ไต้หวัน ยังเชื่อมั่นในแรงสนับสนุนของสหรัฐฯ จากการยืนยันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของไทเป แม้มีความกังวลในวงกว้างบนเกาะแห่งนี้ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจใช้ ไต้หวัน เป็นเพียงเบี้ยต่อรองกับจีน
"ไต้หวันและสหรัฐฯมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและเข้มแข็งมากๆ และไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากทั้ง 2 พรรคในสภาคองเกรสสหรัฐฯ" ชิว ชุยเฉิง รัฐมนตรีสภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์
"ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน สหรัฐฯกับไต้หวันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างไม่เคยมีมาก่อน" ชิวกล่าว อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่ายังเร็วเกินไปที่จะเมินผลกระทบจากการทำหน้าที่ประธานาธิบดีอเมริกาสมัย 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์
"รัฐบาลไต้หวันยังคงเดินหน้าจับตาดูรัฐบาลทรัมป์ มานานกว่า 3 เดือนแล้ว" เขากล่าวผ่านล่าม "รัฐบาลไต้หวันมีจุดยืนที่มั่นคงมากๆ ในการปกป้องอธิปไตย เสรีภาพและประชาธิปไตยของเรา"
ทรัมป์ เคยตกเป็นข่าวพาดหัวในไต้หวันเมื่อปี 2016 โดยคราวนั้นในฐานะว่าที่ประธานาธิบดี เขารับสายโทศศัพท์แสดงความยินดีจาก ไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ณ ขณะนั้น ซึ่งถือเป็นการแหวกประเพณีที่ยึดถือมาช้านาน ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯและประธานาธิบดีไต้หวัน จะไม่สื่อสารกันโดยตรง
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับไต้หวันแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆตลอดวาระการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์ จนถึงสมัยของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยมีคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา จากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน เดินทางเยือนเกาะเแห่งนี้หลายต่อหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่อำนาจสมัยล่าสุด ทรัมป์ เปิดฉากโจมตีไต้หวันเป็นชุดๆ แม้อีกด้านหนึ่ง มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันยังคงเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของเกาะแห่งนี้
ประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวหาหนักบ้างเบาบ้าง ว่าไต้หวันขโมยอุตสาหกรรมชิปของอเมริกา และอ้างว่าไทเปควรจ่ายเงินสำหรับการป้องกันตนเอง และขู่รีดภาษี 100% กับ ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน ถ้าบริษัทแห่งนี้ไม่ยกระดับการผลิตในสหรัฐฯ
นอกจากนี้แล้ว ทรัมป์ ยังกำหนดมาตรการรีดภาษีตอบโต้ 32% เล่นงานสินค้านำเข้าจากไต้หวัน ก่อนระงับบังคับใช้ชั่วคราวไปจนถึงเดือนกรกฏาคม และยกระดับเพดานภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน กับเหล็กและอลูมีเนียมนำเข้า
เหมือนกับประเทศอื่นๆส่วนใหญ่ของโลก สหรัฐฯไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ที่ จีน มองเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน แต่วอชิงตันรับปากให้การสนับสนุนการป้องกันตนเองของเกาะแห่งนี้ ภายใต้กฏหมายปี 1979 แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้เจาะจงถึงพันธสัญญาในการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งหนึ่งใดโดยตรง
ในขณะไทเปใช้แนวทางรอดูก่อน แต่วาทกรรมและนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ต่างๆนานาของทรัมป์ ได้โหมกระพือความกังวลในหมู่ประชาชนชาวไต้หวันจำนวนมาก ว่าเขาอาจทอดทิ้งไต้หวัน เพื่อเปิดทางให้ จีน ยอมประนีประนอมในการเจรจาทางการค้า
ผลสำรวจที่เผยแพร่โดย มูลนิธิมติมหาชนไต้หวัน (Taiwanese Public Opinion Foundation,TPOF) เมื่อเดือนมีนาคม พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 39.2% ที่เชื่อว่าสหรัฐฯจะส่งทหารเข้าปกป้องไต้หวัน ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 65% ในปี 2021
แม้มีความกังวลเหล่านี้ แต่ ชิว เชื่อว่าวอชิงตันจะไม่มีวันยอมรับ "คำร้องขอที่ไม่มีเหตุผล" จากปักกิ่ง สำหรับปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับไต้หวัน
จีน ประกาศรวมชาติกับไต้หวัน และผ่านการใช้กำลังถ้าจำเป็น ในเรื่องนี้ ชิว บอกว่า ไต้หวัน มีสิ่งนำเสนอที่ดึงดูดใจสหรัฐฯมากกว่า ไล่ตั้งแต่ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ที่อยู่ภายในยุทธศาสตร์ป้องกันแนวห่วงโซ่เกาะชั้นแรกของวอชิงตัน ที่มีเป้าหมายตรวจตราการแผ่ขยายขอบเขตของจีนในแปซิฟิก ไปจนถึงสถานะของพวกเขาในฐานะผู้ผลิตชิปรายสำคัญที่สุดของโลก
"เราคิดว่าเราสามารถแสดงให้ประชาชนชาวสหรัฐฯเห็นว่า ไต้หวันเป็นคู่หูที่ดีมากๆ และไม่มีใครสามารถทดแทนเราได้" ชิวกล่าว
(ที่มา:อัลจาซีราห์)