xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’เตรียมตัวมาดีกว่า‘อเมริกา’สำหรับการทำสงครามการค้า และ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ก็ตระหนักรับรู้เรื่องนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไนเจล กรีน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China better built for a trade war – and Trump knows it
by Nigel Green
24/04/2025

การที่ทรัมป์แบะท่าถอยลงมาจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าเข้าแดนมังกรในอัตรา 142% คือการยอมรับอย่างกลายๆ ว่า จีนสามารถที่จะเล่นเกมยาวยืดเยื้อในสงครามการค้าได้ ขณะที่สหรัฐฯกลับไม่สามารถทำได้

หลังจากหลายๆ เดือนของการข่มขู่คุกคามเรื่องภาษีศุลกากร และการแสดงท่าทางพร้อมท้าตีท้าต่อย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ กลับแสดงท่าทีการอ่อนข้ออย่างชนิดพบเห็นได้ยาก เขาบอกว่า อัตราภาษี 145% ที่เขาประกาศเรียกเก็บจากพวกสินค้านำเข้าของจีนนั้น “จะไม่สูงถึงขนาดนั้นหรอก ... มันจะลดลงมาอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังทีเดียว”

เขาออกปากพูดเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการพูดจากับจีนอย่างเป็นทางการใดๆ ไม่มีการทำความตกลงแบบทะลุทะลวงทางตันใดๆ เพียงแค่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯคนนี้ปรับเปลี่ยนน้ำเสียงของตัวเองอย่างฉับพลันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนเช่นนี้ในตัวมันเองก็กลายเป็นการตะโกนป่าวร้องอะไรๆ ออกมามากมายทีเดียว

ถึงแม้ตอนนี้เขายังคงแผดเสียงพูดวางโตไม่หยุดไม่หย่อน แต่จริงๆ แล้ว ทรัมป์ กำลังยอมรับรู้ถึงข้อเท็จจริงอันหนักแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ ประเทศจีนมีโครงสร้างที่ป้องกันความเสียหายได้มากกว่า, มีการเตรียมตัวในทางยุทธศาสตร์ซึ่งดีกว่า, และถึงที่สุดแล้วยังคงมีศักยภาพสูงกว่าในการแบกรับความยากลำบากจากความขัดแย้งทางการค้าอย่างยืดเยื้อยาวนานได้ดีกว่าสหรัฐฯ

มายาภาพที่ว่าภาษีศุลกากรจะบีบบังคับให้ปักกิ่งต้องยอมจำนน กำลังถูกบดขยี้อย่างไม่หยุดยั้งจนแหลกลาญจากความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ ในการแข่งขันจ้องตากันระหว่างสหรัฐฯกับจีน ปรากฏว่าจีนไม่ได้เป็นฝ่ายที่หลบตาก่อนแต่อย่างใด แดนมังกรตอบโต้ความก้าวร้าวของสหรัฐฯ ด้วยการนำเอาความหยุ่นตัวไม่ยอมหมอบราบคาบแก้ว มาผสมผสานกับการปรับตัวยืดหยุ่นได้อย่างเหมาะเจาะ – โดยเสนอว่าพร้อมพูดจาหารือด้วย ทว่าปฏิเสธไม่ยอมที่จะสยบยกธงขาว

จีนนั้นไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องยอมสยบเลย ปักกิ่งใช้ระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมาในการหาทางลดทอนจุดอ่อนต่างๆ ที่อาจถูกอเมริกาบีบคั้นกดดันเอาได้อย่างเงียบๆ การรีดภาษีของทรัมป์อาจจะก่อให้เกิดความเจ็บปวด ทว่ามันไม่สามารถทำให้จีนถึงขั้นพังครืนลงได้

สำหรับท่านผู้เริ่มต้นศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนอื่นขอให้ตระหนักว่าระบบการเมืองของจีนนั้น ทำให้ประเทศนี้มีความได้เปรียบอย่างสำคัญในการแข่งขันชิงชัยทางเศรษฐกิจกันแบบเต็มขั้นเต็มพิกัด ในวอชิงตัน สงครามการค้าครั้งไหนๆ ก็ตามที ย่อมตกเป็นเชลยของวงจรการเลือกตั้ง, ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ, และของกระแสคลื่นลมพายุในโซเชียลมีเดีย แต่ในปักกิ่ง นโยบายต่างๆ ถูกบงการออกมาจากระดับสูงสุดด้วยความสม่ำเสมอในเชิงยุทธศาสตร์

การควบคุมแบบรวมศูนย์เช่นนี้หมายความว่าจีนสามารถที่จะดูดซับความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้โดยไม่ถอยหนี เวลาเดียวกันก็นำเอาพวกมาตรการแรงจูงใจ, การอุดหนุน, และการตอบโต้ต่างๆ ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจน ออกมาใช้โดยปราศจากการชะลอเชื่องช้า หรือก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายในทางการเมือง แดนมังกรสามารถที่จะเล่นเกมยาวยืดเยื้อได้ ขณะที่สหรัฐฯภายใต้ทรัมป์ กลับไม่สามารถทำได้

นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องดุลการค้าอีก จีนนั้นได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯถึงเกือบๆ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อปีที่แล้ว การส่งออกของจีนประมาณ 15% เป็นการส่งไปยังพวกผู้บริโภคชาวอเมริกัน เรื่องนี้ดูเผินๆ แล้วเหมือนกับว่ามันคือไพ่ใบเด็ดที่จะทำให้วอชิงตันได้เปรียบ --จวบจนกระทั่งคุณเกิดความตระหนักรับรู้ขึ้นว่าว่า การค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนกำลังมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางไปอย่างมากมายถึงขนาดไหนแล้ว

ตั้งแต่ที่ ทรัมป์ เปิดฉากระดมยิงกระสุนภาษีศุลกากรชุดแรกเข้าใส่สินค้าพวก เหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, และแผงโซลาร์เซลล์เมื่อปี 2018 พวกผู้ส่งออกจีนก็ได้ปรับเปลี่ยนหันไปทำการผลิตที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โรงงานต่างๆ ในเวียดนามและกัมพูชาเวลานี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตทรงประสิทธิภาพอันเดียวกัน ทว่าอยู่ภายใต้ธงชาติที่แตกต่างออกไปเท่านั้น การส่งออกของจีนไปยังเวียดนามเมื่อเดือนมีนาคมได้พึ่งพรวดขึ้นมา 17% เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญแต่อย่างใดเลย เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่ว่าเวียดนามเวลานี้กำลังได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯอยู่ 124,000 ล้านดอลลาร์

ทรัมป์อาจจะพูดอย่างสุดห้าวในเรื่องที่จะปิด “ประตูหลัง” เหล่านี้ให้สนิท ด้วยการประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรเพื่อตอบโต้ ในอัตราสูงถึง 46% เอากับสินค้าเข้าจากเวียดนาม –ทว่ากระทั่งการข่มขู่ดังกล่าวนี้ก็ยังถูกระงับเอาไว้ก่อนอย่างเงียบๆ วอชิงตันนั้นไม่ต้องการที่จะทำสงครามการค้าโดยเปิดแนวรบขึ้นมาหลายๆ แนว และปักกิ่งก็ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี

เรื่องที่สำคัญยิ่งยวดยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ขณะที่ทรัมป์พูดจาเรื่องภาษีศุลกากรอยู่นี้ จีนก็กำลังบ่มเพาะหล่อเลี้ยงทางเลือกอื่นๆ ขึ้นมาอยู่แล้ว แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของแดนมังกร เป็นการเปิดระเบียงการค้าใหม่ๆ ให้แก่จีน ในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียกลาง, แอฟริกา, และตะวันออกกลาง

แดนมังกรลงนามในดีลทางการค้าแบบพหุภาคี โดยที่ไม่มีสหรัฐฯเข้าร่วมด้วยฉบับแล้วฉบับเล่า สินค้าออกของจีนที่ส่งไปยังอเมริกากำลังเป็นเปอร์เซนต์ของสินค้าออกทั้งหมดของแดนมังกรซึ่งลดต่ำลงเรื่อยๆ –โดยหล่นลงจากระดับเท่ากับ 21% ของสินค้าออกของจีนทั้งหมดเมื่อปี 2016 เหลือแค่เท่ากับ 13.4%ในปีที่แล้ว โดยภาพรวมแล้ว จีนกำลังพยายามบริหารจัดการกับสภาพการเปิดตัวพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯของตนเอง และกระบวนการกระจายความเสี่ยงของพวกเขาก็กำลังผลิดอกออกผล

ลองนำเอาภาพดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับการพึ่งพาอาศัยจีนของสหรัฐฯดูบ้าง ก็จะมองเห็นความแตกต่างอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ สินค้าออกอเมริกันที่ส่งเข้าไปยังจีนนั้นท่วมท้นด้วยพวกสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ อย่างเช่น ถั่วเหลือง, ฝ้าย, และเนื้อวัว สินค้าเหล่านี้สามารถหาจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทนได้อย่างไม่ยากเย็น – ไม่ว่าออสเตรเลีย, บราซิล, หรือ อาร์เจนตินา ทั้งหมดต่างสามารถก้าวเข้ามาอุดช่องว่างที่จะเกิดขึ้นหากสินค้าอเมริกันหายไปจากตลาดจีน

