นคงปลอดภัยเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ต้องเกาะติดอยู่กับบทบาทสมาชิกพระราชวงศ์ที่ทรงงานถวายควีนเอลิซาเบธ แต่ตัวผมกับพระชายาอยากจะก้าวออกไป ซึ่งก็ถูกคัดค้าน ... โดยสำนักพระราชวัง ...
“ผลลัพธ์ คือ ผมก้าวออกไปได้ก็จริง แต่ผมต้องสูญเสียความมั่นคงปลอดภัย” สกายนิวส์รายงานว่าปรินซ์แฮร์รีทรงให้สัมภาษณ์ไว้กับบีบีซีอย่างนั้น โดยหมายถึงสูญเสียการอารักขาที่ตำรวจจัดถวาย
แล้วปรินซ์แฮร์รีทรงโจมตีคิงชาร์ลส์ต่อไปว่า คิงชาร์ลส์ทรงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พระองค์ถูก “ลด” ระดับการการอารักขา ที่พระองค์เคยได้รับในยุคที่ยังทรงงานถวายควีนเอลิซาเบธที่ 2
การพ่ายแพ้ในศาลอุทธรณ์เป็นการถูกสร้างภาพว่าปรินซ์ทรงเป็นตัวผู้ร้าย ด้วยวิธีเก่าๆ เชยๆ พร้อมนี้ ยังกล่าวหาว่าสำนักพระราชวังใช้อิทธิพลลงไปในคณะกรรมการ RAVEC เพื่อสร้างมติให้ “ลด” การถวายอารักขาที่พระองค์เคยได้รับ เดลิเมลออนไลน์รายงานอย่างนั้น
วิธีที่ทำให้เป็นอย่างนั้นได้ก็คือ การส่งเจ้าพนักงานจากสำนักพระราชวังซึ่งก็ได้แก่เลขาธิการส่วนพระองค์ของคิงชาร์ลส์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ RAVEC ปรินซ์แฮร์รีทรงเล่าไว้ในขณะให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวของ บีบีซี
“คณะกรรมการ RAVEC เป็นทีมผู้เชี่ยวชาญและก็มีเจ้าพนักงานจากสำนักพระราชวังสองราย โดยหนึ่งในสองรายนี้เป็นโควตาผู้แทนของผมในคณะกรรมการ แต่ผมไม่ได้เลือกเขา ผมถูกบีบบังคับให้ยอมๆ ไปตามนั้น
“เมื่อตอนปี 2021 ผมเพิ่งได้ทราบเรื่อง คือ ทนายความของผมบอกผมว่า ปรินซ์รู้ไหม มีเจ้าพนักงานจากสำนักพระราชวังนั่งอยู่ในคณะกรรมการ RAVEC ด้วย ผมอ้าปากค้างตกตะลึงจนขากรรไกรร่วงกระแทกพื้นอะครับ
“แล้วที่สำคัญอีกประการคือ ไม่มีกรอบกฎหมายที่กำหนดการแนวทางการตัดสินใจต่างๆ ของคณะกรรมการนี้” ปรินซ์แฮร์รีทรงเล่าไว้ ก่อนจะทรงสรุปด้วยข้อกล่าวหาเล่นงานคิงชาร์ลส์ 3 ประการ ดังนี้
“ผมไม่เคยร้องขอให้เสด็จพระบิดาเข้ามาแทรกแซงในคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อช่วยผมในเรื่องมติว่าด้วยการจัดถวายอารักขาให้ผม ผมแค่ขอให้พระองค์อย่าเข้ามายุ่งเกี่ยว แล้วปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่ไปโดยอิสระ”
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปรินซ์แฮร์รีทรง “กล่าวหา” ว่า
“คิงชาร์ลส์ทรงเป็นผู้ที่ทำให้ปรินซ์แฮร์รีถูก “ลด” การอารักขา ซึ่งเคยได้รับในยุคที่ยังทรงงานถวายควีนเอลิซาเบธที่ 2” โดยมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน คือ
(1)คิงชาร์ลส์ทรงส่งเจ้าพนักงานของสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นบุคลากรของพระองค์ เข้าไปเป็นกรรมการใน RAVE เพื่อดำเนินการตามที่ทรงต้องการ
(2)สำนักพระราชวัง (ซึ่งในความหมายของปรินซ์แฮร์รี ก็คือ คิงชาร์ลส์ นั่นเอง) ใช้เจ้าพนักงานของพระองค์ทำการล็อบบี (แผ่อิทธิพล) เพื่อให้บรรดากรรมการของ RAVE เห็นพ้องตามกันและร่วมกันลงมติให้ “ลด” การถวายอารักขาที่ปรินซ์แฮร์รีเคยได้รับ
(3)ดังนั้น ปรินซ์แฮร์รีทรงสรุปแบบประชดประชันว่า พระองค์ไม่เคยร้องขอให้คิงชาร์ลส์เข้าไปช่วย โดยมีแต่จะขอแค่คิงชาร์ลส์โปรดประทับห่างๆ จากคณะกรรมการ RAVE อย่าเข้าไปบงการใดๆ เพราะปรินซ์ทรงเชื่อว่า เมื่อคิงทรงขยับ ปรินซ์ก็จะเสียผลประโยชน์สถานเดียว
ข้อกล่าวหาข้างต้นเป็นคำเท็จจากพระโอษฐ์ของเจ้าชายแฮร์รี
