xs
xsm
sm
md
lg

‘เซเลนสกี’ปฏิเสธข้อเสนอสันติภาพของทรัมป์ ที่ให้ยอมส่งมอบ‘ไครเมีย’แก่รัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


(ภาพจากแฟ้ม) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ขณะโต้เถียงกันดุเดือดระหว่างการพบปะหารือที่มีการถ่ายทอดออกอากาศทางโทรทัศน์ ณ ห้องทำงานรูปไข่ ของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2025
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Zelensky rejects Trump peace proposal over Crimea handover
by Stephen Bryen
24/04/2025

การที่ เซเลนสกี ปฏิเสธเสียงแข็งไม่ยอมปล่อยไครเมียให้รัสเซีย ทำเอา ทรัมป์ อยู่ในอาการโกรธกริ้ว และขณะที่ผู้นำทำเนียบขาวเองก็ต้องพยายามดึงรั้ง ปูติน ไม่ให้เร่งยกระดับการปฏิบัติการทางทหารในสงครามยูเครน จึงมีความเป็นไปได้ที่เขาอาจจะพิจารณาลดมาตรการแซงก์ชั่นแดนหมีขาว หรือยอมทำดีลเชิงพาณิชย์เพื่อปลอบใจผู้นำเครมลิน

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี โยนเรื่องยุ่งยากสาหัสเข้าไปในความพยายามของคณะบริหารทรัมป์ ที่วาดหวังจะขึ้นเกียร์สูงเพื่อเร่งรัดผลักดันการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซีย แผล็บเดียวเพียงแค่หลังจากที่ วลาดิมีร์ ปูติน ออกมาประกาศว่าเขามีความยินดีที่จะพูดจากับเซเลนสกี ซึ่งถือเป็นการถอยออกมาจากนโยบายเดิมของรัสเซียครั้งสำคัญ ตัว เซเลนสกี เองก็กลับแถลงปฏิเสธไม่เอาด้วยกับข้อเสนอ [1] ที่คณะผู้เจรจาไกล่เกลี่ยสหรัฐฯนำออกมาวางแบบบนโต๊ะ

ทีมทรัมป์จัดทำข้อเสนอคราวนี้ด้วยการร่วมมือกับชาติยุโรปบางราย แต่ไม่ใช่กับสหภาพยุโรป ซึ่ง คาจา คัลลัส (Kaja Kallas) ผู้แทนระดับสูงฝ่ายกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของอียูคนปัจจุบัน ที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย และขึ้นชื่อลือชาเรื่องมีแนวความคิดต่อต้านรัสเซียอย่างแข็งกร้าว ได้ประกาศเอาไว้แล้วว่า อียูจะไม่มีทางรับรองให้คาบสมุทรไครเมียตกเป็นดินแดนของรัสเซีย [2] เป็นอันขาด

ขณะที่รายละเอียดต่างๆ ของแผนการนี้ยังคงเป็นความลับ แต่กรอบพื้นฐานของมันก็ได้รับการรายงานเอาไว้อย่างกว้างขวาง ส่วนประกอบหลักทางด้านดินแดน 2 ส่วนของข้อเสนอนี้ ได้แก่ การให้การยอมรับในทางนิตินัยว่าไครเมียเป็นของรัสเซีย และการยอมรับในทางพฤตินัยต่อดอกผลทางดินแดนที่รัสเซียรบพุ่งช่วงชิงมาได้ทั้งในภูมิภาคดอนบาส (Donbas ภูมิภาคทางภาคตะวันออกยูเครน ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมเก่าตั้งแต่ยุคโซเวียต ประกอบด้วยแคว้นโดเนตสก์ และแคว้นลูฮันสก์ - ผู้แปล) และในที่อื่นๆ

