xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกามีหนาว! จีนมี 5 ไพ่ใบเด็ด สู้สงครามการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทั่วโลกจับตาสงครามการค้าที่สองมหาอำนาจเศรษฐกิจงัดอาวุธถล่มกันชนิดไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่เตรียมคลังกระสุนพร้อมจัดหนักไว้ตั้งแต่จบสงครามการค้ารอบที่แล้วในยุคทรัมป์ 1.0

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งรีดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเบ็ดเสร็จ 245% ด้านปักกิ่งตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้าอเมริกัน 125% ทั้งผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และตลาดการเงินต่างเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไร้ความแน่นอนมากขึ้น ขณะที่มีความกังวลกันมากขึ้นเช่นกันเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย

รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำว่า พร้อมเจรจา แต่ถ้าจำเป็นก็จะสู้จนถึงที่สุด

และต่อไปนี้คืออาวุธที่ปักกิ่งเตรียมไว้เพื่อรับมือภาษีศุลกากรของทรัมป์

แกร่งเกินร้อย

ด้วยสถานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก จีนจึงสามารถดูดซับผลกระทบจากภาษีศุลกากรได้ดีกว่าประเทศที่เล็กกว่า ขณะที่จำนวนประชากรกว่า 1,000 ล้านคนหมายถึงตลาดในประเทศขนาดมโหฬารที่พร้อมรองรับความกดดันบางส่วนจากผู้ส่งออกที่เจอพิษภาษีศุลกากร


นอกจากนั้น มาตรการจูงใจต่างๆ ตั้งแต่การอุดหนุนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจนถึง “รถไฟสายสีเงิน” สำหรับผู้สูงวัย อาจช่วยละลายพฤติกรรมคนจีนที่ตอนนี้ยังไม่ค่อยใช้จ่ายมากนัก พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังใช้ภาษีศุลกากรของทรัมป์ปลุกเร้ากระแสชาตินิยมเพื่อปลดล็อกศักยภาพผู้บริโภคในประเทศ และเพื่อสนับสนุนการออกมาตรการตอบโต้

ขณะเดียวกัน ระบอบอำนาจนิยมยังทำให้จีนสามารถอดทนต่อสถานการณ์ยากลำบากได้มากกว่า โดยที่ต้องกังวลกับความคิดเห็นของประชาชนในระยะสั้นน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

ลงทุนกับอนาคต

แม้ถูกเรียกขานมานานว่าเป็นโรงงานของโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งจีนทุ่มเงินหลายพันล้านปั้นตัวเองเป็นประเทศที่ก้าวล้ำมากขึ้น และผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีกับอเมริกา


ภายใต้ยุคสี จิ้นผิง จีนทุ่มเงินมหาศาลส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศ ตั้งแต่พลังงานหมุนเวียนจนถึงชิปและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

ตัวอย่างเช่น ดีปซีค แชตบอตที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับแชตจีพีทีของอเมริกา

บีวายดีที่โค่นเทสลาขึ้นเป็นผู้ผลิตอีวีใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่แอปเปิลเสียส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในจีนให้ผู้เล่นเจ้าถิ่นอย่างหัวเว่ยและวีโว่

ไม่นานมานี้ ปักกิ่งประกาศอัดฉีดกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สนับสนุนนวัตกรรมเอไอในทศวรรษหน้า

ขณะเดียวกัน บริษัทอเมริกันที่พยายามย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนกลับเผชิญปัญหาในการค้นหาโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานที่มีทักษะระดับเดียวกับจีน

ความเชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานที่ไม่มีใครเทียบบวกกับการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้จีนมีความได้เปรียบชนิดที่ทิ้งห่างคู่แข่งเป็นสิบปี รวมทั้งเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามในสงครามการค้ายกนี้

บทเรียนจากทรัมป์ 1.0

นับจากที่ทรัมป์ขึ้นภาษีแผงโซลาเซลล์จีนเมื่อปี 2018 ปักกิ่งได้เร่งแผนการเพื่ออนาคตที่ก้าวข้ามระเบียบโลกที่มีอเมริกาครอบงำ

จีนอัดฉีดเงินหลายพันล้านในโครงการด้านการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่มีชื่อว่า แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับ “กลุ่มประเทศโลกใต้” Global South)

การขยายการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และแอฟริกา ยังเกิดขึ้นขณะที่จีนพยายามถอยห่างจากอเมริกา


ตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดสำหรับจีนตอนนี้ไม่ใช่อเมริกาอีกต่อไป แต่เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปี 2023 จีนเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุดของ 60 ประเทศ หรือมากกว่าอเมริกาเกือบสองเท่า

จีนที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังเกินดุลการค้าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้หมายความว่า วอชิงตันคงไม่สามารถบีบให้ปักกิ่งหลังชนฝาได้ง่ายๆ

ดังจะเห็นได้จากการที่จีนเตือนประเทศต่างๆ ว่า อย่าริอ่านทำข้อตกลงใดๆ ที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของตน ภายหลังมีรายงานว่า ทำเนียบขาวจะใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีเพื่อโดดเดี่ยวจีน

รู้จุดอ่อนทรัมป์

ทรัมป์ยืนกรานผลักดันภาษีศุลกากรแม้ตลาดหุ้นควงสว่านเมื่อต้นเดือน แต่หลังจากพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ที่ถือเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ปลอดภัย ถูกเทขายอย่างหนัก ประมุขทำเนียบขาวจำเป็นต้องกลับลำและเลื่อนแผนรีดภาษีส่วนใหญ่ออกไป 90 วัน


นับจากนั้นทรัมป์ส่งสัญญาณต้องการลดการเผชิญหน้ากับจีนโดยบอกว่า ภาษีที่เรียกเก็บจากจีนจะลดลงอย่างมากแต่ไม่ใช่ยกเลิก

ผู้เชี่ยวชาญจึงพากันตีความว่า ปักกิ่งรู้แล้วว่า ตลาดพันธบัตรเขย่าทรัมป์ได้

จีนถือครองพันธบัตรคลังสหรัฐฯ 700,000 ล้านดอลลาร์ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น

สื่อจีนออกมาแหย่บ่อยๆ เรื่องการเทขายหรือระงับการซื้อพันธบัตรคลังสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ทรัมป์ ทว่า ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ปักกิ่งขาดทุนมหาศาลและเงินหยวนไร้เสถียรภาพ

หมัดเด็ด “แรร์เอิร์ธ”

กระนั้น จีนยังมีหมัดเด็ดคือ สถานะเกือบเป็นผู้ผูกขาดการสกัดและแปรรูปแร่หายาก (แรร์เอิร์ธ) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง

ก่อนหน้านี้ปักกิ่งตอบโต้มาตรการภาษีล่าสุดของทรัมป์ด้วยการจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธ 7 ชนิด ซึ่งรวมถึงบางชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตชิปเอไอ

จากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) จีนผลิตแรร์เอิร์ธ 61% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก และแปรรูปแร่ธาตุหายากเหล่านี้ 92%

ปีที่แล้ว จีนห้ามส่งออกพลวง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์มากมาย ส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นกว่า 2 เท่า และขณะนี้มีความกังวลกันว่า ปักกิ่งอาจใช้วิธีนี้อีกครั้งในตลาดแรร์เอิร์ธซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมตั้งแต่อีวีจนถึงกลาโหมหยุดชะงักอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมกลาโหมของอเมริกา

(ที่มา: บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น