ชาวสิงคโปร์ออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนในศึกเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในวันนี้ (3 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นบททดสอบสำคัญครั้งแรกสำหรับนายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง ผู้นำคนใหม่ของพรรคกิจประชาชน (PAP) ว่าจะได้รับอาณัติจากประชาชนมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าโลก
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยังถือเป็นมาตรวัดความนิยมของพรรค PAP ซึ่งผูกขาดอำนาจปกครองสิงคโปร์ตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1965 ทว่าสิ่งที่คนจับตากันมากที่สุดก็คือผลงานของพรรคฝ่ายค้านว่าจะสามารถฝ่าด่านอรหันต์เก็บที่นั่ง ส.ส.ได้เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หลังจากที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า
แม้ PAP จะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์โดยกวาดที่นั่ง ส.ส. ถึง 90% ทุกครั้ง แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงพลังอาณัติของประชาชนที่รัฐบาลได้รับ ซึ่งนายกฯ หว่อง นั้นก็หวังที่จะทำให้พรรคเก็บคะแนนเพิ่มขึ้นในส่วนนี้ จากที่ทำสถิติต่ำเป็นประวัติการณ์ 60.1% ในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2020
หว่อง วัย 52 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้การบริหารบ้านเมืองไม่ขาดช่วงขาดตอน และชูภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมจะนำสิงคโปร์ก้าวไปข้างหน้าด้วยวิสัยทัศน์ของตัวเอง
หว่อง ก้าวขึ้นมารับไม้ต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง บุตรชายคนโตของอดีตนายกฯ ลี กวนยู ผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ยุคใหม่ซึ่งครองอำนาจบริหารประเทศมานานถึง 2 ทศวรรษ
ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงเวลาเปิดหีบเลือกตั้ง 8.00 น. เริ่มซาลงในช่วงสาย และราวๆ เที่ยงวันก็มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณเกือบครึ่งออกมาลงคะแนนใน 1,240 หน่วยเลือกตั้งที่กระจายตัวอยู่ตามศูนย์กลางชุมชน โรงเรียน และพื้นที่อื่นๆ ทั่วเกาะ
การเลือกตั้งครั้งนี้มีชาวสิงคโปร์ที่สามารถออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ประมาณ 2.76 ล้านคน และมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 211 คนที่ช่วงชิงที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมด 97 ที่นั่ง ทว่าในจำนวนนี้มีอยู่ 5 ที่นั่งที่ผู้สมัครจากพรรค PAP ชนะแน่นอนแล้วเนื่องจากไม่มีคู่แข่ง
สิงคโปร์จะปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 20.00 น. และคาดว่าผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการจะถูกประกาศภายในช่วงเช้ามืดของวันอาทิตย์ (4)
สำหรับนายกฯ หว่อง นั้นได้ควงศรีภรรยาไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งใกล้ๆ สวนพฤกศาสตร์ Botanic Gardens และไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อสื่อทั้งก่อนและหลังลงคะแนน
ค่าครองชีพและการเข้าถึงที่พักอาศัยเป็นหนึ่งในปัญหาหลักสำหรับสิงคโปร์ และเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ หว่อง ในช่วงเวลาที่รัฐบาลออกมาเตือนถึงความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) หากว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่พึ่งพาการค้าอย่างมากได้รับผลกระทบจากมาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯอเมริกา
ที่มา: รอยเตอร์, Xinhua