การรับรองดินแดนในทางนิตินัยหมายความว่า ผู้ครอบครองได้รับการยอมรับว่ามีสิทธิอันชอบธรรมเหนือดินแดนดังกล่าว ขณะที่การรับรองในทางพฤตินัยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยอมรับสิทธิครอบครองใดๆ เพียงแต่เป็นการตกลงยินยอมกันแบบชั่วคราว ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง

ที่ผ่านมา นอกเหนือจากไครเมียแล้ว รัสเซียยังได้ประกาศผนวก 4 แคว้น (oblast) ในยูเครนเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน ได้แก่ โดเนตสก์ (Donetsk), ลูฮันสก์ (Luhansk), เคียร์ซอน (Kherson), และ ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) ทั้งนี้ แคว้น (oblast) คือ ส่วนหรือเขตการบริหาร และเขตแดนของแคว้นเหล่านี้ต่างถูกกำหนดเอาไว้ตายตัว โดยเริ่มแรกทีเดียวสามารถสาวย้อนไปถึงยุคที่ยูเครนยังมีฐานะเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียต สำหรับในปัจจุบัน ดินแดนของแคว้นทั้ง 4 ที่รัสเซียประกาศผนวกเหล่านี้ พวกเขาสามารถควบคุมเอาไว้ได้แล้วจริงๆ ในราวๆ 70%

ยังไม่ชัดเจนว่ารัสเซียจะยอมรับการตกลงรอมชอมในทางพฤตินัยเกี่ยวกับ 4 แคว้นดังกล่าวนี้ ซึ่งหมายความว่าหลายๆ ส่วนของพวกมันยังจะตกอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายยูเครน แล้วก็ไม่เป็นที่ชัดเจนเช่นกันว่าการดำเนินการให้เป็นไปทางพฤตินัยเช่นนี้ จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นมาใหม่ในอนาคตได้หรือไม่

เนื้อหาอื่นๆ ของข้อเสนอยุติสงครามของคณะบริหารทรัมป์นี้ ยังไม่เป็นที่ทราบกัน โดยที่ในบรรดาประเด็นซึ่งยังเป็นที่สงสัยข้องใจกันอยู่มาก ย่อมได้แก่เรื่องที่ว่า มันจะสามารถรักษาเอาไว้ได้อย่างไร ซึ่งนี่ย่อมเป็นคำถามสำคัญสำหรับการตกลงยุติสงครามใดๆ ก็ตามอยู่แล้ว แม้กระทั่งกรณีที่เป็นการยุติศึกเพียงชั่วคราว นอกจากนั้นแล้วยังมีคำถามที่ว่า การตกลงยุติศึกเช่นนี้ มันจะไม่กลายเป็นหนทางสำหรับให้ยูเครนสร้างกองทหารของตนเองขึ้นมาใหม่และขยายคลังแสงอาวุธของตนเองให้ใหญ่โตขึ้นไปอีกหรือ รวมทั้งปัญหาที่ว่าฝ่ายอื่นๆ ภายนอกจะแสดงบทบาทอย่างไร (อย่างเช่น จะให้มีกองกำลังอาวุธของพวกชาติยุโรปเข้าไปประจำยังแผ่นดินยูเครนหรือไม่), การจัดการกับพวกทรัพย์สินสำคัญๆ (แร่ธาตุ, โรงไฟฟ้า), และ แน่นอนทีเดียว จะกีดกันไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมนาโต้หรือไม่/จะทำกันอย่างไร

หนึ่งในรางวัลล่อใจที่สหรัฐฯกำลังปล่อยออกมาจูงใจให้รัสเซียโอนอ่อน ได้แก่การยุติการแซงก์ชั่นคว่ำบาตร (และบางทีอาจจะรวมไปถึงการคืนทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกยึดเอาไว้อีกด้วย) แต่เรื่องเหล่านี้สหรัฐฯย่อมไม่สามารถดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวได้ เนื่องจากมาตรการแซงก์ชั่นจำนวนมากได้เข้าไปสู่ระบบการธนาคารระหว่างประเทศแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องการจัดส่งพลังงานไปให้แก่พวกอดีตลูกค้าของรัสเซีย ตลอดจนเรื่องการจัดระเบียบเกี่ยวกับการพาณิชย์ในทะเลดำ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็ล้วนแต่ต้องดำเนินการในลักษณะของการตกลงกันระดับนานาชาติ

