โบอิ้ง (Boeing) นำเครื่องบินโดยสารที่เตรียมส่งมอบให้กับสายการบินของจีนเดินทางกลับสหรัฐฯ เป็นลำที่ 2 ในวันนี้ (21 เม.ย.) ในความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นว่าค่ายอากาศยานยักษ์ใหญ่ของอเมริกากำลังตกเป็นเหยื่อในสงครามภาษีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ริเริ่มขึ้น
เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ลำหนึ่งทะยานขึ้นจากศูนย์ประกอบเครื่องบินในเมืองโจวซาน (Zhoushan) ใกล้กับนครเซี่ยงไฮ้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา และกำลังมุ่งหน้าไปยังเกาะกวมซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐฯ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามเที่ยวบิน AirNav Radar
เกาะกวมถือเป็นหนึ่งในจุดแวะพักสำหรับการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นระยะทาง 8,000 กิโลเมตรระหว่างศูนย์การผลิตของโบอิ้งที่นครซีแอตเติลของสหรัฐฯ กับศูนย์ประกอบในเมืองโจวซานของจีน ซึ่งเครื่องบินจะผ่านกระบวนการผลิตในขั้นสุดท้ายก่อนส่งมอบให้กับสายการบินของแดนมังกร
ก่อนหน้านี้ เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ซึ่งผ่านขั้นตอนการเพนท์สีสำหรับสายการบิน Xiamen Airlines เรียบร้อยแล้วก็ได้ถูกส่งกลับจากจีน และไปลงจอดที่ศูนย์ผลิตของโบอิ้งที่นครซีแอตเติลเมื่อวันอาทิตย์ (20)
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการนำเครื่องบินทั้ง 2 ลำกลับสหรัฐฯ เกิดจากการตัดสินใจของฝ่ายใด
เมื่อต้นเดือนนี้ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรขั้นต่ำสำหรับสินค้าจากแดนมังกรเป็น 145% ซึ่งปักกิ่งได้ตอบโต้ด้วยการสั่งรีดภาษีสินค้าอเมริกัน 125%
สถานการณ์เช่นนี้ย่อมจะทำให้สายการบินจีนที่สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งพลอยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากเครื่องบิน 737 MAX รุ่นใหม่นั้นมีราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,820 ล้านบาท) ตามข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาด้านการบิน IBA
การส่งกลับเครื่องบิน 737 MAX ซึ่งถือเป็นรุ่นขายดีที่สุดของโบอิ้งนับเป็นสัญญาณร้ายล่าสุดสำหรับอุตสาหกรรมการบินซึ่งเคยได้รับสถานะปลอดภาษีมานานหลายทศวรรษ
สงครามภาษีและการชะลอรับมอบเครื่องบินเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โบอิ้งกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากมาตรการระงับนำเข้า 737 MAX นานเกือบ 5 ปี และสงครามการค้าที่ดุเดือดในรอบที่แล้ว
ความสับสนเกี่ยวกับอัตราภาษีที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมายังสร้างความสับสนอลหม่านต่อกระบวนการส่งมอบเครื่องบิน โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า มีผู้บริหารสายการบินบางเจ้าเลือกที่จะชะลอการรับมอบออกไปก่อน แทนที่จะยอมเสียภาษีแพงลิ่วในช่วงนี้
ที่มา: รอยเตอร์