xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งแวดล้อมพังช่างมัน! ‘ทรัมป์’ ลงนามคำสั่งบริหารลุยทำ 'เหมืองแร่ใต้ทะเลลึก' เพื่อแสวงหา ‘แรร์เอิร์ธ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งบริหารให้ขยายการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก ทั้งในน่านน้ำของสหรัฐฯ และน่านน้ำสากลเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) โดยมองข้ามหลักปฏิบัติสากลที่หลีกเลี่ยงการหาทรัพยากรแร่ด้วยวิธีนี้ เพราะอาจทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลและระบบนิเวศน์พังเสียหายอย่างไม่อาจย้อนกลับ

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า ความริเริ่มของ ทรัมป์ จะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถรวบรวมก้อนแร่โลหะใต้ทะเลลึก (deep-sea nodules) ได้มากกว่า 1,000 ล้านเมตริกตัน และช่วยเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้อีกหลายแสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี การรบกวนระบบนิเวศพื้นมหาสมุทรเพื่อสกัดเอาโคบอลต์และแร่ธาตุอื่นๆ ทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มออกมาแสดงความกังวล และยังฝ่าฝืนมาตรการควบคุมของหน่วยงานกำกับดูแลพื้นทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority – ISA) ด้วย

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ISA พยายามที่จะกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการสำรวจแร่ธาตุในน่านน้ำสากล ทว่าสหรัฐฯ ไม่เคยให้สัตยาบันรับรองในข้อตกลงที่ให้เขตอำนาจศาลแก่ ISA และไม่ได้เข้าเป็นรัฐภาคีขององค์กรแห่งนี้ด้วย

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ทรัมป์ อ้างอำนาจตามกฎหมายอันคลุมเครือในปี 1980 ที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางในการออกใบอนุญาตทำเหมืองใต้ทะเลในน่านน้ำสากล

ภายใต้คำสั่งบริหารนี้ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ “จะมีเวลา 60 วันในการไปทบทวนและกำหนดขั้นตอนการออกใบอนุญาตสำรวจแร่ธาตุใต้ทะเล รวมถึงใบอนุญาตทำเหมืองสำหรับพื้นที่ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลของสหรัฐอเมริกาด้วย”

แม้การทำเหมืองใต้ทะเลลึกในเชิงพาณิชย์จะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ทว่าการที่ทั่วโลกต่างเสาะแสวงหาแร่หายากหรือ “แรร์เอิร์ธ” ซึ่งเป็นสินค้าที่จีนครองตลาดอยู่ก็ทำให้สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มศักยภาพของตนเองในด้านนี้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ ตลอดจนสนับสนุนภาคการผลิตและพลังงาน

เอมิลี เจฟเฟอร์ส ทนายความประจำศูนย์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Center for Biological Diversity) เตือนว่า “การเร่งออกใบอนุญาตทำเหมืองใต้ทะเลลึกถือเป็นหายนะของสิ่งแวดล้อม”

“ทรัมป์ กำลังแตะต้องระบบนิเวศที่เปราะบางและเป็นที่เข้าใจน้อยที่สุดของโลก เพียงเพื่อการสำรวจด้านอุตสาหกรรมที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ”

ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ตามพื้นมหาสมุทรนั้นยังรวมถึง polymetallic nodules หรือก้อนแร่โลหะที่มีขนาดพอๆ กับหัวมันฝรั่งที่ก่อเกิดขึ้นบนพื้นทะเลจากแรงกดดันนับเป็นเวลาหลายล้านปี

ก้อนแร่เหล่านี้พบที่ความลึกประมาณ 13,000-20,000 ฟุต ประกอบด้วยโลหะหลายชนิด เช่น นิกเกิล โคบอลต์ ทองแดง และแมงกานีส ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทำแบตเตอรี สายไฟ หรือเครื่องกระสุนต่างๆ รวมไปถึงอาจจะมีแรร์เอิร์ธอยู่บ้างบางส่วนด้วย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ คนหนึ่งบอกกับสื่อมวลชนก่อนจะมีพิธีลงนามคำสั่งบริหารว่า สหรัฐฯ จะสามารถรวบรวมก้อนแร่ได้มากกว่า 1,000 ล้านเมตริกตัน และกระบวนการนี้จะสร้างงานได้มากถึง 100,000 ตำแหน่ง และเพิ่มเม็ดเงินให้กับระบบเศรษฐกิจถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 10 ปี

ที่มา: เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น