การที่จะลดเกรดสิทธิที่สมาชิกพระราชวงศ์จะได้รับการอารักขา มีหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน มิได้ขึ้นอยู่กับอำเภอใจวูบวาบของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และหากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนแปลง ก็ทรงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในกรณีของปรินซ์แฮร์รี ผู้พิพากษาจาก 2 ศาลมีคำตัดสินตรงกันว่าการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนมติของคณะกรรมการ RAVEC ล้วนเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกฎกติกาแห่งความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ปรินซ์และพระชายาทรงยุติการปฏิบัติพระราชกรณียกิจถวายควีนเอลิซาเบธ สกายนิวส์รายงานอย่างนั้น
การให้สัมภาษณ์แก่ บีบีซี นิวส์ ของปรินซ์แฮร์รี เจิ่งนองไปด้วยข้อกล่าวหาโจมตีเสด็จพระราชบิดาคือ คิงชาร์ลส์ ซึ่งนอกจากข้อกล่าวหารายการใหญ่ที่ว่า คิงชาร์ลส์ทรงเป็นผู้ที่ทำให้ปรินซ์แฮร์รีถูก “ลด” การอารักขาแล้ว ในบรรดาประโยคต่างๆ ที่ปรินซ์ตรัสออกมา ยังเกลื่อนกล่นด้วยข้อกล่าวหาสมทบที่สร้างความปั่นป่วนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปมบาดใจว่าคิงชาร์ลส์ทรงไม่ยอมพูดกับพระองค์
ประกาศว่าทรงปรารถนาจะคืนดีกับพระราชบิดา แต่ไม่วายสาดข้อกล่าวหาว่าคิงชาร์ลส์ทรงไม่คุยกับพระองค์ ตลอดจนข้อกล่าวหาอื่นๆ อีกหลายรายการ “จะขอคืนดี ก็ต้องขออภัยที่เคยใส่ร้ายป้ายสีไว้มากมาย
“ผมปรารถนาที่จะปรองดองกับพระราชตระกูล ไม่มีประโยชน์ที่จะเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป ผมไม่ทราบว่าเสด็จพระบิดาจะทรงมีชีวิตยืนยาวอีกนานเพียงใด แต่ผมให้อภัยพระองค์แล้ว” สำนักข่าวเอพีรายงานว่าปรินซ์แฮร์รีทรงกล่าวอย่างนั้นในตอนหนึ่งของการประทานสัมภาษณ์แก่ บีบีซีสำนักงานแคลิฟอร์เนีย เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2025
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ปรินซ์แฮร์รีทรงพ่ายศึกไฝว้จะให้ศาลอุทธรณ์อังกฤษตัดสินว่า กระทรวงมหาดไทยแห่งสหราชอาณาจักรต้องถวายอารักขาแก่พระองค์ในทุกครั้งที่เสด็จมาประเทศอังกฤษ อันเป็นปมที่ปรินซ์ทรงอ้างว่าทำให้พระราชบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เลิกคุยกับพระองค์ แต่เดลิเมลออนไลน์ให้ข้อมูลว่าความพ่ายแพ้ในชั้นศาลครั้งนี้ ทำให้ปรินซ์แฮร์รีจะต้องเสียเงินมากมายถึง 1.5 ล้านปอนด์อันเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินคดี ทั้งในฝ่ายของกระทรวงมหาดไทยและในฝั่งของพระองค์เอง
ที่ผ่านมาในปี 2024 สื่อมวลชนในอังกฤษเคยรายงานไว้หลายครั้งว่า ดยุกแห่งซัสเซกซ์ทรงมีปัญหาทางการเงิน
“เสด็จพระบิดาทรงไม่พูดกับผมแล้ว เพราะเรื่องรักษาความปลอดภัยนี่แหละ” ท่านดยุกแฮร์รีทรงกล่าวในการสัมภาษณ์ออกทางโทรทัศน์ ซึ่งออกอากาศเมื่อ 3 ชั่วโมงหลังศาลอุทธรณ์ประกาศไม่รับคำร้องของปรินแฮร์รีที่ขอให้กระทรวงมหาดไทยจัดชุดตำรวจอารักขาพร้อมอาวุธ ติดตามดูแลพระองค์และพระครอบครัวขณะเสด็จประทับในประเทศอังกฤษ อันเป็นสิทธิ์ที่รัฐบาลจัดถวายแก่เฉพาะสมาชิกพระราชวงศ์ที่ทรงงานพระราชกรณียกิจถวายองค์พระประมุข และสิทธิ์นี้สิ้นสุดลงเมื่อปรินซ์แฮร์รีทรงลาออกและย้ายไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา
แต่ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รับทราบมาหลายปีแล้วนั้น มีอยู่ว่าปรินซ์แฮร์รีทรงบาดหมางกับพระราชตระกูลตลอดตั้งแต่ที่เดินทางออกจากอังกฤษ เพราะทรงพิโรธที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 มิได้ออกพระราชหัตถเลขาไปเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาล เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ปรินซ์และพระชายา และปมตรงนี้ คือสิ่งที่ปรินซ์ทรงเรียกว่า พระองค์และพระชายาเมแกนไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยโบกพระหัตถ์ลา
หลังจากนั้น ก็ทรงร่วมกันกับพระชายาเมแกนออกรายการทอล์กโชว์ของโอปราห์ วินฟรีย์ ให้ข้อมูลใส่ร้ายพระราชวงศ์วินด์เซอร์ (แล้วต่อด้วยการออกหนังสือ Spare ตลอดจนการสร้างซีรีส์ภาพยนตร์สารคดีชุด Harry and Meghan ฯลฯ)
อาทิ การฟ้องร้องกล่าวหาต่อชาวโลกผ่านบทสนทนากับโอปราห์ วินฟรีย์ว่า คุณอาร์ชี เมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์ ไม่ได้รับพระอิสริยยศเจ้าชายเพราะถูกรังเกียจที่มีเลือดแอฟริกันจากเชื้อสายในฝ่ายของดัชเชสเมแกน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ราย ช่วยกันชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่าสาเหตุแท้จริงเป็นเรื่องของกฎมณเฑียรบาล โดยจะมีพระราชปนัดดาของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทุกท่านที่ไม่ได้เป็นเจ้าชาย/เจ้าหญิง ยกเว้นเฉพาะเพียงพระราชปนัดดาในสายของปรินซ์วิลเลียม เพราะทรงเป็นว่าที่พระมหากษัตริย์ในเจเนอเรชันถัดจากสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
ในการประทานสัมภาษณ์แก่ บีบีซี ปรินซ์แฮร์รีทรงกล่าวด้วยว่า พระองค์มีความไม่ลงรอยในเรื่องต่างๆ มากมายกับพระราชตระกูล โดยมีบางพระองค์ “จะไม่มีวันให้อภัย” ที่พระองค์เขียนหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง Spare
อนิจจา ทรงกล้าพูดเยี่ยงนั้นได้อย่างไร ในเมื่อปรินซ์แฮร์รีทรงแต่งเรื่องใส่ร้ายพระญาติไว้มหาศาล
“มีเรื่องไม่ลงรอยกันมากมายในระหว่างผมกับบางคนในครอบครัว แต่ตอนนี้ผม ให้อภัย พวกเขาหมดแล้ว!!” ดยุกแห่งซัสเซกซ์ทรงกล่าวไว้
ด้านผู้สันทัดกรณีและเกรียนคีย์บอร์ดตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุและแรงจูงใจของปรินซ์แฮร์รีที่เปลี่ยนท่าทีอย่างปุบปับ น่าจะต้องมีปมปัญหาทุนทรัพย์ขัดสน อันเป็นปัญหาที่สื่อหลายค่ายเคยนำเสนอไว้บ่อยๆ ในปี 2024
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจ 3 โครงการของดัชเชสเมแกนที่เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายนล้วนแต่ไม่สามารถทำเงินได้เลย
หนำซ้ำ วี่แววที่ Netflix จะไม่ต่อสัญญาธุรกิจกับพระครอบครัวซัสเซกซ์มีสูงอย่างยิ่ง หลังจากที่อัดฉีดให้ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ไปแล้ว 100 ล้านดอลลาร์ แต่ได้ผลิตภัณฑ์กลับมาเพียง 5 ชุด สถานการณ์นี้ย่อมเป็นภาวะขาดทุนมากมายในรอบ 5 ปีนับถึงปลายศักราช 2025
ในท่ามกลางแนวโน้มไม่สู้ดีเหล่านี้ ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่จู่ๆ ปรินซ์แฮร์รีเกิดจะประกาศออกสื่อว่า ปรารถนาเหลือเกินที่จะคืนดีกับพระราชบิดา แต่พระองค์ก็ไม่วายที่จะเดินกลยุทธ์ใช้ความรุนแรงไปกดดันให้เสด็จพระบิดาอับอายชาวโลก แล้วรีบโอเคกับพระราชโอรสโดยไว
คอลัมน์ PLANET No.3
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เดอะซัน สกายนิวส์ เดลิเมลออนไลน์ บีบีซี เอพี รอยเตอร์)