บริษัท โบอิ้ง (Boeing) ค่ายอากาศยานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ออกมายอมรับวานนี้ (23 เม.ย.) ว่าถูกสายการบินลูกค้าในจีนหลายเจ้าปฏิเสธรับมอบเครื่องบินใหม่ หลังจีนกำหนดอัตราภาษีตอบโต้สหรัฐฯ สูงลิ่ว ซึ่งทำให้บริษัทจำเป็นต้องขนเครื่องบินกลับอเมริกาเป็นลำที่ 3 ในวันนี้ (24 เม.ย.)
“เนื่องจากอัตราภาษีศุลกากร ลูกค้าหลายรายในจีนจึงแจ้งมายังทางเราว่าจะไม่รับมอบ” เคลลี ออร์ตเบิร์ก ซีอีโอของโบอิ้ง ระบุในการแถลงผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกวานนี้ (23)
อย่างไรก็ดี ออร์ตเบิร์ก ระบุว่าจีนเป็นประเทศเดียวที่โบอิ้งเผชิญปัญหานี้ และบริษัทจะส่งเครื่องบินใหม่ไปให้ลูกค้ารายอื่นๆ ที่ต้องการรับมอบเร็วขึ้น เนื่องจากทั่วโลกก็ยังคงขาดแคลนเครื่องบินพาณิชย์ใหม่ๆ อยู่
ก่อนที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ จะประกาศมาตรการรีดภาษีคู่ค้าทั่วโลกเมื่อต้นเดือน เม.ย. เครื่องบินพาณิชย์จัดเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายแบบปลอดภาษีทั่วโลก ตามข้อตกลงการบินพลเรือนปี 1979
สายการบินจีนที่รับมอบเครื่องบินโบอิ้งในตอนนี้จะต้องแบกภาระจ่ายภาษีตอบโต้ที่ปักกิ่งเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX มีราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 55 ล้านดอลลาร์ต่อลำ ตามข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านการบิน IBA
เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 จำนวน 2 ลำที่ถูกส่งมายังจีนเพื่อส่งมอบให้กับสายการบิน Xiamen Airlines ต้องเดินทางกลับไปยังศูนย์ผลิตของโบอิ้งที่ซีแอตเติลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ล่าสุดวันนี้ (24) เครื่องบิน 737 MAX 8 อีกหนึ่งลำก็เดินทางออกจากศูนย์ประกอบเครื่องบินโจวซาน (Zhoushan) ใกล้นครเซี่ยงไฮ้เพื่อมุ่งหน้าไปยังเกาะกวม ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามเที่ยวบิน AirNav และ Flightradar24
เดิมทีเครื่องบินลำนี้จะถูกส่งมอบให้กับสายการบิน Air China ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของจีน และทาง Air China ยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
เครื่องบินลำนี้ถูกส่งจากซีแอตเติลมาถึงจีนเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงระหว่างที่ ทรัมป์ ประกาศรีดภาษีสินค้าจีน และปักกิ่งเริ่มบังคับใช้อัตราภาษีตอบโต้สินค้าจากอเมริกา
เกาะกวมเป็นหนึ่งในจุดแวะพักสำหรับเครื่องบินที่จะต้องบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทาง 8,000 กิโลเมตรระหว่างซีแอตเติลกับศูนย์ประกอบเครื่องบินโจวซาน ซึ่งเป็นจุดที่เครื่องบินโบอิ้งจะผ่านกระบวนการผลิตขั้นสุดท้ายก่อนส่งมอบให้สายการบินของจีน
รัฐบาลปักกิ่งยังไม่เคยออกมาให้ความเห็นว่า เหตุใดเครื่องบินเหล่านี้จึงถูกส่งกลับสหรัฐฯ
ไบรอัน เวสต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ของโบอิ้ง ยอมรับว่า คำสั่งซื้อจากสายการบินจีนคิดเป็น 10% ของออเดอร์เครื่องบินโดยสารทั้งหมดที่รอการผลิตอยู่
ก่อนหน้านี้ โบอิ้งมีแผนที่จะส่งมอบเครื่องบินใหม่ให้จีนประมาณ 50 ลำภายในปีนี้ และบริษัทกำลังประเมินทางเลือกอื่นๆ ที่จะส่งขายเครื่องบินที่ผลิตเสร็จแล้วหรืออยู่ระหว่างการผลิตให้กับลูกค้ารายอื่นแทน
“สำหรับอีก 9 ลำที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิต เราอยู่ระหว่างพูดคุยกับสายการบินลูกค้าว่าพวกเขายังต้องการที่จะรับมอบอยู่หรือไม่ และหากจำเป็นเราก็สามารถส่งมอบให้กับลูกค้ารายอื่นแทน” ออร์ตเบิร์ก กล่าว พร้อมย้ำว่า “เราคงไม่ผลิตเครื่องบินให้กับลูกค้าที่ไม่พร้อมจะรับมอบต่อไป”
ที่มา: รอยเตอร์