สหรัฐฯมีความตั้งใจได้สิทธิ์การควบคุมเหนือดินแดนที่อยู่ล้อมรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดของยุโรป ส่วนหนึ่งในข้อตกลงสันติภาพที่พวกเขาเป็นคนกลางระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล พร้อมระบุว่าข้อเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งในทางเลือกต่างๆนานาที่ทางวอชิงตันคาดหมายว่าเคียฟจะให้คำตอบกลับมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานในวันอาทิตย์(20เม.ย.) อ้างแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว(17เม.ย.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พบปะกับพวกเจ้าหน้าที่ยูเครนและยุโรปในกรุงปารีส และหนึ่งในความคิดของพวกเขาที่มีเป้าหมายอำนวยความสะดวกข้อตกลงสันติภาพระหว่างเคียฟกับมอสโก เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้พื้นที่ที่อยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซีย เป็นดินแดนที่เป็นกลางที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ
ผู้คนในดินแดนอันเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ที่เป็นอดีตแคว้นของยูเครน ได้โหวตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2022 แต่ยูเครนไม่ยอมรับประชามติดังกล่าวและเรียกมันว่า "น่าอดสู" เมื่อเดือนมีนาคม ทรัมป์ อ้างว่าประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯรับหน้าที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม เซเลนสกี ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าเขาและทรัมป์ พูดคุยหารือกันเฉพาะกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะเข้ามาลงทุนในโรงไฟฟ้าดังกล่าว
ขณะเดียวกันวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานเพิ่มเติมว่า วอชิงตันบ่งชี้ว่ากำลังเตรียมให้การรับรองอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือแคว้นไครเมีย รวมถึงไม่คัดค้านการควบคุมของรัสเซียเหนือแคว้นเก่าของยูเครน 4 แคว้น ในนั้นรวมถึงแคว้นซาโปริซเซีย และปฏิเสธยูเครน จากการเสนอตัวเข้าเป็นรัฐสมาชิกของนาโต
กระนั้นก็ตามในรายการข้อเสนอต่างๆเหล่านั้น ไม่รวมถึงการจำกัดความเข้มแข็งของกองทัพยูเครนหรือห้ามสมาชิกยุโรปของนาโตประจำการทหารในยูเครน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงาน พร้อมระบุต่อว่าถ้าสหรัฐฯ พันธมิตรยุโรปและยูเครน สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ในสัปดาห์นี้ แพ็คเกจดังกล่าวจะถูกนำเสนอแก่รัสเซียเป็นลำดับถัดไป
มอสโก ยืนกรานหนักแน่นปฏิเสธข้อเสนอใดๆในการปรากฏตัวของกำลังพลนาโตในยูเครน และอ้างว่าข้อตกลงอิสตันบูล ข้อตกลงพักรบที่เจรจาต่อรองกันในปี 2022 ที่รวมไปถึงการกำหนดข้อจำกัดต่างๆนานากับกองทัพยูเครน ควรถูกใช้เป็นรากฐานของข้อตกลงสันติภาพใดๆในอนาคต ทั้งนี้ในตอนนั้น แผนนี้ถูกปฏิเสธโดยเคียฟ ตามหลังการเข้ามาแทรกแซงของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ณ เวลานั้น
รัสเซียกล่าวหาอียูและสหราชอาณาจักรพยายามบ่อนทำลายความพยายามเป็นคนกลางของทรัมป์ เพื่อลากยาวความขัดแย้งในยูเครน ประธานาธิบดีสหรัฐฯเตือนว่ารัฐบาลของเขาจะเลิกยุ่งเกี่ยว หากว่าความพยายามทางการทูตเจอปัญหาท้าทายมากมายเกินไป
(ที่มา:วอลล์สตรีท เจอร์นัล/อาร์ทีนิวส์)