เวลาเดียวกันนั้น สินค้าออกจีนจำนวนมากที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ เป็นต้นว่า เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค, เครื่องจักรกล, และแร่ธาตุที่ผ่านการแปรรูปแล้ว กลับไม่ใช่สินค้าที่สามารถหาจากที่อื่นๆ มาทดแทนได้อย่างง่ายดาย ยิ่งกว่านั้นสินค้าออกของจีนเหล่านี้ยังฝังแนบแน่นล้ำลึกอยู่ในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ การโจมตีเล่นงานสินค้าเหล่านี้ด้วยภาษีศุลกากร จึงกลายเป็นการสร้างความบาดเจ็บให้แก่พวกโรงงานอุตสาหกรรมสหรัฐฯไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่พวกผู้ผลิตจีน

แล้วแดนมังกรยังมีไพ่ใบสำคัญมากอย่างแร่แรร์เอิร์ธ จีนเป็นผู้ควบคุมการผลิตพวกแร่ธาตุสำคัญยิ่งทางยุทธศาสตร์เหล่านี้ในทั่วโลกเอาไว้คิดเป็นอัตราส่วนสูงลิบลิ่ว โดยที่แร่ธาตุเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ทุกๆ อย่าง ตั้งแต่ยานยนต์ไฟฟ้า และสมาร์ตโฟน ไปจนถึงระบบอาวุธทางทหารระดับก้าวหน้าล้ำยุคทั้งหลาย แดนมังกรยังไม่เคยใช้ข้อได้เปรียบนี้มาเป็นอาวุธแบบเต็มที่เต็มพิกัดเลย –แต่พวกเขามีศักยภาพที่จะทำอย่างนั้นได้

อันที่จริง เพียงแค่การข่มขู่คุกคามเท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ตลาดทั่วโลกปั่นป่วนผันผวน มาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯไม่มีอันไหนหรอก สามารถที่จะประชันขันแข่งกับอิทธิพลบารมีเชิงยุทธศาสตร์ประเภทนี้ได้

สิ่งที่เรากำลังเป็นพยานมองเห็นกันอยู่ในเวลานี้ มันไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอจาก โดนัลด์ ทรัมป์ – แต่มันคือการยอมรับรู้ความจริงของเขา เขาเปิดฉากสงครามภาษีศุลกากรคราวนี้ขึ้นมาท่วงทีกร่างกล้าของนักเจรจาต่อรองทำดีลในวงการอสังหาริมทรัพย์

เวลานี้เขากลับพบว่าตัวเองกำลังเจรจาอยู่กับรัฐที่เขาไม่สามารถข่มเหงรังแกเอาตามใจชอบ หรือหลอกล่อชักจูงให้ยินยอมอ่อนข้อ ความเจ็บปวดทางการค้ากำลังกลายเป็นบูมเมอแรงสะท้อนกลับเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ, การสะดุดติดขัดในห่วงโซ่อุปทานของอเมริกา, ตลอดจนพวกเกษตรกรแถบมิดเวสต์ของอเมริกา ซึ่งถือคราดอยู่ในมือ ขณะจับจ้องมองตลาดจีนที่กำลังหลุดลอยหายวับไป

แน่นอนอยู่แล้วว่า ทรัมป์ไม่ได้กำลังยอมแพ้ แต่ระดับความบันยะบันยังในการใช้ภาษาของเขาแสดงให้เห็นว่า เขากำลังพยายามปรับเปลี่ยน เขากำลังมองหาหนทางที่จะสามารถประกาศชัยชนะโดยที่ไม่ทำให้เรื่องราวบานปลายขยายตัวต่อไปอีก และในเวลาเดียวกันนั้น จีนก็กำลังยืนหยัดอย่างมั่นคง ยุทธศาสตร์ของพวกเขานั้นชัดเจน นั่นคือ ไม่ยั่วยุ, ไม่ยอมอ่อนข้อ, และเฝ้ารอชมการแสดงในฉากต่อๆ ไป

นี่คือหนึ่งในเหตุผลข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าทำไมปักกิ่งจึงกำลังอยู่ในฐานะที่เข้มแข็งกว่า แดนมังกรสามารถที่จะกระจายการส่งออก, ลดการพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯ, ป้องกันความเสียหายต่อเศรษฐกิจของตนด้วยนโยบายทางอุตสาหกรรม, และเฝ้ารอคอยจังหวะเหมาะๆ ที่จะสั่งห้ามการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ

สงครามการค้าคราวนี้อาจจะลากยาวออกไป ทว่าจีนนั้นถูกสร้างขึ้นมาให้ยืนหยัดได้นานกว่าสหรัฐฯ ทรัมป์นั้นรู้เรื่องนี้ดี ไม่ว่าเขาจะพูดจาหรือแสดงออกอย่างไรก็ตามที และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมสัญญาณแรกๆ ของการล่าถอยจึงกำลังออกมาจากวอชิงตัน ไม่ใช่จากปักกิ่ง

ไนเจล กรีน เป็นซีอีโอและผู้ก่อตั้งกลุ่มเดอเวียร์ (deVere Group) หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและองค์การด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) อิสระรายใหญ่ที่สุดของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น