เรื่องที่หยิบยกขึ้นมาเหล่านี้อาจจะไม่มีเรื่องใดสลักสำคัญเลย ถ้าหากเซเลนสกีไม่ยอมให้ความร่วมมือ ซึ่งในขณะนี้มันก็ดูจะเป็นเช่นนี้แหละ คำถามในเชิงภูมิหลังยังมีอยู่ว่า เซเลนสกีแสดงท่าทีไม่เอาด้วยในตอนนี้ เป็นเพียงแค่เขาต้องการหาทางบ่อนทำลายการทำดีลใดๆ ก็ตามทีแล้วจากนั้นก็ประกาศถอนตัวออกมา หรือว่าเขากำลังใช้กลยุทธสกัดกั้นขัดขวางเพื่อพยายามเรียกร้องให้ได้การอ่อนข้อเพิ่มมากขึ้นจากสหรัฐฯ บางทีเป็นไปได้ทีเดียวว่าเขากำลังวาดหวังที่จะทำทั้งสองอย่างไปในขณะเดียวกัน

การที่เซเลนสกีปฏิเสธไม่เอาด้วยกับข้อเสนอเรื่องไครเมีย กำลังกลายเป็นการเปิดฉากความโกรธเกรี้ยวกันอย่างรุนแรง [3] ในคณะบริหารสหรัฐฯ และในหมู่ชาติยุโรป โดยที่ในบรรดาชาติยุโรปนั้น พวกเขากำลังวาดหวังให้ได้ข้อตกลงซึ่งจะทำให้พวกเขาได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วย นี่แหละคือเหตุผลที่ว่าทำไมการประชุมระดับสูงในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศจึงถูกกำหนดให้จัดขึ้นในกรุงลอนดอน

เวลานี้การประชุมดังกล่าวกำลังถูกลดชั้นลงไปอย่างเลวร้าย และบางทีจะกลายเป็นการสำแดงกำลังที่เต็มไปด้วยปัญหาและไร้ความหมายไปเลย ตอนนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า แทนที่จะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โค รูบิโอ หรือกระทั่ง ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์ อย่าง สตีฟ วิตคอฟฟ์ (Steve Witkoff) ไปร่วมการประชุมที่ลอนดอน สหรัฐฯกลับส่งแค่ นายพล คีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) ไป ผู้ซึ่งเดินทางถึงลอนดอนในสภาพที่ไม่ได้รับมอบหมายอำนาจพิเศษใดๆ เลย เวลาเดียวกันนั้น วิตคอฟฟ์ กลับมีกำหนดเดินทางไปยังกรุงมอสโกในช่วงต่อไปของสัปดาห์นี้เพื่อเข้าพบเจรจาอีกรอบหนึ่งกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

วาระการหารือระหว่าง วิตคอฟฟ์ กับ ปูติน มีอะไรบ้างนั้นไม่เป็นที่ทราบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของเซเลนสกี ที่มุ่งบ่อนทำลายการทำความตกลง หากจะคาดเดากันแบบสมเหตุสมผลแล้วก็น่าจะออกมาว่า คณะบริหารทรัมป์นั้นต้องการที่จะซื้อเวลา และไม่ต้องการเห็นฝ่ายรัสเซียเร่งยกระดับการปฏิบัติการทางทหารของพวกเขาในยูเครน ประธานาธิบดีทรัมป์นั้นมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านการสูญเสียชีวิตมนุษย์ในสงคราม และพยายามย้ำถึงจุดนี้อย่างต่อเนื่องกับคู่สงครามทั้งสองฝ่าย [4] ตลอดจนกับฝ่ายอื่นๆ

