xs
xsm
sm
md
lg

IMF ลดแนวโน้มขยายตัวของอเมริกา-จีน พร้อมเตือนภาษีทรัมป์เล่นงานทั้งเศรษฐกิจ-การเงินโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ
ไอเอ็มเอฟปรับลดอัตราเติบโตประจำปีนี้ของทั้งเศรษฐกิจโลก อเมริกา และจีน เตือนภาษีศุลกากรของทรัมป์และความไม่แน่นอนจากมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวรุนแรง รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินทั่วโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (22 เม.ย.) Fโดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำลงถึง 0.5% จากที่ให้ได้ในระดับ 3.3% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำหรับปีหน้า ก็ปรับเหลือ 3% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 3.3%

การเติบโตของอเมริกาและจีน สองประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก ถูกคาดหมายว่า จะชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยมองว่าอเมริกาจะมีอัตราขยายตัวเพียง 1.8% ในปีนี้ ลดฮวบจากตัวเลขคาดการณ์เดิมซึ่งให้ไว้ที่ 2.7% และน้อยกว่าของปีที่แล้วถึง 1%

นอกจากนั้น แม้ไม่คิดว่าอเมริกาจะถึงกับเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มความเป็นได้สูงขึ้นเป็น 40% จากเดิมซึ่งให้ไว้ 25% ในเดือนมกราคม

ส่วนเศรษฐกิจจีนได้รับการคาดหมายว่า จะเติบโตในอัตรา 4% ทั้งในปีนี้และปีหน้า หรือลดลงเกือบ 0.50% จากการคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคม

ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า ระบบเศรษฐกิจโลกที่ดำเนินมาในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังเข้าสู่ยุคใหม่

รายงานการคาดการณ์ฉบับนี้ตอกย้ำผลกระทบอย่างกว้างขวางระดับทั่วโลก จากการทำสงครามภาษีศุลกากร ตลอดจนจากความไม่แน่นอนที่เป็นผลตามมา โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า ทุกประเทศทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ภาษีศุลกากรโดยเฉลี่ยของอเมริกาขณะนี้พุ่งเป็นประมาณ 25% สูงสุดในรอบศตวรรษ

สิ่งที่ระบุไว้ในรายงานนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของพวกนักเศรษฐศาสตร์เอกชน ซึ่งบางคนแสดงความกังวลว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่เศรษฐกิจจะถดถอย อาทิ นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกนที่ระบุว่า โอกาสที่อเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอยขณะนี้เพิ่มเป็น 60% ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คาดว่า การเติบโตของอเมริกาปีนี้จะลดลงอยู่ที่ 1.7%

กูแรงชาส์เสริมว่า ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ทำให้ไอเอ็มเอฟต้องดำเนินมาตรการที่ไม่ปกติในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การเติบโตในอนาคตในรูปแบบต่างๆ

รายงานฉบับนี้จัดทำเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. หลังจากที่ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ขนาดใหญ่จากเกือบ 60 ประเทศ เพิ่มเติมจากภาษีพื้นฐาน 10% จากเกือบทุกประเทศ ก่อนที่จะสั่งระงับภาษีตอบโต้เอาไว้ก่อนเป็นเวลา 90 วันเมื่อวันที่ 9 เม.ย.

อย่างไรก็ดี กูแรงชาส์มองว่า การระงับการเก็บภาษีดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟมากนัก เนื่องจากนับจากนั้นอเมริกาและจีนต่างยังคงตอบโต้กันด้วยภาษีในอัตรากว่า 100%

กูแรงชาส์เตือนว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวต่อไปของคณะบริหารของทรัมป์มีแนวโน้มกดดันเศรษฐกิจอเมริกาและเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากสินค้าที่ค้าขายกันอยู่ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ดังนั้น ภาษีศุลกากรจึงอาจส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตโรคโควิด ขณะที่บริษัทต่างๆ ที่เผชิญความไม่แน่นอนในการเข้าถึงตลาดมีแนวโน้มหยุดเคลื่อนไหวเพื่อรอดูสถานการณ์ในระยะสั้น ลดการลงทุน และตัดการใช้จ่าย

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟเสริมว่า ขณะที่มีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจอเมริกาจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันด้านอุปทาน จีนกลับถูกคาดการณ์ว่าจะเผชิญภาวะอุปสงค์ลดลงเนื่องจากอเมริกาสั่งซื้อสินค้าจากจีนลดลง

รายงานคาดว่า อัตราเงินเฟ้อของอเมริกามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อของจีนจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

นอกจากนั้นแม้ไอเอ็มเอฟคาดว่า ภาษีศุลกากรของอเมริกาจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีน แต่กองทุนแห่งนี้ยังคงประเมินว่า การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลจีนจะช่วยชดเชยส่วนที่ขาดหายไปดังกล่าวได้อย่างมาก

สำหรับเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (อียู) ได้รับการคาดหมายว่า จะขยายตัว 0.8% และ 1.2% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ลดลงเพียง 0.2% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้สำหรับทั้งสองปี

ส่วนอัตราเติบโตของญี่ปุ่นมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% ทั้งปีนี้และปีหน้า ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมซึ่งอยู่ที่ 0.5% และ 0.2% ตามลำดับ

เกี่ยวกับ ประเทศไทย รายงานคาดการณ์ล่าสุดของ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้เหลือเพียง 1.8% ต่ำลงอย่างสำคัญจากที่ประเมินเอาไว้ 2.9% ในช่วงมกราคม โดยที่ในกลุ่มอาเซียนนั้นไทยถือเป็นประเทศเดียวที่ IMF หั่นคาดการณ์จนเหลือไม่ถึง 2% และยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็ยังคาดว่าจะเติบโตต่ำลงเหลือเพียง 1.6% ด้วย

ในรายงานอีกฉบับ ไอเอ็มเอฟยังเตือนว่า เสถียรภาพทางการเงินทั่วโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากอันเนื่องมาจากสภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวมากขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

(ที่มา: เอพี/เอเอฟพี/เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น