นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมจนถึงเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ดอลลาร์อ่อนค่าลงมากว่า 9% เมื่อเทียบกับตะกร้าเงิน ถือเป็นดิ่งลงหนักอย่างที่ไม่พบเห็นบ่อยนัก แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี การร่วงลงที่โหมกระพือความวิตกกังวลว่าพวกนักลงทุนอาจกำลังสูญเสียความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามรายงานของสำนักข่าวซีบีเอส
ปกติแล้วสกุลเงินต่างๆมีขึ้นมีลงตลอดเวลา สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางและปัจจัยอื่นๆ อย่างไรก็ตามพวกนักเศรษฐศาสตร์กังวลว่าการดิ่งลงเมื่อเร็วๆของค่าเงินดอลลาร์ที่น่าตกตะลึงอย่างมาก อาจสะท้อนถึงความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆของพวกนักทุน ต่อความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการยกเครื่องการค้าโลก
ดอลลาร์ครองความเป็นเจ้าโลกในด้านการค้าข้ามชายแดน และอยู่ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมานานหลายทศวรรษ มันช่วยทำให้รักษาต้นทุนการกู้ยืมของสหรัฐฯไม่ให้พุ่งทะยานและเปิดทางให้วอชิงตันแผ่ขยายอำนาจออกไปยังต่างแดน ความได้เปรียบมหาศาลที่เป็นไปได้ว่าอาจสูญหายไป หากว่าความเชื่อมั่นในตัวสหรัฐฯได้รับความเสียหาย
"ความเชื่อมั่นของโลกและการพึ่งพิงดอลลาร์เพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาหรือนานกว่านั้น" แบร์รี ไอเชนกรีน นักเศรษฐศาสตร์คนดังกล่าว "แต่มันอาจมลายหายไปในพริบตา"
การเทขายดอลลาร์มาพร้อมกับความปั่นป่วนทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดพันธบัตรของอเมริกา นักลงทุนเทขายหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบมาตรการรีดภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มีต่อการเติบโตของบริษัทและการลงทุน
"ความปั่นป่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดพันธบัตรต่างร่วงลงในช่วงเวลานี้ มันเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในตลาดเกิดใหม่ แต่พบเห็นได้ยากมากในตลาดพัฒนาแล้ว และแทบไม่เคยเกิดขึ้นในอเมริกา" เล็กซ์ คุปต์สเควิช หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดจาก FxPro กล่าว "นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าพวกนักลงทุน ว่าสงครามการค้ากำลังลดทอนอย่างรุนแรงต่อสิทธิพิเศษอันสูงลิ่ว(exorbitant privilege)ที่สหรัฐฯได้รับอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา"
ปกติแล้ว ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมาตรการรีดภาษีจะทำให้อุปสงค์สินค้าจากต่างชาติหดตัวลง อย่างไรก็ตามในคราวนี้ นอกเหนือจากดอลลาร์จะไม่แข็งค่าขึ้นแล้ว มันยังดิ่งหนัก ซึ่งมันก่อความมึนงงแก่พวกนักเศรษฐศาสตร์และก่อผลกระทบเจ็บปวดแก่พวกผู้บริโภค ทั้งนี้ดอลลาร์อ่อนค่าลง 5% เมื่อเทียบกับยูโรและปอนด์ และ 6% เมื่อเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตามพวกนักลงทุนไม่คิดว่าดอลลาร์จะถูกเขี่ยพ้นจากสถานะสกุลเงินสำรองของโลกเร็วๆนี้ แม้คาดหมายว่ามันจะอ่อนค่าลงอย่างช้าๆเพิ่มเติม ในขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญบางส่วนสันนิษฐานว่าการดิ่งลงของดอลลาร์อาจสืบเนื่องจากมูลค่าที่สูงเกินไปก่อนหน้านี้
ด้วยที่การแลกเปลี่ยนสินค้าส่วนใหญ่ของโลก ซื้อขายกันในรูปแบบของดอลลาร์ อุปสงค์สำหรับสกุลเงินนี้จึงยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าตัวเลขหนี้รัฐบาลกลางสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตตัวในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา และด้วยที่ยังไม่สิ่งอื่นเข้ามาแทนที่ได้ มันจึงเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐ พวกผู้บริโภคและเหล่าธุรกิจของอเมริกา สามารถกู้ยืมได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำผิดธรรมชาติ ซึ่งช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
ความเป็นเจ้าโลกของดอลลาร์ยังเปิดทางให้สหรัฐฯกดดันเล่นงานประเทศอื่นๆอย่าง เวเนซุเอลา, อิหร่านและรัสเซีย ด้วยการกีดกันพวกเขาออกจากสกุลเงินหนึ่งๆที่พวกเขาจำเป็นต้องถือครอง เพื่อทำการซื้อขายกับประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตามเวลานี้ สิทธิพิเศษอันสูงลิ่วเกินไปของสหรัฐฯ ตามที่พวกนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายเรียก กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง "สถานะสินทรัพย์ปลอดภัยของดอลลาร์กำลังถูกกัดเซาะ" สถาบันการเงินดอยซ์แบงก์เขียนในบันทึกที่ส่งถึงลูกค้าเมื่อช่วงกลางเดือน เตือนเกี่ยวกับ "วิกฤตความเชื่อมั่น" พร้อมแนะนำให้ระมัดระวังเพิ่มเติมต่อรายงานข่าวหนึ่งของทาง Capital Economics ที่ระบุว่า "คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะพูดว่าสถานะสกุลเงินสำรองของดลอลาร์และบทบาทความเป็นเจ้าโลกอย่างกว้างขวางของดอลลาร์ อย่างน้อยๆก็เริ่มจะมีข้อสงสัยบ้าง"
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงคือการสูญสิ้นความไว้เนื้อเชื่อใจในดอลลาร์ ในนั้นรวมถึง สตีฟ ริคชุยโต นักเศรษฐศาสตร์จากมิซูโฮ ไฟแนเชียล ที่บอกว่าการอ่อนค่าของดอลลาร์สะท้อนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อดีดตัวสืบเนื่องจากมาตรการรีดภาษี และแม้กระทั่งพวกนักลงทุนไม่รู้สึกสบายใจที่จะถือครองดอลลาร์ แต่พวกเขาก็ไม่มีตัวเลือกมากนัก ไม่มีสกุลเงินอื่นหรือสินทรัพย์อื่น อย่างเช่นหยวน บิตคอยน์หรือทองคำ มากมายเพียงพอที่จะสามารถรองรับอุปสงค์ทั้งหมด
มีคำถามเกี่ยวกับตรรกะของทรัมป์ในการกล่าวอ้างความชอบธรรมในนโยบายรีดภาษี หลัง ทรัมป์ อ้างว่าการปรับเพิ่มเพดานภาษีของสหรัฐฯเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดตัวเลขคาดดุลการค้ากับชาติอื่นๆ อย่างไรก็ตามพวกนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการขาดดุลเหล่านั้น ซึ่งเป็นมาตรวัดด้านการค้าเฉพาะสินค้า ไม่รวมถึงการบริการ เป็นตัววัดแย่ๆว่าประเทศต่างเหล่านั้นกำลังฉีกเศรษฐกิจของอเมริกาจริงหรือไม่
(ที่มา:ซีบีเอสนิวส์)