การซื้อเวลาที่ว่านี้ อาจจะครอบคลุมถึงการที่สหรัฐฯจะออกมาประกาศว่า จะลดมาตรการแซงก์ชั่นบางประการ หรือบรรลุข้อตกลงเชิงพาณิชย์บางอย่างเพื่อเป็นการปลอบใจฝ่ายรัสเซีย การทำดีลทำนองนี้ยังจะเป็นการส่งคำเตือนไปถึง เซเลนสกี ด้วยว่า สหรัฐฯวางแผนการเอาไว้แล้วที่จะเดินหน้าต่อไปกับทางรัสเซีย

มีการพูดแย้มๆ กันอย่างหนึ่งเกี่ยวกับดีลชนิดที่อาจเกิดขึ้นมาได้ ว่าอาจจะครอบคลุมถึงความร่วมมือกันอย่างใหญ่โตยิ่งขึ้นในอวกาศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) กับ รอสคอสมอส (Roscosmos) ทั้งนี้ รอสคอสมอส คือหน่วยงานรัฐของรัสเซียซึ่งรับผิดชอบเรื่องการเดินทางในอวกาศ, โครงการวิทยาการด้านการเดินทางในอวกาศ, และการวิจัยด้านการบินและอวกาศ

พวกสื่อมวลชนรัสเซียนั้นยกย่องชมเชยผลสำเร็จของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ของ อีลอน มัสก์ และจะยินดีต้อนรับความร่วมมือกันทางเทคโนโลยีกับบริษัทนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับโครงการ สตาร์ลิงก์ (Starlink) ทั้งนี้ สตาร์ลิงก์กำลังสร้างปัญหาให้แก่รัสเซีย เพราะมันถูกเอาไปใช้งานในยูเครน โดยทำให้ฝ่ายยูเครนมีการติดต่อเชื่อมโยงผ่านการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างยอดเยี่ยมท่ามกลางสงคราม หากรัสเซียมีการร่วมมือใดๆ กับสตารลิงก์ ย่อมถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับปูติน อย่างไรก็ดี ทรัมป์ หรือ วิตคอฟฟ์ จะมีการเตรียมตัวเพื่อเดินหน้าไปในทิศทางนี้หรือไม่นั้นยังไม่เป็นที่ทราบกัน

ผู้เชี่ยวชาญบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลเอก เวสลีย์ เค. คลาร์ก (Wesley K. Clark) อดีตผู้บัญชาการทหารนาโต้ คิดว่ารัสเซียมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าครอบครองเมืองโอเดสซา (Odesa) [5] คลาร์กบอกว่าเรื่องนี้จะเป็นสัญญาณแสดงถึงชัยชนะของรัสเซีย [6] ในสงครามยูเครน เราอาจสันนิษฐานได้ว่าคณะบริหารทรัมป์ต้องการที่จะสกัดขัดขวางไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นมา ถ้าหากพวกเขาสามารถกระทำได้

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ สำหรับข้อเขียนนี้ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เผยแพร่ครั้งแรกใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน

เชิงอรรถ
[1]https://thehill.com/homenews/administration/5263244-trump-zelensky-crimea/
[2] https://tribune.com.pk/story/2541755/eu-will-never-recognise-crimea-as-russian-says-chief-kaja-kallas
[3] https://nypost.com/2025/04/23/us-news/trump-gives-zelensky-dire-warning-on-russia-ukraine-war-accept-peace-or-risk-losing-the-whole-country/
[4] https://truthsocial.com/@realDonaldTrump/posts/114388111141848447
[5] https://simplicius76.substack.com/p/sitrep-42225-ukraine-begs-30-of-bundeswehr
[6] https://www.slobodenpecat.mk/en/odesa-i-kiev-mozhe-da-padnat-vo-ruski-race-predupreduva-amerikanskiot-general-vesli-klark/
กำลังโหลดความคิดเห็น