ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ อาจปฏิเสธเข้าร่วมประชุมซัมมิตนาโตที่กำลังมาถึง จนกว่าบรรดารัฐสมาชิกยุโรปของพันธมิตรทหารแห่งนี้ จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันตนเองขึ้นอย่างมาก ตามรายงานของแดร์ ชปีเกล สื่อมวลชนเยอรมนีเมื่อช่วงปลายสัปดาห์
แมตธิว วิเทเกอร์ ผู้แทนทูตสหรัฐฯประจำนาโต ส่งเสียงเรียกร้องซ้ำๆให้รัฐสมาชิกยุโรป เพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายด้านกลาโหมแตะระดับ 5% ของจีดีพี คัดค้านเป้าหมายเดิมของกลุ่มพันธมิตรทหารที่วางเป้าไว้ 2%ของจีดีพี ตามรายงานของแดร์ ชปีเดิล อ้างอิงแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่เยอรมนีหลายคนในบรัสเซลส์ พร้อมระบุว่า วิเทเดอร์ ได้เตือนว่าความล้มเหลวไม่ทำตามเกณฑ์มาตรฐานใหม่ อาจกระตุ้นให้ ทรัมป์ ปฏิเสธเข้าร่วมประชุมซุมมิตนาโตในเมืองเฮก ที่กำหนดไว้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน
แดร์ ชปีเกล รายงานว่าระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับ บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี เมื่อเดือนที่แล้ว ทาง พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ "ได้สื่อสารถึงความตั้งใจของรัฐบาล ที่อยากเห็นบรรดาพันธมิตรยุโรปเข้าแบกรับความรับผิดชอบหลักสำหรับความมั่นคงโดยทั่วไปของยุโรป และเรียกร้องให้บรรดารัฐมนรีกลาโหมยุโรป ให้เพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันตนเองอย่างแท้จริง"
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฟรีเพรส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความข้อตกลงที่มีอยู่ในปัจจุบันของพันธมิตรทหารแห่งนี้ว่าเป็นข้อตกลงระหว่างอเมริกากับกลุ่มก้อนหุ้นส่วนระดับรองๆ ที่ไม่ทำตามส่วนแบ่งอย่างยุติธรรม
เฮกเซธ แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน อ้างว่า "ช่วงเวลาที่สหรัฐฯเป็นผู้รับประกันเพียงหนึ่งเดียวในความมั่นคงของยุโรปได้ผ่านพ้นไปแล้ว มันเลยกำหนดมานานแล้วที่ยุโรปต้องลุกขึ้นยกระดับเงินสนับสนุนด้านการทหารของตนเอง และก้าวมาเป็นผู้นำ" พร้อมเน้นเช่นกันว่าเป้าหมายการใช้จ่ายด้านการป้องกันตนเองของนาโตในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2% นั้น "ยังไม่เพียงพอ"
เมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ บอกว่าเขาไม่ตัดความเป็นไปได้ในการถอนทหารทั้งหมด 84,000 นาย หรือบางส่วน ที่ปัจจุบันประจำการอยู่ในยุโรป กลับประเทศ โดยกำลังพลเหล่านี้ถูกส่งเข้าประจำการในทวีปแห่งนี้นับตั้งแต่วอชิงตันแบกรับค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงของยุโรป แต่ไม่ได้รับผลตอบแทบกลับมาเท่าใดนัก
มี 23 ชาติจากรัฐสมาชิกนาโตทั้งหมด 32 ประเทศ ที่เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายด้านการป้องกันตนเองแตะระดับ 2% ของจีพีพีในปี 2024 ในขณะที่ปัจจุบัน สหรัฐฯเองก็ใช้จ่ายด้านกลาโหมเพียงราวๆ 3.5% ของจีดีพี แม้อยู่ในสถานะผู้สนับสนุนในภาพรวมรายใหญ่ที่สุดของนาโต
(ที่มา:แดร์ ชปีเกล/อาร์ทีนิวส์)