สหรัฐฯโจมตีมากกว่า 800 เป้าหมายในเยเมน นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม จากการเปิดเผยของกองทัพอเมริกาในวันอาทิตย์(27เม.ย.) อ้างว่าปลิดชีพพวกนักรบกบฏฮูตีไปได้หลายร้อยคน
กองกำลังของสหรัฐฯเล่นงานพวกฮูตีในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเกือบทุกวันมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ในภารกิจที่ได้รับฉายาว่า "Rough Rider" ในความพยายามหาทางหยุดภัยคุกคามที่นักรบกลุ่มนี้เล็งเป้าเล่นงานเรือต่างๆในทะเลแดงและอ่าวเอเดน รวมถึงรื้อฟื้นปฏิบัติการป้อมปรามของวอชิงตันในภูมิภาคแถบนี้
"นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการ Rough Rider ทางกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ถล่มเป้าหมายต่างๆกว่า 800 เป้าหมาย การโจมตีเหล่านี้สังหารพวกนักรบฮูตีหลายร้อยคนและพวกผู้นำฮูตีไปหลายคน" กองบัญชาการที่รับผิดชอบตะวันกลาง ระบุในถ้อยแถลง "การโจมตีทำลายที่ตั้งบัญชาการและควบคุมหลายแห่ง ระบบป้องกันภัยทางอากาศ โรงงานผลิตอาวุธล้ำสมัยและที่ตั้งคลังอาวุธล้ำสมัย"
แม้มีปฏิบัติการโจมตีดังกล่าว แต่พวกฮูตี ซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมนและทำสงครามกับพันธมิตรนานาชาติที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติมาตั้งแต่ปี 2015 ยังคงเดินหน้าโจมตีเรือของทั้งสหรัฐฯและอิสราเอล
กองบัญชาการกลางสหรัฐฯระบุว่า "ในขณะที่พวกฮูตียังคงโจมตีเรือของเรา แต่ปฏิบัติการของเราสามารถลดอัตราและประสิทธิภาพของการโจมตีเหล่านั้น ขีปนาวุธที่ถูกยิงออกมาลดลง 69% นอกเหนือจากนี้แล้ว การโจมตีด้วยโดรนพลีชีพก็ลดลง 55%"
"ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอิหร่านยังคงให้การสนับสนุนฮูตี และฮูตีสามารถเดินหน้าโจมตีกองกำลังของเราได้ ก็ด้วยการที่มีรัฐบาลอิหร่านให้การหนุนหลัง" กองบัญชาการกลางสหรัฐฯระบุ "เราจะเดินหน้ายกระดับกดดันจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็คือการคืนสถานะเสรีภาพในการเดินเรือและการป้องปรามของอเมริกาในภูมิภาค"
กบฏฮูตี เริ่มเล็งเป้าเล่นงานเรือต่างๆในช่วงปลายปี 2023 อ้างว่าเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งถูกทำลายล้างโดยปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล แก้แค้นกรณีที่พวกนักรบปาเลสไตน์ฮามาน บุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอล ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน
พวกเขาระงับการโจมตีเส้นทางการเดินเรือระหว่างข้อตกลงหยุดยิง 2 เดือนในกาซา แต่ประกาศกลับมาโจมตีอีก หลังอิสราเอล กลับมาถล่มฉนวนกาซาในเดือนที่แล้ว อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่นั้น ฮูตี ยังไม่กล่าวอ้างเหตุโจมตีใดๆ
การโจมตีก่อความเสียหายแก่เส้นทางการเดินเรือสำคัญ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 12% ของโลก บีบให้บริษัทมากมายต้องอ้อมไปแถวๆ แหลมทางใต้ของแอฟริกา ซึ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก
(ที่มา:เอเอฟพี)