xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียช็อค!เกิดเหตุรุนแรงที่'ดินแดนสรวงสวรรค์' คนร้ายรัวยิงใส่นักท่องเที่ยวตายอย่างต่ำ20ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกรงว่าอาจมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย หลังกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นพวกนักรบ ลงมือกราดยิงเข้าใส่นักท่องเที่ยวในดินแดนจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียเมื่อวันอังคาร(22เม.ย.) ถือเป็นเหตุโจมตีเล่นงานพลเรือนครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคแถบเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ในรอบกลายปี

เหตุโจมตีเกิดขึ้นในเมืองพาฮาลแกม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนสรวงสวรรค์และจุดหมายปลายทางยอดนิยมของแคชเมียร์ โดยภูมิภาคแถบภูเขานี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะระหว่างฤดูร้อน ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่โหมกระพือขึ้นมาอีกรอบ จากฝีมือของนักรบอิสลามิสต์ หลังเบาบางลงไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระบุยอดผู้เสียชีวิตแตกต่างกันออกไป โดยคนแรกบอกว่า 20 คน รายที่บอกให้ตัวเลขที่ 24 คนและคนที่ 3 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 26 ราย ทั้งนี้ทั้ง 3 คน ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์โดยไม่ประสงค์เอ่ยนาม เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

"เหตุกราดยิงเกิดขึ้นต่อหน้าเรา" พยานรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อินเดียทูเดย์ "ตอนแรกเราคิดว่ามีใครบางคนจุดพลุ แต่จากนั้นเราได้ยินเสียงคนอื่นๆกรีดร้อง เรารีบออกไปจากที่นั่นทันที เอาชีวิตรอดและวิ่งหนี" ส่วนผู้เห็นเหตุการณ์อีกคนเสริมว่า "เราวิ่งเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยไม่หยุดเลย ฉันตัวสั่นไปหมด"

หนังสือพิมพ์อินเดียเอ็กซ์เพรสรายงานอ้างเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงรายหนึ่ง ระบุว่าโจมตีเกิดขึ้นบนถนนลูกรัง และมีนักรบ 2 หรือ 3 คนเป็นคนลงมือ "ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ดังนั้นผมจึงไม่อยากลงในรายละเอียด" โอมาร์ อับดุลเลาะห์ มุขมนตรีของดินแดนจัมมูและแคชเมียร์ โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ "จำเป็นที่ต้องพูดว่า การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการโจมตีเล่นงานพลเรือนครั้งใหญ่กว่าหนไหนๆ ที่เราพบเห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา"

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้นเป็นนักท่องเที่ยวจากชาติใดบ้าง

กลุ่มนักรบซึ่งไม่เป็นที่รู้จักนัก "Kashmir Resistance" ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีครั้งนี้บนสื่อสังคมออนไลน์ พวกเขาแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่มีคนจากภายนอกมากกว่า 85,000 คน เข้ามาตั้งรกรากในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร "ด้วยเหตุนี้ ความรุนแรงจะเล็งเป้าเล่นงานโดยตรงกับพวกพยายามตั้งรกรากไม่ชอบด้วยกฎหมาย" อย่างไรก็ตามรอยเตอร์ไม่ยืนยันข้อความนี้ว่าเป็นของจริงหรือไม่

รัฐบาลท้องถิ่นของดินแดนจัมมูและแคชเมียร์ บอกกับรัฐสภาท้องถิ่นเมื่อช่วงกลางเดือนว่า มีผู้คนที่ไม่ใช่ชาวบ้านท้องถิ่นเกือบ 84,000 ราย ส่วนใหญ่มาจากภายในดินแดน ได้รับสิทธิภูมิลำเนาในดินแดนแห่งนี้ ในช่วง 2 ปีหลังสุด

"พวกที่อยู่เบื้องหลังการกระทำอันชั่วช้านี้จะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรม พวกเขาจะไม่อาจหนีรอด" นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียโพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ "วาระชั่วร้ายของพวกเขาจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ ความมุ่งมั่นของเราในการต่อสู้กับก่อการร้ายยังไม่สั่นคลอน และจะยิ่งแข็งแกร่งกว่าเดิม"

ในวอชิงตัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้รับฟังรายงานสรุปในสิ่งที่โฆษกทำเนียบขาวให้คำจำกัดความว่าเป็น "การโจมตีก่อการร้ายอันป่าเถื่อน"

ต่อมากระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ระบุว่า ทรัมป์ ได้ต่อสายโทรศัพท์ถึง โมดี และแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนอินเดียอย่างเต็มที่ ในการนำตัวผู้ก่อเหตุโจมตีอันชั่วช้านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ความรุนแรงจากฝีมือพวกนักรบรุมเร้าภูมิภาคแถบเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ ซึ่งทั้งอินเดียและปากีสถานกล่าวอ้าง แต่แยกการปกครองคนละส่วน มาตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบต่อต้านอินเดียเริ่มขึ้นในปี 1989 จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายหมื่นคน แม้ความรุนแรงเบาบางลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อินเดีย เพิกถอนสถานะพิเศษของแคชเมียร์ในปี 2019 แบ่งรัฐแห่งนี้ออกเป็น ดินแดนสหภาพ 2 แห่งใหม่อย่างเป็นทางการ ได้แก่ "จัมมูและแคชเมียร์" และ "ลาดักห์" ความเคลื่อนไหวที่เปิดทางให้พวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมอบสิทธิภูมิลำเนาแก่คนภายนอก อนุญาตให้คนเหล่านั้นเข้ามาทำงานและซื้อขายที่ดินในดินแดนทั้ง 2

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงกับปากีสถาน ที่กล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนแห่งนี้เช่นกัน ข้อพิพาทดังกล่าวโหมกระพือความเกลียดชังและความขัดแย้งทางทหารระหว่าง 2 ชาติเพื่อนบ้านติดอาวุธนิวเคลียร์มาแล้วหลายครั้ง

เหตุโจมตีในวันอังคาร(22เม.ย.) เกิดขึ้นหนึ่งวัน หลังจากรองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ของสหรัฐฯ เริ่มต้นเยือนอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นแบบส่วนตัว เป็นเวลา 4 วัน

(ที่มา:รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น