รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องวานนี้ (24 เม.ย.) ให้ศาลสูงสุดอนุญาตการบังคับใช้คำสั่งบริหารห้ามคนข้ามเพศรับราชการทหาร หนึ่งในมาตรการของผู้นำสหรัฐฯ ที่ถูกมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของคนข้ามเพศ
เอกสารคำร้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ร้องขอให้ศาลสูงสุดเพิกถอนคำสั่งของผู้พิพากษา เบนจามิน เซทเทิล แห่งศาลแขวงซีแอตเติล ที่ให้ยับยั้งคำสั่งแบนทหารข้ามเพศของ ทรัมป์ โดยมีผลบังคับทั่วประเทศในระหว่างที่กระบวนการยื่นฟ้องคัดค้านคำสั่งนี้ยังคงดำเนินอยู่
ผู้พิพากษา เซทเทิล มองว่า คำสั่งบริหารของ ทรัมป์ อาจเข้าข่ายละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 5 (Fifth Amendment) ที่รับรองให้บุคคลได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ชี้ว่า เซทเทิล กำลังแย่งชิงอำนาจโดยมิชอบจากฝ่ายบริหารซึ่งนำโดยประธานาธิบดี ทรัมป์ ในการที่จะกำหนดว่าใครบ้างที่สามารถรับราชการในกองทัพได้
ทหารข้ามเพศที่เข้าประจำการเต็มเวลา 7 นาย และชายข้ามเพศที่ต้องการเข้าเป็นทหาร 1 คน รวมถึงกลุ่มเพื่อสิทธิพลเมืองได้รวมตัวกันยื่นคัดค้านคำสั่งของ ทรัมป์ ต่อศาลแขวงซีแอตเติล และศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งให้ฝ่ายโจทก์ต้องยื่นเอกสารตอบสนองคำร้องของรัฐบาล ทรัมป์ ภายในวันที่ 1 พ.ค. นี้
ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งบริหารเมื่อเดือน ม.ค. ที่กล่าวหาว่าอัตลักษณ์ทางเพศของคนข้ามเพศนั้นเป็น “เรื่องโกหก” และชี้ว่าพวกเขาไม่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่จะเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ ได้
“การที่ผู้ชายคนหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้หญิง และบอกให้ผู้อื่นต้องเคารพสิ่งที่เป็นเท็จนี้ไม่สอดคล้องกับหลักความถ่อมตน (humility) และความไม่เห็นแก่ตัว (selflessness) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทหาร” คำสั่งของ ทรัมป์ ระบุ
คำสั่งนี้ยังเป็นการยกเลิกนโยบายของอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่เปิดโอกาสให้คนข้ามเพศสามารถเข้าเป็นทหารในกองทัพอเมริกันได้อย่างเปิดเผย
ในเวลาต่อมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เผยแพร่แนวทางปฏิบัติสำหรับคำสั่งบริหารของทรัมป์ โดยให้ทหารปัจจุบันหรือผู้สมัครที่มีประวัติถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะสับสนทางเพศ (gender dysphoria) หรือผู้ที่เคยผ่านกระบวนการแปลงเพศ ถือเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติในการเป็นทหาร
อย่างไรก็ดี แนวทางปฏิบัตินี้ยังกำหนดข้อยกเว้นให้เป็นกรณีๆ ไปในกรณีที่รัฐบาล “มีเหตุอันสมควรที่จะต้องคงบุคลากรคนดังกล่าวเอาไว้ เพื่อสนับสนุนศักยภาพในการทำสงคราม”
ที่มา: รอยเตอร์